Google
 

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

นักวิชาการชี้ใช้เครื่อง LRAD สลายการชุมนุมไทรอัมพ์ละเมิดสิทธิ แนะฟ้องศาลปกครอง




Sun, 2009-09-06

เมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการจัดเสวนาเรื่อง “แรงงานเรียกร้อง อภิสิทธิ์ทดลองด้วยอาวุธสงคราม LRAD” โดยในงานมีการฉายภาพเหตุการณ์การชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ส.ค. ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล (LRAD: Long Range Acoustic Device) เพื่อสลายการชุมนุม และต่อมาเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ได้ออกหมายจับ นายสุนทร บุญยอด, นางสาวบุญรอด สายวงศ์ และนางสาวจิตรา คชเดช ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก

"แรงงานหญิงไทยหนึ่งคนรับผิดชอบคนอย่างน้อยๆ สี่คน"ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า คนเลือกวิธีที่จะมีส่วนร่วมทางการเมืองหรือพูดถึงปัญหาของตัวเองไม่เหมือนกัน ต่างก็เลือกวิธีที่ใช้ได้สำหรับตนเอง ชนชั้นกลางจำนวนหนึ่งใช้วิธีส่งเอสเอ็มเอสเข้ารายการข่าว บางคนโฟนอิน การเลือกวิธีประท้วงปิดถนนของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ก็เป็นความพยายามสื่อสารถึงปัญหาอีกแบบหนึ่ง เพื่อบอกว่าพวกเขาถูกเลิกจ้างและต้องการความช่วยเหลือจากรัฐ หากไม่มีปัญหาคงไม่มาเพราะทั้งร้อนและลำบาก แต่เจ้าหน้าที่ภาครัฐตั้งแต่ระดับผู้ใช้อำนาจทางการเมืองจนถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจกลับไม่สามารถเห็นทุกข์นั้นได้ ทั้งยังจัดการด้วยวิธีที่ห่วยอีกด้วย

ชลิดาภรณ์ กล่าวถึงสถานการณ์แรงงานหญิงในประเทศไทยว่ายังเหมือนเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว เพราะรัฐมักเข้าใจว่าพลเมืองของรัฐอยู่ในครอบครัวชนชั้นกลางที่ประกอบด้วยพลเมืองผัวเมีย ที่สามีเป็นคนดูแลครอบครัว แต่สถานการณ์ของครอบครัวไทยตั้งแต่ปี 2540 เป็นต้นมา ส่วนใหญ่มีผู้หญิงซึ่งเป็นแรงงานฐานล่าง เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว โดยบางคนนอกจากครอบครัวของตัวเองแล้วยังมีครอบครัวของสามีด้วย

"แรงงานหญิงไทยหนึ่งคนรับผิดชอบคนอย่างน้อยๆ สี่คน" ชลิดาภรณ์กล่าวและว่า เผลอๆ บางคนอาจต้องรับผิดชอบมากกว่านั้น แต่ทั้งรัฐและเอกชนมักมองว่า แรงงานหญิงสู้แรงงานชายไม่ได้ เพราะภาระของแรงงานหญิงที่ต้องดูแลครอบครัว เช่น ตั้งครรภ์ ลูกป่วย ทำให้แรงงานหญิงด้อยคุณภาพ เมื่อมีการเลิกจ้าง แรงงานหญิงเป็นกลุ่มแรกที่โดน ส่งผลให้มีคนเดือดร้อนตามมาจำนวนมาก

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์เสนอว่า นโยบายแรงงานไทย มาตรการความช่วยเหลือและรับมือกับวิกฤตเศรษฐกิจของรัฐควรตั้งอยู่บนฐานว่า คนงานไทยหน้าตาเป็นอย่างไรและอยู่อย่างไร ต้องคิดจากฐานใหม่ว่า ผู้หญิงไม่ได้มีสามีหาเลี้ยง และควรฟังเสียงคนที่ได้รับความเดือดร้อนทั้งหลายด้วย ไม่ใช่พอเขาพยายามสื่อสารว่าเดือดร้อน ก็ไม่ได้ยินแล้วยังปฏิบัติเยี่ยงศัตรู ซึ่งทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่าแล้วสังคมไทยจะอยู่ด้วยกันได้อย่างไร ถ้าไม่สามารถเห็นทุกข์ของคนอื่นได้

