Google
 

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ราชดำเนินเสวนา เหรียญเจริญวัดอักษร

วันอาทิตย์ที่ 23 สิงหาคม 2009 กองบรรณาธิการเว็บ

มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน จัดพิธีมอบเหรียญ “เจริญ วัดอักษร” ประจำปี 2552 ให้แก่ “สหภาพแรงงานไทรอัมพ์” เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2552 ณ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย



โดยในงานนี้ได้รับความสนใจจากตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์แล้ว และกลุ่มผู้ร่วมต่อสู้ “เจริญ วัดอักษร” หินกรูด-บ่อนอก จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้าร่วมเป็นสักขีพยาน ประมาณ 50 คน

ทั้งนี้ ในงานมอบเหรียญ “เจริญ วัดอักษร” น.ส.กรอุมา พงษ์น้อย ภรรยานายเจริญ วัดอักษร ได้กล่าวเปิดงานในหัวข้อ “พลังและความหมายของคนตัวเล็กๆ” ว่า


ในช่วงชีวิตที่ผ่านมา ได้ประสบกับภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ 2 ครั้ง คือ วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 และ วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งวิกฤตเศรษฐกิจทั้ง 2 ครั้งนี้น่าจะเป็นบทเรียนได้ว่า สิ่งที่พวกเรากลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ยืนหยัดในการใช้ชีวิตซึ่งพึ่งพิงกับธรรมชาติเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และเป็นสิ่งที่สร้างความมั่นคงให้กับพวกเรา

“วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ที่ได้เห็นข่าวว่าพี่น้องผู้ใช้แรงงานถูกผูกติดกับอุตสาหกรรม เป็นการกระทำของผู้ที่เรียกตัวเองว่าคนตัวใหญ่ เราถูกปลดลอยแพ ถามว่าวิกฤตนี้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ วันนี้คนที่ใช้แรงงานเหล่านี้ลำบาก น่าสงสาร น่าเห็นใจที่สุด ในขณะเดียวกันวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นทั้ง 2 รอบ เท่าที่จำได้ หนูคิดว่าไม่ได้กระทบกับวิถีชีวิตของพวกเราแม้แต่น้อย วิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เกิดขึ้นขณะนี้ หลายคนบอกว่ามีผลกระทบต่อการส่งออก หนูยอมรับว่าบ้านหนูก็มี แต่การหากินเรื่องเกษตรกรรมสัปปะรด ว่านหางจระเข้ ซึ่งพึ่งพิงการส่งออกทั้งสิ้น วันนี้สัปปะรดบ้านหนูราคา 7 บาท ชาวบ้านรวยเงินล้าน แล้วที่แน่ๆประมงบ้านเรายังออกเรือหากินได้เหมือนเดิม กุ้ง ปลาทู ยังจับได้ ถามว่าพวกเรามีวิถีชีวิตอย่างไรในวันนี้ เดือดร้อนกับวิกฤตเศรษฐกิจหรือไม่ เราไม่เดือดร้อนนะคะ”

น.ส.กรอุมา กล่าวว่า วันนี้จากการที่คนเล็กคนน้อยยืนหยัด แท้ที่จริงแล้วมันคือพลัง ที่ร่วมกันเปลี่ยนแปลงสังคมได้ คือการรวมตัวของพวกเราคนเล็กคนน้อย นี่คือบทพิสูจน์ วันนี้ยังมีคนเล็กคนน้อยอีกหลายกลุ่มที่ลุกขึ้นมาหาความหมายตัวเอง และช่วยกันเปลี่ยนแปลงสังคมตัวเองได้

“ถามว่ามันจะเปลี่ยนแปลงสังคมแบบพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดินหรือไม่ มันไม่ใช่ มันต้องใช้เวลาและมันต้องค่อยๆเกิดความเปลี่ยนแปลง โดยลุกขึ้นมาบอกว่าเขื่อนมันไม่ดีอย่างไรแล้วจะเกิดความเปลี่ยนแปลงกับชีวิตเขาอย่างไร อย่างเช่นพี่น้องที่เขื่อนปากมูล ที่แม้ไม่ทำให้เกิดการหยุดโครงการสร้างเขื่อนอย่างถาวรได้ แต่ก็ทำให้สังคมได้ตื่นรู้ว่าแท้ที่จริงแล้วเขื่อนมันคือหายนะของพวกเขาอย่างไร”




“เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าถ้าวันนี้เราไม่พึ่งความเป็นคนเล็กคนน้อยของเรา เราจะพึ่งใคร เราจะพึ่งนักการเมืองอย่างนั้นหรือ พึ่งข้าราชการ พึ่งนายทุนหรือ มันเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว ชะตากรรมของพี่น้องไทรอัมพ์เองวันนี้ ถึงแม้ว่าจะมีวิกฤตเศรษฐกิจ แต่เท่าที่เราได้ติดตามดู มันไม่ใช่อยู่ที่วิกฤตเศรษฐกิจที่แท้จริงที่ทำให้พี่น้องต้องถูกลอยแพ แต่มันเป็นเรื่องวิธีคิดที่เรียกว่าสันดานของนายทุนที่เห็นแก่ตัว ที่เห็นแก่ได้ ที่คิดแค่เพียงแต่ว่าเขาต้องแสวงหากำไรสูงสุด และลดต้นทุนให้ต่ำสุด นี่คือสูตรสำเร็จของวิธีคิดพวกเขา ทั้งๆที่พี่น้องไทรอัมพ์เปิดโปงมาตลอดว่าการถูกเลิกจ้างไม่ได้เกิดจากวิกฤตเศรษฐกิจ จริงๆยอดการส่งออกยังดีอยู่ด้วยซ้ำ แต่มันเป็นวิกฤตทีเกิดจากการเห็นแก่ตัวของกลุ่มทุนที่สร้างเป็นโอกาสแก่ตัวเองคือพยายามสลายความเข้มแข็ง การรวมตัวของคนตัวเล็กตัวน้อยในนามของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ที่เริ่มก่อตัวแล้วมีอำนาจในการต่อรองมากขึ้น ด้วยการปลดพี่น้องในการเลิกจ้างให้ไปอยู่ใน sub contact แทน ซึ่งเขาไม่ต้องรับผิดชอบในเรื่องของสวัสดิการ ไม่มีอำนาจในการต่อรองกับพวกเขา นี่ต้องถือว่าเป็นความเลวร้ายสุดๆ”

