Google
 

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

Bra story เซ็กซี่บนรอยน้ำตาโดย : ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ



ทิพย์พิมล เกียรติวาทีรัตนะ


ต้นทางของ "บรา" ไม่ใช่ห้างสรรพสินค้า แต่มาจากฉันทนาตัวเล็กๆ ที่รักและทุ่มเต็มร้อยกับอาภรณ์ชิ้นน้อย สุดท้ายสิ่งที่พวกเธอได้รับคือซองขาว

เวลาเลือกซื้อ "บรา" สักตัว คุณเลือกจากอะไรบ้าง?

คุณภาพ สีสัน เนื้อผ้า ราคา หรือ ความเซ็กซี่

ไม่ต้องรีบตอบตอนนี้ก็ได้...

มีใครบางคนอยากแนะนำให้รู้จัก

40 ขั้นตอน ก่อนเป็นยกทรง

จะเรียกว่าเป็น "ซือเจ๊" ของโรงงานก็ว่าได้ สำหรับสาวๆ ลายคราม สามคนนี้

ธันยนันท์ ประเสริฐสังข์, เยือง แก้วบัวดี และ สุรินทร์ หงษ์กลัด มือวางอันดับ 1 เรื่องเย็บชุดชั้นในของบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph) ,วาเลนเซีย (Valinsere) , สล็อกกี้ (Sloggi) , อาโม (AMO) และ ออท (HOM)

สองคนแรกอายุ 49 ขณะที่คนหลังมากับวัย 52 อายุงานแต่ละคนเฉลี่ย 20 ปี มีเสื้อยกทรง กางเกงชั้นใน และชุดว่ายน้ำผ่านมือมาแล้วนับแสน แต่ถ้าถามว่าชอบเย็บอะไรมากที่สุด

"บรา" พวกเธอตอบ

ก่อนจะย้ายฐานการผลิตมาที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี โรงงานแห่งแรกอยู่ที่สีลม สร้างขึ้นเพื่อรองรับการผลิต "ชุดชั้นใน" เป็นอันดับแรก และ ธันยนันท์ก็เข้ามาเป็นพนักงานใหม่ด้วยค่าแรงวันละ 28 บาท เมื่อ 22 ปีก่อนพร้อมกับเพื่อนร่วมงานราวๆ 150 คน

"รู้ไหม เสื้อใน 1 ตัวมีถึง 40 ขั้นตอน" ธันยนันท์เริ่มต้นเล่ากระบวนการผลิต ด้วยชั่วโมงบินที่สูงกว่าคนอื่น

เพราะคนงาน 1 คนไม่ใช่จะเหมาทำไปเลย 1 ตัว แต่จะซอยย่อย แจกจ่ายหน้าที่ไปตามสเต็ป กระทั่งโบเล็กๆ ที่ติดระหว่างอกเสื้อ ยังกินเวลาถึง 3 ขั้นตอน

เริ่มจากหัวหน้างานหรือซูเปอร์ไวเซอร์รับงานมา แบ่งออกเป็น 40 ขั้นตอน ดูว่าคนไหนถนัดอะไรก็แจกจ่ายงานให้คนนั้น พร้อม "คูปองเวลา" หรือเวลาที่ควรจะทำงานชิ้นนั้นๆ ...แนบมาด้วย

"คนที่ 1 จะเย็บ คนที่ 2 ล้มตะเข็บ จากนั้นแปะโปโล (ทรงบาง) ประกอบขึ้นเป็นชิ้น แพครอบข้างในประกบผ้านิ่ม วนเข็มเดี่ยวให้ทรงกับตัวเสื้อติดกัน แปะข้าง ใส่ฟองน้ำ เย็บยางใต้รักแร้ ยางใต้ทรง ล้มโบไวด์ (Bow wire) ใส่โครงเหล็ก ปิดบราหัวท้าย ถ้ามีตะขอก็แปะตะขอ เกี่ยวสายไหล่ ติดไซส์แพ็ก ติดนัมเบอร์ โอ๊ย อีกเยอะแยะ" สุรินทร์ขี้เกียจอธิบายต่อเพราะอีกหลายอย่างเป็นศัพท์เฉพาะ