เสนอฟ้องศาลปกครอง กรณี ตร.ใช้เครื่อง LRADปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นสิทธิตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญ โดยการชุมนุมโดยสงบนั้นหมายถึงไม่ได้ทำอะไรรุนแรง เช่น ยึดสถานที่ราชการหรือก่อความวุ่นวาย ดังนั้น การชุมนุมของคนงานในวันดังกล่าว จึงไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมาตรา 215 ใช้ตั้งได้กับผู้ใช้สิทธิเกินขอบเขต ดังนั้น ต้องสู้ในเรื่องนี้

ปริญญา กล่าวว่า การใช้เครื่อง LRAD ไม่ว่าจะใช้กับการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หรือต่อให้ไปใช้กับการชุมนุมที่ไม่สงบ มีอาวุธ หรือมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้ว ก็มีปัญหาว่าใช้ได้ขนาดไหน เพราะในระบอบประชาธิปไตย สำหรับประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจ สิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องหลัก ข้อจำกัดเป็นเรื่องยกเว้น ขณะที่สำหรับเจ้าหน้าที่รัฐ หลักคือไม่มีอำนาจ ต้องมีกฎหมายให้สิทธิก่อนจึงมีอำนาจ และต้องใช้เท่าที่จำเป็น และใช้ให้น้อยที่สุด จากเบาไปหาหนัก และต้องแจ้งก่อนว่าจะใช้

เขาเล่าถึงคดีตัวอย่างที่สงขลา กรณีตำรวจสงขลาสลายม็อบต้านท่อแก๊ส ที่หน้าโรงแรมเจบีหาดใหญ่ จ.สงขลา เมื่อปี 2546 ซึ่งต่อมาศาลปกครองตัดสินในปี 2548 ว่าตำรวจกระทำการโดยมิชอบด้วยกฎหมาย และเสนอให้มีการฟ้องศาลปกครอง โดยยินดีจะรับดูในข้อกฎหมายให้ เนื่องจากคนงานถูกใช้เครื่อง LRAD ขณะที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ อีกทั้งการใช้เครื่องดังกล่าวยังมีปัญหาว่าชอบด้วยกฎหมายหรือไม่
ปริญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้เครื่อง LRAD กับผู้ชุมนุม น่าจะเป็นการดำเนินการโดยตำรวจ อย่างไรก็ตาม ตั้งคำถามว่า การที่รัฐบาลหรือนายกฯ ซึ่งเป็นผู้กำกับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ไม่ว่าอะไรกับตำรวจ เท่ากับเห็นชอบด้วยกับการใช้เครื่องแบบนี้กับประชาชนที่กำลังชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธใช่หรือไม่

"ความรุนแรงคือการลดทอนความเป็นมนุษย์"ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงเรื่องของความรุนแรง สังคมมักมองว่า การไม่ใช่อาวุธสลายการชุมนุมนั่นคือการไม่ใช้ความรุนแรง แต่จริงๆ แล้ว การปล่อยให้คนบางกลุ่มมีอำนาจทำร้ายคนอีกกลุ่มผ่านการเลิกจ้าง ก็เป็นความรุนแรงทางเศรษฐกิจการเมืองแบบหนึ่ง