“แต่จากชะตากรรมของพี่น้อง วันนี้เราเองต้องถือว่าเราก็เคยประสบชะตากรรมที่คล้ายคลึงกับพี่น้อง เราก็อยากจะให้กำลังใจ ตราบใดที่พี่น้องสหภาพแรงงานฯ ไม่สิ้นหวัง ไม่หมดพลังแล้วเชื่อมั่นในพลังของตนเอง หนูเชื่อว่าพี่น้องมีโอกาสพลิกสถานการณ์ และพลิกฟื้นปัญหาของพี่น้อง แล้วฝ่าฟันวิกฤตร่วมกันได้ถ้าพี่น้องยังรวมพลังอยู่”

น.ส.กรสุมา กล่าวอีกว่า วันนี้สังคมโหดร้ายขึ้นเรื่อยๆ พร้อมจะบดขยี้คนเล็กคนน้อยของเราตลอดเวลา ถ้าพวกเราคนเล็กคนน้อยไม่ช่วยกัน เชื่อว่าต่อไปพวกเราจะราพนาสูรยิ่งกว่านี้

“แต่ถ้าวันนี้เราคิดว่าสังคมต้องได้รับกรเปลี่ยนแปลง แล้วเชื่อมั่นในพลัง เราต้องรวมตัวกัน”

ต่อจากนั้น นางจิตรา คชเดช ที่ปรึกษา/เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” ว่า
“ความเข้มแข็งของเรา ไม่มีอำนาจใด ที่จะล้มล้างไปได้และผมคิดว่า…ชุมชนของเราต้องดีขึ้นเมื่อพี่น้องประชาชนรวมตัวกัน พลังของเรายิ่งใหญ่…หลาย ๆ เรื่องที่จะเข้ามาในชุมชน แม้แต่นายทุนข้ามชาติก็แล้วแต่…เราสู้ได้ ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน”เจริญ วัดอักษร

“บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 ได้ผ่านการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย)จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนงานเช่นการลางานเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย ในปี 2524 มีการยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างเยอรมันหยุดกิริยาเหยียดหยามคนไทย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการยื่นข้อเรียกร้องของคนงานและสหภาพแรงงานฯต่อบริษัทฯทั้งหมด ทุกอย่างไม่ได้มาจากนายจ้างใจดี และให้มาเฉยๆโดยที่ไม่มีสาเหตุ บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย)จำกัด ได้จดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้เช่าอาคารสิวะดล แถวถนนคอนแวนต์ สีสม โดยมีคนงานไม่กี่ 100 คน และเริ่มขยายกิจการมีผู้ถือหุ้นที่น่าสนใจ คือนายเดวิด ไลแมน เจ้าของบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายเก่าแก่ที่สุดในมืองไทย 100 กว่าปีและนางเลียวนี่ เดซี่ เวชชาชีวะ มีชาวเยอรมันเป็นหุ้นส่วนใหญ่จดทะเบียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุปันบริษัทตั้งอยู่ที่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ. สมุทรปราการ มีคนงานประมาณ 4,200 คน และทำการผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อ ไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO ,HOM และได้รับจ้างผลิตชุดชั้นในชื่อดังหลายยี่ห้อเช่นมาร์คแอนสเปนเซอร์ บริษัทได้เริ่มขยายสาขาไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ชื่อบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด. ที่อยู่ : 194/2 หมู่ 5 พหลโยธิน ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จ. นครสวรรค์ 60240. และเมื่อปี 2551 บริษัทบอดี้แฟชั่นฯ นครสวรรค์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)เป็นเงิน 75.5 ล้านบาท ได้ขยายโรงงานรองรับการผลิตบรรจุพนักงานได้ 2,000 กว่าคน

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯเป็นสหภาพแรงงานฯที่ทำงานกับสมาชิกและคนงานมาโดยตลอดเราเป็นสหภาพแรงงานฯที่ใช้ระบบการเก็บเงินค่าบำรุง สื่อข่าวสาร รับเรื่องราวร้องทุกข์ รับคำเสนอแนะ ผ่านระบบตัวแทนไลน์ตัวแทนแผนก และเป็นสหภาพแรงงานที่ประธานสหภาพมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่

ตัวแทนไลน์ตัวแทนแผนกมาจากใหน? ก็คือได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกในไลน์การผลิตนั้นๆโดยใช้โครงสร้างของบริษัทให้เกิดประโยชน์คือตัวแทนไลน์เทียบเท่าหัวหน้างาน แต่มาจากการเลือกตั้งของคนในไลน์นั้น หนึ่งไลน์การผลิต เท่ากับประมาณห้าสิบคน ตัวแทนไลน์จะนำเรื่องต่างๆเข้าสู่ที่ประชุมตัวแทนไลน์ซึ่งจัดให้มีเดือนละหนึ่งครั้งและกรณีเร่งด่วนนำสู่กรรมการสหภาพแรงงานฯ กรรมการจะนำเรื่องเข้ามาแก้ปัญหาโดยเร็ว เมื่อมีคนงานใหม่ตัวแทนไลน์จะแนะนำให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานฯจึงมีสมาชิกในฝ่ายผลิตเกือบร้อยเปอร์เซนซึ่งถือว่าเป็นสหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย

การจัดกิจกรรมสมาชิก สหภาพแรงงานจัดให้มีกลุ่มศึกษาในเวลาพักกลางวันใช้เวลาประมาณยี่สิบนาทีเราจะคุยกันทุกเรื่องเรื่องปัญหาในบ้าน ในโรงงาน ในบ้านเมือง และจัดให้การศึกษาหลังเวลาเลิกงานในเเรื่องต้นทุนการผลิต กำไร จำนวนงานที่ทำกับสิ่งที่เราได้ตอบแทน และจัดให้กับเพื่อนคนงานในโรงงานทุกคน

สหภาพแรงงานฯได้ป็นสหภาพที่ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯได้เข้าร่วมเรียกร้องประกันสังคม เรียกร้องประกันการว่างงาน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญเช่นเหตุการณ์พฤษภาปี 35 เข้าร่วมต่อต้านรัฐประหาร ปี 49 เราเรียกร้องสิทธิทำแท้งเข้าถึงสุขอนามัยและถูกกฎหมายรวมถึงเรียกร้องรัฐสวัสดิการ

.ในปี 2535 สหภาพแรงงานฯได้พาคนงานผละงานทั้งหมดเรียกร้องให้นายจ้างเข้ามาดูแลคนงานเรื่องสวัสดิการรถรับส่ง ได้หยุดงาน 18 วัน จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีใช้มาตรา 35 ให้คนงานกลับเข้าทำงาน

เมื่อปี2542 สหภาพแรงงานฯได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ ไม่สามารถตกลงกันได้จนถึงขั้นนายจ้างปิดงาน คนงานชุมนุมอยู่หน้าโรงงาน 22 วันและได้มีข้อตกลงสภาพการจ้างออกมาเรื่องการเลิกจ้างให้นายจ้างต้องร่วมกับสหภาพแรงงานฯให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค

ในบริษัทบอดี้ แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด ได้มีระบบการจ้างงานที่ให้คนงานมีแรงจูงใจในการทำงานสำหรับพนักงานเย็บ คือเย็บงาน 40 ชิ้นบริษัทจะจ่ายเป็นคูปอง ในคูปองจะกำหนดนาทีแล้วแต่ความยากง่าย เมื่อได้นาทีแล้วจะต้องนำไปส่งตอนเย็นเลิกงาน และบริษัทจะนำคูปองมาคิดเป็นเงิน (ราคาต่อนาที มาจากการยื่นข้อเรียกร้อง ตัวอย่างเช่น วันนี้ทำงานได้ 500 นาทีX ราคาคูปอง 1.300บาท=650 บาท เท่ากับคนงานจะได้ค่าจ้าง 650 บาท ถ้าทำไม่ได้จะได้ค่าจ้างมาตรฐาน 333 บาท) ฉะนั้นคนงานยิ่งทำงานมากยิ่งได้เงินมากพวกเราเลยได้เห็นการทำงานที่ไม่กินน้ำ ไม่เข้าห้องน้ำ เข้างานก่อนเวลา และป่วยเป็นโรคไต ปวดหลังกันมากที่สุด เมื่อต้นปี 2547 บริษัทฯได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต และจะใช้ที่ประเทศไทยเป็นที่แรกนำร่องและเริ่มใช้กับส่วนที่ผลิตชุดว่ายน้ำเท่านั้น ถ้าที่ไทยประสพความสำเร็จจะนำไปปฎิบัติที่อื่นต่อไป คือลดนาทีคูปองเคยเย็บได้ 40 ชิ้น ได้ 10 นาที มาเปลี่ยนเป็น 5 นาที สหภาพแรงงานฯได้ออกมาคัดค้านจนเป็นเหตุให้บริษัทฯไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จนถึงปัจจุปัน(พวกเราเชื่อว่าเป็นระบบการจ้างงานที่ขูดรีดแรงงานของเรามากที่สุดในโลก)

ในขณะเดียวกันเมื่อ ปี 2549 สหภาพแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงานชุดใหม่มี จิตรา คชเดช เป็นประธานสหภาพแรงงานฯและเป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำและกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมดส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากส่วนผลิตชุดว่ายน้ำและในปีนี้เองเป็นปีแรกที่ประธานสหภาพมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ ตั้งแต่กรรมการชุดใหม่ถูกเลือกตั้งมา เมื่อมีการเลิกจ้างคนงานไม่เป็นธรรม การจัดรถรับส่งที่ไม่ได้มาตรฐาน การจัดผ้ายูนิฟอร์มที่คุณภาพต่ำให้กับคนงาน การจัดงานวันครอบครัว การจัดงานไปเที่ยวต่างจังหวัดที่เป็นไปแบบไม่โปร่งใส รวมถึงการออกคำสั่งใบเตือนเร่งเป้าการผลิตสำหรับคนท้องคนงานอายุมาก และความปลอดภัยในโรงงาน คนงานในส่วนชุดว่ายน้ำจะเริ่มหยุดทำงานล่วงเวลาและนำไปสู่การหยุดทำงานล่วงเวลาของคนงานทั้งโรงงาน และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทุกเรื่องอย่างเข้มงวดและสหภาพแรงงานได้ส่งกรรมการสหภาพเข้าไปดูแลทุกเรื่องอย่างใกล้ชิด มีอยู่ครั้งหนึ่งในบริษัทฯมีพนักงานเอาเหล้ามาดื่มในเวลาทำงานในวันหยุดทั้งหมดประมาณ 20 คน รวมถึงหัวหน้างานด้วย บริษัทฯเลิกจ้างคนงานกินเหล้าในโรงงาน 5 คน สั่งพักงาน 1 คน ที่เหลือไม่มีการลงโทษใดๆ ครั้งนั้นสหภาพแรงงานเรียกร้องให้บริษัทฯไม่เลือกปฏิบัติและมีคนงานหยุดการทำงานล่วงเวลา จนเป็นเหตุให้บริษัทฯรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ

เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 พนักงานฝ่ายขายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้พร้อมใจกันผละงาน เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเอาผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายขายออกไปและให้ผู้บริหารชาวสิงคโปรค์ออกมาขอโทษคนงานกรณีที่เอาเท้าเต๊ะงานให้พนักงานขายคนไทยและให้คืนค่าคอมมิชชั่นจากการขายให้เท่าเดิม ในขณะนั้นสหภาพแรงงานได้เข้าไปร่วมเจรจาจนสามารถตกลงกันได้และในครั้งนั้นพนักงานทั้งหมดฝ่ายขายทั่วประเทศได้มาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด;

ในปี 2550 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่คนงานไทรอัมพ์กำลังจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อปากท้องของตัวเอง พวกเราไม่สามารถจัดให้มีการประชุมสมาชิกได้ พวกเรามีทหารมาแจ้งว่าไม่ให้จัดการประชุม และเราก็มีทหารมาตั้งเต๊นที่หน้าโรงงานเพื่อตรวจบัตรคนงานที่ทำโอทีและถามว่าพวกเราจะไปใหนกัน ในขณะที่ประธานสหภาพแรงงานโดนนายจ้างเรียกไปขอความร่วมมือห้ามหยุดงานเพราะ กรอมน.จังหวัดได้ขอร้อง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ประธานสหภาพแรงงานฯ จิตรา คชเดช ได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์ ช่อง NBT เรื่องทำท้องทำแท้ง เวลา 5 ทุ่ม ในขณะที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองบริษัทฯได้ฉวยโอกาศ วันที่ 28 เมษายน เริ่มมีใบปลิวเป็นกระดาษที่ใช้แล้วของบริษัทฯออกมาโจมตีประธานสหภาพฯ มีผู้จัดการบางคนทำใบปลิวด่าประธานสหภาพฯ โดยใช้กระดาษอุปกรณ์ทุกอย่างของบริษัททั้งหมด และในใบปลิวมีข้อความให้ทำร้ายและถ่ายเอกสารคอมเม้นท้ายข่าวเวปไซร์ผู้จัดการมาแจกคนงานวันที่ 30 เมษายน บริษัทฯเรียกจิตรา ให้ไปชี้แจง เรื่องดังกล่าวและบอกว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาอะใร หลังการชี้แจงอนุญาติให้ใช้เครื่องเสียงและพื้นที่โรงอาหารของบริษัทฯ ในการชี้แจงต่อเพื่อนพนักงานแต่สมาชิกสหภาพแรงงานเข้าใจทันทีว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของประธาน

วันที่ 9 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานฯยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง บริษัทฯได้นัดการเจรจาข้อเรียกร้อง ตัวแทนของบริษัทโดยนายมาคูส คาร์บิส(Markus Kabisch)กล่าวว่า “ไทรอัมพ์เป็นบริษัทที่มีบริษัทเป็นของตัวเอง ยังเป็นบริษัทท้ายๆที่คงโรงงานไว้ ตามตารางเห็นว่าไทรอัมพ์มีต้นทุนสูง เจ้าของกิจการอาจมีมุมมองในเรื่องการจ้างซับคอนแทคแทน” การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จนนำไปสู่การพิพาทแรงงาน การเจรจาวันที่ 30 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานฯ ได้แจ้งบริษัทว่าจะขอมตินัดหยุดงานในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 วันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บริษัทฯและสหภาพแรงงานบรรลุข้อตกลงเป็นข้อตกลงที่สหภาพแรงงานฯไม่คิดว่าจะได้ฟังแบบไม่เชื่อว่าบริษัทจะให้ แต่เป็นที่พอใจของคนงานเป็นอย่างมาก

วันที่ 29 กรกฎคม 2552 เป็นวันที่บริษัทฯเรียก จิตรา ประธานสหภาพแรงงาน ไปที่อาคารวานิชแล้วแจ้งว่าบริษัทได้เลิกจ้างตามคำสั่งศาล เมื่อคนงานทราบข่าว วันที่ 30 กรกฎาคม 2551 สมาชิกสหภาพแรงงานและคนงานเกือบทั้งหมดได้ผละงานออกมาประท้วงรียกร้องให้บริษัทรับประธานสหภาพกลับเข้าทำงาน สมาชิกเชื่อว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน วันที่ 12 กันยายน 2551สามารถหาข้อยุติได้ เป็นเวลา 45 วัน

.สหภาพแรงงานเข้าใจว่าที่สุดพวกเราไม่สามารถทนต่อสภาพที่ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน เงินให้ลูกไปโรงเรียนและเงินที่ต้องส่งให้พ่อกับแม่ที่ต่างจังหวัดได้ จึงปรึกษากันว่าทุกคนจะกลับเข้าทำงานและจะเก็บเงินเป็นค่าจ้างให้จิตรา อยู่กับสหภาพแรงงาน โดยเป็นเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาและจิตราไปสู้ในชั้นศาล

ศาลใช้เวลาไต่สวนสี่วันและหลังจากนั้น หนึ่งอาทิตย์ศาลตัดสินว่าการใส่เสื้อที่มีข้อความไม่ยืนไม่ใช่อาชกร คิดต่างไม่ใช่อาชกรรม ไปออกทีวีนั้นเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายให้นายจ้างเลิกจ้างได้เพราะลูกจ้างไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทย

ในขณะที่บริษัทฯ มี CODE OF CONDUCT หลักปฎิบัติของไทรอัมพ์ได้พูดสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออก ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ได้รับมาตรฐานแรงงานไทย แต่รัฐบาล กระทรวงแรงงานไม่สามารถดำเนินการอะใรกับบริษัทฯได้อ้างอย่างเดียวว่าอยู่ในชั้นศาล

วันที่ 29 มิถุนายน 2552 บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างคนงานทั้งหมด 1,959 คน คนงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตชุดว่ายน้ำทั้งหมดถูกเลิกจ้างเหลือไว้แต่พนักงานเย็บตัวอย่างชุดว่ายน้ำ ทำแพทเทิน ทำนาทีคูปอง และเหลือหัวหน้างานไว้ เพียง 8 คน คนงานในการผลิตชุดชั้นใน ถูกเลือกส่วนใหญ่ คนท้อง คนอายุใกล้เกษียณ คนป่วย คนพิการ และคนที่ลงชื่ออันดับต้นๆที่แสดงเจตนารมณกลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551มีกรรมการสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้างทั้งหมด 13 คน จากกรรมการสหภาพแรงงาน 18 คน

การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯอ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน หาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เตรียมใช้ระบบจ้างงานซับคอนแทค ที่นายทุนไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการ การเรียกร้องจากสหภาพแรงงาน
ตลอดระยะเวลา 29 ปีของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯเป็นเวลาที่ต้องต่อสู้ตลอดนับตั้งแต่วันเริ่มต้นที่พวกพี่ๆต้องหลบๆซ่อนๆกว่าจะมีองค์กรได้ ก็ต้องเริ่มต้นปกป้อง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปากท้อง ความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานต่อนายทุน ต่อรัฐบาล ไม่เคยมีสักครั้งที่ทุกอย่างจะได้มาโดยง่ายดายแต่พวกเรายังได้บ้าง ไม่ได้บ้างถึงจะไม่ถึงเป้าหมายแต่มันเกิดจากการ “รวมตัวกัน” ของคนงานจึงทำให้เรามีอำนาจ พลังที่จะสามารถต่อรองได้

สหภาพแรงงานฯกำลังถูกทำลายโดยนายทุนที่ร่วมมือกับรัฐบาล กลไกทุกอย่างของรัฐที่สร้างขึ้นมา เช่น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ กระทรวงแรงงาน มีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน เพราะนายทุนต้อการกำไรสูงสุดในขณะที่รัฐบาลก็มีแต่ตัวแทนนายทุน ในขณะที่คนงานคนจนไม่มีตัวแทนของเราในรัฐบาลมีแต่คอยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย เพราะเชื่อว่ารัฐจะเป็นกลางแต่ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ไม่เคยมีสักครั้งที่รัฐจะช่วยเหลือและเป็นกลาง มีแต่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงเมื่อคนงานอย่างพวกเรากำลังจะได้อะใรจากนายทุนบ้าง เมื่อพวกเราถูกกระทำเราไม่เคยเห็นหน้ารัฐ เช่นทุกวันนี้ที่พวกเราชุมนุมกันที่หน้าโรงงานเพราะถูกเลิกจ้าง ทำไมต้องเลิกจ้างเพราะนายทุนและรัฐกำลังทำลายการรวมตัวของเรา เพราะเขารู้ว่าเราสู้ได้เรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเรารวมตัวกัน
กลไกสำคัญที่รัฐสร้างขึ้นมาที่คนงานส่วนใหญ่หลงเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคนงานดีขึ้นคือระบบไตรภาคี ระบบไตรภาคีเป็นระบบที่ทำให้คนงานแบ่งแยก ช่วงชิงและไม่ได้ให้ประโยชน์กับขบวนการแรงงานแต่เป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้นำบางคนที่สุดแล้วคนงานก็ยังถูกควบคุมมากขึ้นจากพวกเรากันเองด้วยซ้ำ
เมื่อเราย้อนถึงคำพูดของคุณเจริญ วัดอักษร “เราสู้ได้ ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน” เช่นเดียวกันคนงานสู้ได้ถ้าเรารวมตัวกัน

การต่อสู้ของคนงาน คนจนไม่มีวันจบสิ้นตราบใดที่นายทุนยังไม่หยุดการแสวงหากำไรสูงสุด ตราบใดที่อำนาจรัฐอยู่ในมือนายทุน และก้อตราบใดที่คนงานคนจนยังขาดการรวมตัวกันและคนงานคนจนยังไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ

ด้านนายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ เลขาธิการสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า มีเหตุผล 2 ประการที่ไม่สามารถปฏิเสธความร่วมมือในงานนี้ได้คือ 1.ความเป็นเจริญ วัดอักษร ซึ่งเคยมีโอกาสได้ไปทำข่าวไปดูทรัพยากรที่หินกรูด-บ่อนอก 2.เรื่องราวการต่อสู้ขอสหภาพแรงงานไทรอัมพ์

“ผมเชื่อว่าวิกฤตแรงงานของเรายังต้องเกิดต่อไป เพราะวิกฤตเศรษฐกิจโลกได้เปลี่ยนฐานการผลิตครั้งใหญ่ของภาคทุน เพราะฉะนั้นด้านแรงงานจึงต้องประสบกับวิกฤตอีกหลายระลอก ไทรอัมพ์คือตัวอย่างหนึ่งที่ยังไม่รวมตัวกันประท้วงก็ยังมีอีกเยอะจากการเปลี่ยนฐานการผลิตครั้งนี้ จึงอยากให้กำลังใจกับพี่น้องแรงงาน” นายประดิษฐ์ กล่าว