ยากที่สุดต้องยกให้การใส่โครงเหล็ก ซึ่ง "เยือง" ถือเป็นมือวางอันดับต้นๆ ของขั้นตอนนี้ แต่ก็มีของแถมคือ "นิ้วคด" กลับมา

"ตึงไปก็ไม่สวย หย่อนไปก็ไม่ได้ ต้องพอดี" เยืองบอกสั้นๆ ตามประสาคนพูดน้อย จนเพื่อนอย่างสุรินทร์พูดสวนขึ้นมาว่า "ยากไม่ยากดูนิ้วสิ งอเลย ตั้งนานนะกว่าจะยอมไปหาหมอ"

คนถูกดุสารภาพว่า กลัวโดนผ่านิ้ว ไม่ใช่เพราะกลัวเจ็บแต่กลัวมีคนอื่นมาแย่งตำแหน่งงานไป ในระหว่างพักฟื้นหลายเดือน

"เดี๋ยวมีน้องใหม่ขึ้นมาแทนแล้วทำนาทีได้เร็วกว่า คือเราอายุเยอะแล้ว แรงมันก็ย่อมถอย เราเลยต้องทน มีอยู่ครั้งหนึ่งแม่ป่วย ช็อก พาเข้าโรงพยาบาลกลางดึก เช้ามารีบให้น้องสาวมาเฝ้าแทน ตัวเองรีบไปทำงานตอนเจ็ดโมงเช้า" เยืองยังถ่อมตัวว่า ทุกขั้นตอนสำคัญหมด เพราะถ้าขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่งเสีย ก็จะถูกตีกลับไปทำใหม่ งานรวนไปทั้งกระบวน

"เย็บลูกไม้เกินไป 1 มม.ก็ไม่ได้ ตีกลับไปทำใหม่" ธันยนันท์ย้ำถึงความละเอียด

ใน 1 ปี ทั้งสามสาว (ใหญ่) แทบจะไม่มีใครยอมหยุดงานเลย สุรินทร์ใช้คำว่า "ป่วยก็ต้องลากสังขารมา" ส่วนธันยนันท์ บ้านไกลถึงรังสิต ครั้งหนึ่งเคยตื่นสาย ตกรถบัสรับ-ส่งพนักงาน พนักงานดีเด่นวัยริมๆ 50 ก็ต้องจับแท็กซี่ ดั้นด้นมาจนถึงบางพลี

"มากกว่าค่าแรงเราอีก แต่ก็ต้องมา" เธอบอก

มาถึงบรรทัดนี้ สงสัยหรือไม่ว่า ทำไมสามสาวถึงขยันและรักงานมากขนาดนี้ ถ้าคิดประกอบกับเบี้ยปี กรณีไม่ลา ไม่ป่วยและไม่สาย ได้ 1,200 บาท หรือเบี้ยเดือนราวๆ 450 บาท ก็อาจจะไม่ค่อยคุ้มด้วยซ้ำ

แต่เพราะที่นี่ใช้ระบบการทำงานแบบ "นาทีคูปอง"

รีบ รีบและรีบ เพื่อนาทีคูปอง

ฟังชื่อเหมือนลุ้นโชค แต่จริงๆ ทำเอาพนักงาน "บักโกรก" กันเป็นแถว

เพราะระบบคูปองนาที หมายความว่า จะจ่ายค่าแรงแบบเหมารายชิ้น

"แต่ละขั้นตอนที่ได้รับมอบหมาย จะมาพร้อมกับจำนวนนาทีที่กำหนดให้ทำเสร็จ สมมติเราได้ขั้นตอนติดโบ ได้โบมา 20 ชิ้นกับคูปอง 20 นาทีก็ต้องทำให้เสร็จภายใน 20 นาที ซึ่งเขากำหนดให้วันหนึ่งเราต้องทำได้ 480 นาที ถ้าไม่ได้ก็จะได้เป็นค่าแรงขั้นต่ำ (355 บาท/วัน) แต่ถ้าได้ ก็จะเอานาทีที่เกินคูณด้วย 1.03 บาท" บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นนัล ช่วยขยายความ