"ความรุนแรงคือการลดทอนความเป็นมนุษย์" ศิโรตม์กล่าวและว่า สิ่งที่เกิดกับคนงานไทรอัมพ์ ไม่ต่างจากสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนงานหญิงก่อนหน้านี้ ที่คนมองว่า การถูกเลิกจ้างและสุขภาพย่ำแย่จากการทำงานเป็นเรื่องธรรมดาและไม่เป็นปัญหา โดยมักมองว่ามีงานทำก็เป็นเรื่องของคนงาน ไม่มีงานทำก็เป็นเรื่องของคนงาน
เขาตั้งคำถามว่า ที่สุดแล้ว การเลิกจ้างคนงานลักษณะนี้ยอมรับได้หรือไม่ นายจ้างบอกว่ามีปัญหาทางเศรษฐกิจ ต้องปรับโครงสร้าง ต้องการให้ออก ชีวิตของคนหลายคนขึ้นกับบอร์ดบริษัท การที่จะต้องตกงานในสภาพอายุที่หางานทำไม่ได้ง่ายๆ คนงานส่วนใหญ่โอกาสได้งานใหม่ทำก็น้อย ดังนั้น เมื่อคนกลุ่มหนึ่งบอกว่าเศรษฐกิจมีปัญหา คนอีกกลุ่มเหมือนตายทั้งเป็น ระบบสวัสดิการก็ยังไม่ดีพอที่จะรองรับคนเหล่านี้ นี่จึงเป็นความรุนแรงแน่นอน

เขากล่าวถึงความเข้าใจเรื่องความรุนแรงในสังคมไทยว่า คนไม่น้อยพูดว่า การใช้เครื่อง LRAD ผิด เพราะคนงานชุมนุมโดยสงบและสันติ หรือการที่ตำรวจ ใช้เครื่องดังกล่าว นายกฯ อาจจะไม่รับรู้ ซึ่งเขามองว่า ถ้ามองความเป็นมนุษย์ของผู้ชุมนุม การใช้เครื่อง LRAD นั้นผิดทุกครั้งที่ใช้ และลำพังตำรวจไม่สามารถอนุมัติเรื่องนี้ได้ ดังนั้นนี่คือสิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ ก่อนหน้านี้ก็มีข่าวลงทุกวันว่ามีการเตรียมเครื่อง LRAD ไว้จัดการกับผู้ชุมนุม แต่รัฐบาลไม่เคยปฏิเสธ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบ

นอกจากนี้ เขามองว่า กรณีของคนงานไทรอัมพ์ที่เดินขบวนไปยื่นหนังสือที่รัฐสภานั้นน่าสนใจ เพราะพวกเขาพยายามใช้กลไกการเมืองแบบรัฐสภาปกป้องตัวเอง ซึ่งเป็นสารการเมืองที่สำคัญว่า เราอยู่ในสังคมที่มีอารยะพอที่จะใช้ระบบรัฐสภาซึ่งเป็นกลไกตามประชาธิปไตยในการแก้ปัญหาได้ ซึ่งเกิดไม่บ่อย แต่ก็น่าเสียดายที่กลไกรัฐสภาไม่มีท่าทีตอบสนอง

ศิโรตม์ กล่าวว่า เรามีรัฐธรรมนูญฉบับเศรษฐกิจทุนนิยม ที่มองคนเป็นเครื่องจักรสินค้า ที่ให้มีการจ้างเหมาช่วงหรือลดคนงานเมื่อไหร่ก็ได้ แต่รัฐธรรมนูญนี้ไม่เคยถูกแก้ไม่ว่าจะมีรัฐประหารหรือไม่ หรือใครจะมีอำนาจ ระบบกฎหมายไทยเองก็ยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยที่ประชาชนไม่รู้ตัวว่ามันมีผลกับชีวิต ในแง่การต่อสู้ทางการเมือง คนงานไทรอัมพ์ได้วิพากษ์รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ทำให้เห็นว่าการเมืองแบบที่เป็นอยู่มีข้อจำกัด เช่น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ต้องการให้หยุดการจ้างเหมาค่าแรง หรือเรียกร้องให้รัฐบาลเปิดให้มีสหภาพแรงงานในเขตส่งเสริมการส่งออก ซึ่งเป็นประเด็นที่ใหญ่ไปกว่าการต่อสู้ของคนงานในโรงงานเอง