นอกจากนี้ ก่อนที่จะมีการมอบเหรียญ “เจริญ วัดอักษณ” วงเสวนาได้มีอภิปรายเรื่อง “ทางเลือก ทางรอด ของขบวนการแรงงานในยุคเสรีนิยมใหม่” ซึ่งมี รศ.แล ดิลกวิทยรัตน์ และ รศ.ดร.วรวิทย์ เจริญเลิศ เป็นวิทยากร มีสาระที่น่าสนใจ ดังนี้

รศ.แล กล่าวว่า สหภาพแรงงานคงไม่ใช่องค์กรที่จะมานั่งต่อรองเรื่องปากท้อง ถึงที่สุดจริงๆแล้วสิ่งที่แรงงานอยากได้คือให้นายจ้างเห็นว่าแรงงานเป็นมนุษย์ ไม่ใช่สินค้า

“เพราะฉะนั้นจะเห็นว่านายจ้างพยายามมองว่าแรงงานนั้นเป็นสินค้า ราคาจะขึ้นลงอยู่ที่ว่าสินค้าที่แรงงานผลิตนั้นขายได้หรือขายไม่ได้ เมื่อแรงงานเริ่มจะขายไม่ได้ สินค้าขายไม่ได้จึงมีความพยายามที่จะรุกหรือโละแรงงานเพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่าย โดยไม่ได้คำนึงว่าแท้ที่จริงแล้ว การปลดคนงานออกไปไม่ได้กระทบกับคนงานเพียงคนเดียว แต่กระทบทั้งครอบครัว ญาติพี่น้อง เป็นการขูดรีดแรงงานในเมืองแล้วส่งออกการขูดรีดไปยังชนบท การที่กระทบนี้แสดงให้เห็นว่าคนไม่ใช่สินค้า ความเดือดร้อนไม่ได้จบสิ้นแค่ตัวเอง เพราะฉะนั้นเวลาเดือดร้อนมันก็จะไปได้ไกล”

“สิ่งที่แรงงานเรียกร้องมาตลอดก็คือให้เห็นคนเป็นคน เช่น ทำงานไม่ได้แต่ต้องกิน ผลงานเป็นศูนย์รายได้ต้องไม่เป็นศูนย์ จึงมีการเรียกร้องเรื่องค่าจ้างในวันลาป่วย เมื่อลาหยุดสงกรานต์ก็ต้องได้ค่าจ้างด้วย สิ่งที่รณรงค์มาตลอดทั้งเรื่องการลาคลอด 90 วันนั้น ก็คือการพยายามบอกว่าคนเป็นคน คนไม่ใช่สินค้า เพราะฉะนั้นการจ่ายให้คนก็คือการจ่ายในฐานะที่เป็นคน แต่ว่านายจ้างเองก็ยังคงยืนยัน และพยายามให้เรายอมรับมาตลอดก็คือคนเป็นสินค้า เช่น การแข่งขันกันลดค่าจ้าง หรือพยายามทำให้คนที่กินค่าจ้างเท่าเดิมแล้วทำงานให้มากกว่าเดิม เป็นการเอาเปรียบกัน เพราะผลงานเพิ่มขึ้นค่าจ้างไม่เพิ่ม มันทำให้คนได้ค่าจ้างเท่าเดิมแต่ต้องทำรายได้ให้กับนายจ้างเพิ่มขึ้น สิ่งนี้เป็นแฟชั่นในหมู่ผู้บริหารทั้งหลาย ในขณะที่การขึ้นเงินเดือนนั้นเป็นเรื่องยาก”

รศ.แล กล่าวอีกว่า มีความพยายามรักษาไม่ให้ค่าจ้างสูงเกินไป โดยยังพยายามทำให้เป็นที่ยอมรับไม่เพียงแต่ในหมู่ของผู้บริหารเท่านั้นแต่ยังทำให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ลูกจ้างด้วย

“นายจ้างบางคนบอกกับแรงงานว่าอัตราค่าจ้างเริ่มจะสูงกว่าเพื่อนๆ เริ่มแซงหน้าคนอื่นแล้ว ลูกจ้างก็จะเริ่มหันมาปรึกษากันว่า ทำอย่างไรให้ค่าจ้างไม่สูงกว่านี้ ไม่เช่นนั้นจะสู้คนอื่นไม่ได้ สิ่งที่เป็นประโยชน์ของนายจ้างมันถูกโฆษณาจนกลายมาเป็นเสมือนหนึ่งประโยชน์ของลูกจ้าง หรือทำให้ลูกจ้างรู้ว่านายจ้างต้องได้ ถ้านายจ้างไม่ได้อย่างนี้นายจ้างอยู่ไม่ได้ ผมคิดว่ามันมีความพยายามที่จะทำให้ความเชื่ออย่างนี้มีเยอะมาก แล้วเวลาที่เราจะเจรจากับนายจ้าง บางทีนายจ้างก็เพียงแต่พิสูจน์ว่าถ้าเราได้น้อยกว่านี้เราอยู่ไม่ได้นะ เราของนายจ้างมันไม่ใช่เราของลูกจ้าง เพราะหลายๆครั้งเราของลูกจ้างต้องอยู่ได้ก็ต่อเมื่อค่าแรงมันสูงขึ้น แต่พอนายจ้างบอกว่าค่าแรงสูงขึ้นแล้วเราอยู่ไม่ได้ก็กลายเป็นว่า เรานั้นเป็นลูกจ้างด้วย”

“อีกอย่างที่น่าสนใจก็คือว่า วันนี้ไม่ว่าจะมองในแง่กฎหมาย ไม่ว่าจะมองในแง่จุดยืนของรัฐบาล มันมีความยอมรับกันทั่วไปว่าการเลิกจ้างลูกจ้างเป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ ถ้าตราบใดที่นายจ้างจ่ายตามเงื่อนไขที่กฎหมายให้แล้วก็ถือว่ายุติธรรมแล้ว โดยที่กฎหมายหลายๆเรื่องเป็นเรื่องที่ไม่ยุติธรรม”