ถ้าใครทำไม่ได้ก็จะโดนหัวหน้าเรียกไปว่า ขณะเดียวกัน เพื่อนๆ ที่อยู่ขั้นตอนก่อนหน้าหรือทีหลัง เมื่อเห็นว่าเพื่อนทำไม่ได้ซึ่งจะส่งผลถึงจำนวนชิ้นงานของตัวเองด้วยก็จะช่วยกดดันไปโดยไปปริยาย

จึงไม่แปลกถ้าจะมีพนักงานบางคนเย็บไป ร้องไห้ไป...ธันยนันท์บอก

เนื่องจากเป็นระบบที่ดึงดูดให้พนักงานอยากทำชิ้นงานให้ได้เยอะๆ ไม่มีใครอยากได้แค่ค่าแรงขั้นต่ำ ทุกคนจึงรีบ รีบ และรีบ ไม่ดื่มน้ำถ้าไม่หิวจริงๆ ไม่เข้าห้องน้ำไม่ว่าจะหนักหรือเบา อั้นเอาไว้ก่อน และจะไม่ทานอะไรที่เสี่ยงว่าท้องจะเสีย เวลาพักเที่ยงก็จะทำจนยามเป่าไล่ รีบกินข้าวให้หมดไวๆ ก่อนขึ้นมาทำใหม่ ไม่ต้องพูดถึงตอนเช้า คนงานที่นี่มักมาออกันหน้าประตูก่อนโรงงานจะเปิดร่วม 20 นาที จะได้มีเวลาทำงานนานขึ้น

รางวัลแห่งความขยันคือ โรคไต กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กรวยไตอักเสบ และความเครียด

ขึ้นชื่อว่าชุดชั้นใน แต่ละขั้นตอนเรียกร้องความละเอียดสูง มือต้องเบา สมาธิต้องดี และมีใจรัก

"ไม่รักทำไม่ได้หรอก ขั้นตอนละเอียด ยิบย่อยเยอะมาก และที่สำคัญต้องออกมาสวย" สุรินทร์พูดแทนเพื่อน

ความสวย เป็นคุณสมบัติที่เรียกร้องมากขึ้นเรื่อยๆ ตามเทรนด์แฟชั่นที่ฟาดหางมาถึงชุดชั้นใน

"พอเน้นแบบแฟชั่นมากขึ้น งานก็ยากขึ้น ซับซ้อน เย็บยาก ลวดลายไม่ซ้ำ ลอตหนึ่งมีมาไม่เยอะ 2,000 ตัว 5,000 ตัว แถมจะเอาภายใน 3 วัน 5 วัน ยากแค่ไหนเราก็ต้องเร่งทำให้ แต่ขอโทษ คูปองนาทีไม่เคยเพิ่ม มีแต่ลด" เมื่อเปรียบเทียบกับงานลอตใหญ่ หลักหมื่นตัวขึ้นไป จะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมาด้วยลายพื้นๆ ชนิดที่คนเก่า "เคยมือ" แล้ว

480 นาทีต่อวันจึงยากขึ้น มากกว่านั้น คนพูดน้อยอย่างเยือง ยังอดไม่ได้ที่จะเล่าให้ฟังว่า ด้วยระบบงาน ณ ปัจจุบัน จะไม่ค่อยมีใครได้ทำแต่งานถนัด หรือพูดง่ายๆ ถ้าเริ่มชินมือแล้วก็จะถูกหัวหน้างาน เปลี่ยนให้ไปทำขั้นตอนใหม่ที่ยังไม่คุ้น