นอกจากนี้เขากล่าวถึงความไม่สามารถของคนงานในการต่อสู้กับนายจ้างในศาลแรงงานได้ว่า อาจพูดได้ว่าเป็นมรดกที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร 2534 เพราะสิ่งแรกที่ พล.สุจินดา คราประยูรและทีมงานทำคือ ยกเลิกระบบที่ปรึกษาของคนงานที่ก่อนหน้านั้นคนงานมีสิทธิตั้งที่ปรึกษาสหภาพแรงงานได้เอง ทั้งที่ถ้าถือว่า สหภาพแรงงานเป็นเสรีภาพของคนงานก็ไม่ใช่ธุระอะไรของรัฐบาล ดังนั้น เมื่อมองระดับโรงงาน นี่คือระบบหนึ่งของเผด็จการ 2534 ที่ยังคงอยู่ หรือพูดเป็นประเด็นทางการเมืองได้ว่า ไม่ว่า รัฐประหารครั้งไหนก็ไม่ดีกับแรงงานทั้งนั้น

เขาเสนอด้วยว่า ในอนาคต การเลิกจ้างไม่ควรเป็นอำนาจเต็มของนายจ้าง ไม่ใช่เรื่องเอกชนกับเอกชน ควรเป็นเรื่องสาธารณะ เพราะเมื่อมีคนว่างงานก็เป็นปัญหากับสาธารณะ เราต้องเริ่มพูดแล้วว่า การเลิกจ้างเป็นเรื่องสังคมส่วนรวม นายจ้างไม่มีความชอบธรรมทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ โดยนายจ้างต้องชี้แจงกับหน่วยราชการ สาธารณะ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ได้ว่า มีเหตุผลจริงๆ ไม่ใช่เรื่องเทคนิคการลงทุน เปลี่ยนแผนการลงทุน แล้วผลักให้ภาระเป็นของคนงาน

รัฐไม่สนคุ้มครองแรงงาน เน้นการลงทุนเกตุแก้ว มีศรี สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ตั้งคำถามกับรัฐบาลว่า เห็นคนงานเป็นหนูทดลองหรือจึงใช้เครื่อง LRAD กับผู้ชุมนุมซึ่งเป็นผู้หญิง ซึ่งมีทั้งคนท้องและคนแก่ แค่ไม่มารับหนังสือก็ช้ำพอแรง ไม่ว่ารัฐบาลยุคไหนก็ไม่มีมาตรการหรือนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาแรงงาน การคุ้มครองแรงงาน และกลับสนใจแต่การส่งเสริมการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ

นอกจากนี้ เกตุแก้ว ยังตั้งคำถามกับ พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ 2518 ด้วยว่า กฎหมายตัวนี้คุ้มครองสิทธิลูกจ้างบ้างไหม เพราะระบุเพียงว่า ถ้านายจ้างจะเลิกจ้างกรรมการสหภาพแรงงานต้องขออำนาจศาล แต่ไม่ระบุว่านายจ้างต้องรับผิดชอบอะไรกับคนงานบ้าง

เวทีของคนงานคือการรวมตัวเรียกร้องแล ดิลกวิทยรัตน์ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จูฬาฯ กล่าวว่า ไม่ต้องถามว่า การใช้เครื่อง LRAD สลายการชุมนุมเป็นปัญหาหรือไม่ แต่ควรถามว่า ตำรวจมีสิทธิสลายการชุมนุมซึ่งเป็นการแสดงออกถึงปัญหาและความทุกข์ได้อย่างไร