โดย รศ.แล ยกตัวอย่าง การถูกเลิกจ้างแล้วไปรับเงินประกันสังคม ได้ครึ่งหนึ่งของค่าจ้างเดือนสุดท้าย แต่ว่าไม่เกิน 7,500 บาท ไม่ว่าคนนั้นจะได้เงินเดือนเท่าไรก็แล้วแต่ โดยที่ทัศนะของทุกฝ่ายบอกว่ายุติธรรมแล้วที่ได้

“ไม่มีใครตั้งคำถามกับกฎเกณฑ์รัฐบาลว่าแค่นี้ยุติธรรมหรือเปล่า ทำไมคุณไม่ไปเรียกร้องให้เงินชดเชยได้มากกว่าที่กฎหมายกำหนด เพราะไม่มีกฎหมายไหนห้ามเรียกร้องเกินจากที่กฎหมายกำหนด ถ้าอยากให้เขาเลิกจ้างยากขึ้น ก็ต้องทำให้การเลิกจ้างแพงขึ้น ทำไมเราไม่เรียกร้องค่าชดเชยกรณีที่คนงานอยู่มา 10 ปี 20 ปี ได้ 20 เดือน แทนที่จะได้ 10 เดือน นี่คนอยู่มา 25 ปี ก็ได้ 10 เดือน อย่างนี้เราไม่เคยเรียกร้อง เราลืมไปเลยแล้วคิดว่ามาตรการของรัฐนั้นยุติธรรมในตัวของมันเองแล้ว วันนี้นายจ้างก็อ้างแค่เพียงว่า ช่วยไม่ได้ เพราะไม่ได้ทำผิดอะไร ทำทุกอย่างตามกฎหมาย แล้วเราก็ไม่เคยประเมินเลยว่าการอ้างกฎหมายอย่างนี้พยายามจะอ้างความชอบธรรมทั้งๆที่มันไม่ยุติธรรม”

รศ.แล ยังกล่าวถึงปัญหาอีกว่า 30 ปีที่ผ่านมา สหภาพแรงงานซึ่งเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวของผู้คน ถูกทำให้หยุดนิ่งแล้วกลายมาเป็นองค์กร เป็นสถาบัน ไตรภาคีถูกทำให้แตกแยก แล้วทำให้กรรมกรพอใจที่ถูกทำให้กลายเป็นขุนนาง

“คนแข่งขันกันจนลืมไปว่าเราเกิดมาต่อสู้กับใคร ที่สุดก็กลายเป็นต่อสู้กันเอง หลายองค์กรที่ประธานสหภาพแรงงานอดีตเคยเป็นคนเก่ง ที่ลุย ที่เสียสละ มาวันนี้กระดิกอะไรไม่ได้ เพราะว่าเป็นท่านไปหมด คือไปอยู่ในฐานะเดียวกับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง อธิบดี สามารถล้วงบุหรี่จากกระเป๋าเสื้ออธิบดีได้ บอกว่าพี่ผมขอบุหรี่มวนหนึ่ง นี่เป็นอะไรที่น่ากลัวมาก อย่าลืมว่าเวลาที่มันเป็นขบวนการมันมีไฟ มันมีความไม่แน่นอนด้วยเหตุที่ต้องเคลื่อนตัวตลอดเวลา ต้องสัมผัสกับสมาชิก แต่พอหลุดกลายมาเป็นสถาบันเมื่อไหร่ เป็นองค์กรมีฐานะทางกฎหมาย ตรงนั้นการเคลื่อนมันสิ้นสุดแล้ว แล้วพยายามรักษาตำแหน่งกัน พอเป็นท่านแล้วมันเสียคน”

“แล้วมาบอกว่าวันนี้คุณสามารถทำให้ทางการยอมรับได้ แต่ที่เขายอมรับนั้นก็เพราะว่าคุณเป็นพวกของเขา พูดจากันได้ง่าย พอตอบคำถามเจ้าหน้าที่กระทรวง ก็จะไม่ตอบว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน แต่จะตอบว่าโดย ทั่วๆไปกำลังทำอะไรอยู่ คือกว้างๆ ไม่พยายามที่จะเข้าไปจับปัญหา ผมคิดว่าการที่รัฐดึงเอาคนเหล่านี้แล้วทำให้กลายมาเป็นกลไกของรัฐ เป็นความสำเร็จของทางการในการปรับตัวรับมือในการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เพราะในอดีตเรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับการยอมรับจากภาครัฐ เมื่อภาครัฐยอมรับเราแล้วเราก็ไปรู้สึกว่าประสบความสำเร็จแล้ว โดยที่เรายังไม่ได้อะไรเลย เราได้แค่เพียงการยอมรับแบบปลอมๆ ไตรภาคีควรเป็นผู้เข้าไปต่อรอง แต่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ที่เข้าไปแนะนำว่าจะทำอย่างไร ทั้งๆที่เรารู้สึกว่าตัวแทนของเราถูกส่งเข้าไปในระบบแล้วต่อรองกับระบบอย่างแข็งขัน ไม่ใช่ กลายเป็นแปลงตัวเป็นหนึ่งในคณะกรรมการของรัฐ มีหน้าที่สะท้อนถ่ายข้อมูลให้ภาครัฐ ผมคิดว่าตรงนี้เรารู้ไม่ทัน”