"ถ้าชินมือ เราจะทำเสร็จเร็ว ก็จะถูกลดนาที หรือถ้าเราทำได้เยอะ ลอตใหม่เขาจะไม่ให้เราทำแล้ว ให้คนใหม่ทำ แล้วไปลดนาทีเขาอีก" เมื่อระบบเป็นอย่างนี้ ก็จะมีคนหัวใสอยากใช้ทางลัด พยายามเข้าทาง เอาอกเอาใจหัวหน้า เผื่อกรณีได้งานยากจะได้เจรจาให้ง่ายขึ้น

ความสุขที่ไม่เคยได้ใส่

แต่จนแล้วจนรอด ก็ไม่มีใครคิดอยากออกจากงาน...

ชื่อเสียงและความมั่นคงของบริษัทเป็นเหตุผลหนึ่ง แต่ก็มีอีกเรื่องที่สำคัญกว่า

"เสื้อในที่เราทำออกไปแต่ละตัว เราทำด้วยใจ ไม่ได้สักแต่ว่าทำ ถ้าคนไม่รักทำไม่ได้ เพราะถ้ารักแล้วจะทำได้ดี มันมีความสุขนะเวลาได้เห็นงานเสร็จแล้วออกมาสวย" สุรินทร์เผยความรู้สึก

...แม้จะเป็นความสุขที่ไม่เคยได้ใส่เลยก็ตาม

"คนทำชุดชั้นในที่ส่งขายไปทั่วโลก ไม่มีสิทธิซื้อใส่เพราะราคาแพงมาก ถึงจะมีลอตโควตาขายพนักงานก็เอาที่ผลิตที่เวียดนามมาขายซึ่งคนละเกรด หรือไม่ก็ต้องรอห้างโละแล้วมาขายให้ถูกๆ แต่ก็ใส่ได้ไม่นาน ยางมันยืด เสื่อมเร็ว" บุญรอด บอก

ถึงอย่างนั้น เวลาที่เดินไปตามห้างสรรพสินค้า ผ่านแผนกชั้นในสตรี ก็ยิ้มทุกครั้งเมื่อเห็นผลงานตัวเองแขวนขายพร้อมติดป้ายราคาแพงลิบลิ่ว

"เราก็โอ้โห ตัวละตั้งสองพัน ได้แต่ภูมิใจเงียบๆ ว่านั่นน่ะงานเรา" ธันยนันท์ยิ้มๆ

"เรามองเองยังมีความสุขเลย แล้วคนที่เขาซื้อไปใส่ก็น่าจะมีความสุขเหมือนเราด้วย" สุรินทร์ คิดอย่างนั้น

หากวันนี้ความสุขของทั้งสี่คนกับเพื่อนๆ อีก 1,954 คน มีอันต้องจบลงไปดื้อๆ เพราะจู่ๆ ทางต้นสังกัดบอกเลิกจ้างเมื่อประมาณ 2 เดือนที่ผ่านมา สืบเนื่องมาจากการปรับโครงสร้างกิจการทั่วโลก

เวลาประมาณ 01.00 น. ของคืนวันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน ผู้โชคร้ายได้รับข่าวผ่านข้อความสั้นในโทรศัพท์มือถือให้มาร่วมรับฟังข้อเท็จจริงจากบริษัท ที่ไบเทค บางนา ในเช้าวันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน

"พอไปถึง คนที่มาแจกซองเป็นทหารใส่ชุดดำ พกอาวุธ ก่อนเข้าไปมีการตรวจกระเป๋า ขวดน้ำก็ไม่ให้เอาเข้า คิดดู ใครมันจะพกอาวุธไป เราเองยังไม่รู้เลยว่าไปทำอะไร"