แล กล่าวว่า ปัญหาของคนงานไทรอัมพ์เกิดจากนายจ้างที่มองแรงงานเหมือนอิฐหินปูนทราย จะจับวางตรงไหนก็ได้ คิดว่าเหมือนคนขายบ้าน ถ้าขายไม่ได้ อิฐที่ซื้อมาก็กองไว้ ไม่มีใครบ่น แต่คนไม่ใช่อิฐหินปูนทราย เมื่อไม่มีงานทำก็หิว ดังนั้น ไม่สามารถเลิกจ้างได้ ไม่ว่าจะขาดทุนจริงหรือไม่ก็ตาม นอกจากนี้ รัฐเองก็ไม่อยากให้ความขัดแย้งของลูกจ้างนายจ้างออกไปในรูปของการประท้วงเดินขบวนปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ เพราะกลัวว่าคนต่างชาติจะไม่มาลงทุน รัฐอยากให้คนงานขึ้นศาลแรงงาน แต่คำถามคือ เมื่อเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ผลที่ได้จะเหมือนกันหรือไม่

เขากล่าวว่า แต่ละคนมีเวทีของตัวเอง คนงานใช้การรวมตัวเรียกร้อง สำแดงให้ปรากฎว่ามีปัญหา เพราะไม่สามารถซื้อพื้นที่หนังสือพิมพ์ ไม่มีทางจ้างนักกฎหมายฟ้องนายจ้าง การถูกจับย้ายไปอยู่ที่ที่ตัวเองไม่ถนัด ไม่ใช่เวทีของตัวเอง เช่น ห้องประชุม หรือยืนต่อหน้าศาล ซึ่งคนงานพูดอะไรมากไม่ได้ ต้องตอบตามที่ถาม ทำให้ศักยภาพในการต่อสู้หายไป

"ที่น่าสนใจกว่านั้น คนมีค่าของเวลาไม่เท่ากัน เวลาแพงเสมอสำหรับคนจน" แลกล่าวและว่า เมื่อเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย ถ้าสู้แล้วนายจ้างอุทธรณ์ก็ยิ่งใช้เวลาและเงินมาก ตั้งแต่วันที่ถูกเลิกจ้างต้องกลับไปอยู่บ้าน เมื่อต้องขึ้นศาล ก็ต้องเดินทางจากต่างจังหวัด จะนอนพักที่ศาลาวัดเดี๋ยวนี้ก็ไม่ฟรีแล้ว
อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า กฎหมายหรือคำพิพากษานั้นยุติธรรม แต่ตั้งคำถามว่า กว่าจะได้ความยุติธรรม คนจนจ่ายมากกว่าใช่หรือไม่

ประณามการออกหมายจับ-ละเมิดสิทธิคนงานหลังการเสวนามีการแถลงข่าวประณามการออกหมายจับแกน
นำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ซึ่งร่วมลงชื่อโดยองค์กร ประชาชน นักกิจกรรมทางสังคม นักวิชาการ กว่า 150 คน เรียกร้องให้ถอนการออกหมายจับที่ไม่เป็นธรรมกับผู้นำสหภาพแรงงาน โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องไม่มีการจับกุมตามหมายจับ และดำเนินเพื่อร้องขอกับศาลให้มีการถอนหมายจับโดยทันที และเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการตามข้อเรียกร้องของสหภาพฯ ที่ได้ยื่นให้รองเลขาธิการฝ่ายการเมืองโดยเร็วที่สุด และเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน นำโดย พล.ต.ต วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 โดยทางตำรวจได้เปิดเครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังมาก ได้รับผลกระทบต่อคนงานผู้หญิง คนงานพิการ และอายุมากที่มาชุมนุมด้วย (อ่านเพิ่มเติมที่ ร้องถอนหมายจับผู้นำสหภาพแรงงาน- กก.สิทธิ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร.)

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ร้องถอนหมายจับผู้นำสหภาพแรงงาน- กก.สิทธิ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร.
เครือข่ายแรงงานเรียกร้องถอนหมายจับ 3 แกนนำแรงงาน

ที่มา : http://www.prachatai.com/journal/2009/09/25713