โดย รศ.แล ให้ความเห็นว่าในอนาคต องค์กรชาวบ้านหรือองค์กรพัฒนาเอกชนจะได้รับการยอมรับในรูปแบบนี้มากขึ้น เมื่อได้รับการยอมรับแล้วก็จะหมดเขี้ยวเล็บ กลายเป็น “ท่าน” ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากลัวมาก เพราะเป็นความสำเร็จที่สูญเสียวิญญาณ

“วันนี้น่ากลัวมากว่าเวลาเกิดปัญหาอะไรเริ่มที่จะถามหาความยุติธรรมจากคนอื่น สู้เพื่อจะพิงคนอื่นยกเว้นตัวเอง ไม่เคยพึ่งตนเอง ทำไมไม่แก้กฎหมาย ทำไมศาลแรงงานเป็นอย่างนี้ ทำไมแรงงานสัมพันธ์เป็นอย่างนี้ แล้วทำไมคุณถึงไม่ถามว่าทำอย่างไรเขาถึงจะให้ความยุติธรรมกับคุณ เราจำได้เราคิดถึงทุกคนยกเว้นตัวของเรา นี่คือปัญหาของขบวนการแรงงาน เมื่อคิดพึ่งคนอื่นตลอดวันนี้สหภาพแรงงานต้องระวัง เพราะสหภาพแรงงานเริ่มจะหันไปพึ่งอะไรใหม่ๆ อย่างเช่นเรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องมาตรฐานแรงงานระหว่างประเทศ เหล่านี้อาจจะใช้เป็นประโยชน์ได้ แต่ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต่อสู้หรือเข้าไปมีส่วนร่วมให้ได้มา มันเป็นสิ่งที่คนอื่นเขาหยิบยื่นมา แล้วกลายเป็นอาชีพของคนอื่นที่เอาคนงานไปเป็นตัวเป้า ซึ่งจะไปเล่นเกม ถ้าเราไปพิงกับตัวนี้มาก ไปเชื่อสิ่งเหล่านี้มาก วันหนึ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือเรากลายเป็นคนที่นั่งรอร้องขออย่างเดียว แต่ไม่ทำอะไรเลย”

ด้าน รศ.ดร.วรวิทย์ กล่าวว่า ภาพรวมที่แรงงานอยู่ในระบบทุนนิยม ต้องเข้าใจในทฤษฎี คือการเพิ่มเงินโดยมาจากขูดรีดในกระบวนการผลิต ซึ่งมองแรงงานเป็นสินค้า แรงงานยังชีพอยู่ได้ด้วยการขายความสามารถในการผลิต

“วิกฤตเศรษฐกิจในขณะนี้ คนจนถูกเลิกจ้าง ขาดรายได้ เข้าไม่ถึงประกันสังคม แต่มีข้อมูลอยู่ว่าวิกฤตที่เราเผชิญอยู่นี้ไม่ใช่วิกฤตของบรรษัทข้ามชาติ โดยรวมๆแล้วในวิกฤตนี้บรรษัทข้ามชาติกลับทำกำไร ต้องมาดูว่าทำกำไรได้อย่างไรในขณะที่ทุกคนเจอกับวิกฤต บรรษัทข้ามชาติทำอย่างเดียวขึ้นสร้างสิค้าแล้วจดลิขสิทธิ์ ไม่ทำอย่างเดียวคือผลิต เพราะต้นทุนสูง อาจจะรับออเดอร์มา แล้วมาลงที่ไทยเพราะเรามีโอที เพราะค่าจ้างถูก เราเรียกว่าเป็นการขูดรีดอย่างเข้มข้น โดยบอกว่าไม่ได้เป็นผู้ผลิตแต่เป็นผู้ซื้อ”

รศ.ดร.วรวิทย์ ให้ความเห็นว่า การเลิกจ้างเป็นความต้องการทำลายสหภาพแรงงาน โดยมีประกันสังคมบังคับให้หางานภายใน 8 เดือน ไม่เช่นนั้นจะหมดสิทธิ์ ซึ่งการประกันสังคมเป็นการบังคับให้กลับไปทำงาน แต่วิกฤตเศรษฐกิจทุนทั่วโลกนั้นรัฐบาลเองก็ยังไม่รู้ว่าจะคลี่คลายเมื่อไหร่

“ประกันสังคมครอบคลุมคนแค่ 8.3 ล้านคน ในขณะที่ส่วนใหญ่เป็นซับคอนแทค หรือเหมาค่าแรง ประกันสังคมต้องกลับมาเป็นรัฐสวัสดิการให้ได้”

“ในส่วนของชุมชนนั้นได้รับผลกระทบแน่นอนจากการเข้ามาของทุน กรณีของบ่อนอก เชื่อมโยงนิคมอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้น ทุนพยายามแปลงธรรมชาติ เช่น ที่ดิน ให้เป็นสินค้าหมดเพื่อที่จะขาย ชุมชนที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ก็จะเข้าไปอยู่ในวงจรของทุนแต่ไม่มีต้นทุนที่ เช่นการเจ็บป่วย ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งไม่เคยถูกหักออกจากกำไรเลย สหภาพแรงงานจะเชื่อมโยงการต่อสู้อย่างไรให้มีอำนาจต่อรองที่จะขยายไปสู่มิติสากล”

ซึ่งหลังจากการอภิปรายเสร็จสิ้น ทางมหาวิทยาลัยเที่ยงคืนได้มอบเหรียญเจริญ วัดอักษร พร้อมเงินจำนวน 2 หมื่นบาท เช่นเดียวกับ กลุ่มผู้ต่อสู้ “หินกรูด บ่อนอก” ที่ได้มอบเงินอีกจำนวนหนึ่งให้กับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ เพื่อนำไปใช้ในการบำรุงสหภาพต่อไป

ที่มา : http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=268:2009-08-24-03-31-35&catid=32:rachdmenin-talk&Itemid=25