Google
 

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

การเมืองเรื่องยกทรง

จาก คอร์รัมส์ ประชาธิปไตยที่รัก ของ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ วันที่ 2 กรกฎาคม 2552

คมชัดลึก : ข่าวคราวการเลิกจ้างคนงานถึงครึ่งโรงงานของบริษัทไทรอัมพ์ที่บางพลีน่าจะทำให้คนจำนวนหนึ่งเริ่มหันมาสนใจเรื่องผลกระทบของเศรษฐกิจที่มีต่อชีวิตของคนงานในบ้านเรามากขึ้น

โดยเฉพาะกับชีวิตของ "สาวโรงงาน" ถึงเกือบสองพันคนที่ต้องออกจากงานโดยที่ไม่รู้อนาคตว่าตัวเองต้องออกจากงาน และไม่รู้อนาคตว่าจะต้องออกจากงานแล้วจะไปไหน

เริ่มต้นจากการได้รับการแจ้งให้ออกจากงานผ่านการแจกซองให้ลุ้นระทึกกันว่าท่านจะเป็นผู้โชคดีหรือผู้โชคร้ายในรอบนี้ (หรือรอบหน้า) ที่ศูนย์การประชุมที่บางนา

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องตั้งคำถามมากกว่าจะปล่อยให้เข้าใจว่าการเลิกจ้างงานนั้นเป็นเรื่องที่ "เป็นธรรมชาติ" ของระบบเศรษฐกิจ

เพราะระบบเศรษฐกิจนั้นก็คือระบบความสัมพันธ์ระหว่างคน ไม่ใช่ระบบความสัมพันธ์ของสิ่งของและสายพานเท่านั้น
ที่สำคัญ การเลิกจ้างนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่บริษัทนั้นได้ "ปรับโครงสร้าง" เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และส่วนหนึ่งในเรื่องของการปรับโครงสร้าง ก็คือการเปิดโรงงานใหม่ที่นครสวรรค์ด้วยการ "ส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล" ซึ่งทำให้ต้นทุนการเปิดโรงงานใหม่ถูกลง และนอกจากนั้นยังมีการจ้างและเทรนงานแก่แรงงานใหม่ซึ่งจะทำให้แรงงานที่จ้างใหม่ราคาถูกลงกว่าแรงงานที่เลิกจ้าง

ไม่นับว่าในการเลิกจ้างครั้งนี้มีแกนนำสหภาพของโรงงานเองจำนวนมากกว่าครึ่งต้องออกจากงาน
สิ่งที่คนงานทั้งหลายนั้นต้องการไม่ใช่แค่ค่าชดเชย แต่เขาต้องการโอกาสการทำงาน เพราะแม้ว่าค่าชดเชยนั้นจะได้รับตามที่กฎหมายกำหนด แต่สิ่งที่เป็นเรื่องสำคัญก็คือ ชีวิตของพวกเขานั้นจะต้องนับหนึ่งใหม่ และด้วยวัยของพวกเขาและด้วยค่าใช้จ่ายที่มีในชีวิตประจำวัน คำถามก็คือเงินชดเชยนั้นเพียงพอที่จะทำให้เขาได้โอกาสของชีวิตอีกครั้งหรือไม่
ผมไม่ได้คิดว่านายทุนเลวร้าย

แต่ผมคิดว่าระบบทุนนิยมในประเทศคลั่งการพัฒนาแบบของเราเนี่ยมันโหดร้ายมาก เพราะนอกจากทำให้คนงานตกงานตามการคาดคำนวณของบริษัท ทั้งที่พวกเขาทำงานให้บริษัทมานาน แต่มันยังทำให้นายทุนนั้นรู้สึกว่าไม่สามารถช่วยเหลือได้มากกว่านี้ ... ในความหมายของการให้เงินชดเชยตามกฎหมาย และอาจจะมากกว่ากฎหมายอีกเล็กน้อย

เราจะรู้ได้อย่างไรว่ากฎหมายนั้นเป็นธรรมทั้งกับลูกจ้างและนายจ้าง และนั่นคือทางออกที่ดีที่สุดแล้ว

ผมอยากเห็นความเอาจริงเอาจังของรัฐที่มีต่อแรงงานในท่าทีที่ไม่น้อยไปกว่าสภาวะการเอาอกเอาใจที่พวกเขามีต่อนายทุน ผู้ประกอบการ และนักธุรกิจ

ผมอยากเห็นสื่อมวลชนสัมภาษณ์ผู้นำแรงงานต่างๆ ถึงความรู้สึกที่พวกเขามีต่อการเลิกจ้างพี่น้องผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ ในทำนองเดียวกับการยื่นไมค์ไปจ่อปากตัวแทนพ่อค้า นายทุน และนายธนาคารในทุกๆ วัน

ผมอยากเห็นการจัดสัมมนาของสื่อมวลชนที่ว่าด้วยเรื่องทิศทางทางเศรษฐกิจได้มีที่ทางให้แก่แรงงานและปัญหาแรงงานในประเทศสักนิด

ผมอยากเห็นการสอนเศรษฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยพูดถึงปัญหาแรงงานและความสัมพันธ์ระหว่างสินค้า กำไร ค่าจ้าง และการขูดรีดซะบ้าง ไม่ใช่สอนแต่อุปสงค์อุปทาน ตลาด และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติในเศรษฐศาสตร์จุลภาคและมหภาค โดยไม่เห็นว่าคนที่เรียนนั้นออกไปก็ต้องไปเป็นคนงานด้วย ไม่ใช่เป็นแค่ผู้ผลิตและผู้บริโภคเท่านั้น

และที่สำคัญ ผมอยากให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าอกเข้าใจและติดตามข่าวเหล่านี้ เพราะถ้าเราไม่ใส่ใจเรื่องราวเหล่านี้ เราก็อาจจะเป็นรายต่อไปที่จะเจอทั้งปัญหาการเลิกจ้าง และปัญหาที่เรื่องราวของเราไม่มีใครสนใจ-ใส่ใจ

ที่มา http://www.komchadluek.net/detail/20090702/19051/การเมืองเรื่องยกทรง.html