เลขาฯ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ อธิบายเสริมว่าในจำนวน 1,959 คนนี้ แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ 1.ขาด ลา มาสาย 2.คนท้อง 3. อายุงานมาก และ 4.เจ็บป่วยจากการทำงาน ซึ่งธันยนันท์ สุรินทร์และเยือง เข้าข่ายสองข้อหลัง รวมทั้งบุญรอดเองด้วย ในฐานะที่เป็นแกนนำสหภาพฯ

"เราเคยช่วยกันคำนวณต้นทุนยกทรง 1 ตัว ตั้งแต่การนำเข้าวัตถุดิบ ค่าตัด เฉลี่ยตัวหนึ่งแค่ 40 บาท แต่เขาขายตัวละ 1,000-2,000 ส่วนต่างมันหายไปไหน แล้ววันหนึ่ง ต่อไลน์งานออกไม่ต่ำกว่า1,000 ชิ้น ทั้งโรงงานมีทั้งหมด 57 ไลน์ ลองคิดดูว่าบริษัทได้กำไรเท่าไหร่" ข้อมูลจากบุญรอด

เงินชดเชยที่ได้มาจากบริษัท บุญรอดไม่บอกเป็นตัวเลข แค่เปรียบเทียบให้ฟังว่าเท่ากับชุดว่ายน้ำดีๆ 40 ตัว

"สิ่งที่เราทุ่มเทมาตลอดมีค่าแค่ชุดว่ายน้ำ 40 ตัว" เลขาฯ สหภาพ ทวนซ้ำ

ถึงจะสิ้นสถานภาพคนงานไปแล้ว วันนี้ทั้งสี่คนยังมาโรงงานตามปกติ ต่างก็แต่ ไปอยู่แค่หน้าโรงงาน ตั้งเต็นท์ชุมนุมเรียกร้องความเป็นธรรม

เมื่อเจอคำถามคลาสสิคว่า "จะทำอย่างไรต่อไป"

คนถูกถามได้แต่ส่ายหน้ายิ้มๆ ก่อนจะตอบกลับมาว่า "ไม่รู้ ตอนนี้ทำอย่างเดียว นั่งมองบริษัทคิดว่า ทำไมเขาทำกับเราได้ วันศุกร์ยังทำโอที ไม่มีวี่แวว ปุ๊บปั๊บ ไม่กี่ชั่วโมงแมสเสจมาบอกเลิกจ้าง แสนสามคุ้มไหมล่ะกับทั้งชีวิต" ธันยนันท์ถามกลับ

เรื่องนี้ คนตอบกลับตอบไม่ได้ แต่ก็อยากจะถามซ้ำอีกครั้งว่า...

เวลาเลือกซื้อ "บรา" สักตัว คุณเลือกจากอะไรบ้าง?

•No bra , No way

เป็นคนรุ่นใหม่ไม่กี่คนที่มีโอกาสได้เข้ามารับรู้ว่า ต้นทางของบราเซียร์สักตัวนั้น ไม่ใช่แค่ห้างสรรพสินค้า

สุลักษณ์ หลับอุบล สาวน้อยปี 4 จากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เข้าร่วมกับ Food Not Bombs กลุ่มอาหารทางสันติ กลุ่มการเคลื่อนไหวทางสังคม ที่มีกิจกรรรมหลักคือแจกจ่ายอาหารมังสวิรัติโดยไม่คิดมูลค่าในที่สาธารณะ ซึ่งรวมถึงเต็นท์หน้าโรงงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ด้วย

ปกติ นิสิตสาวจากรั้วจามจุรีจะซื้อชุดชั้นในตามห้างสรรพสินค้า เน้นเป็นพิเศษตรงกระบะลดราคา แต่ก็เลือกจากราคา คุณภาพ และแบรนด์ โดยก่อนหน้านั้น ไทรอัมพ์คือหนึ่งในไม่กี่ห้อที่สุลักษณ์เลือกซื้อ

"แต่ก่อน ตอนซื้อคิดแค่ว่าเราจะได้ของดีมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน แต่พอมาได้มารู้เรื่องราวของพวกพี่ๆ ที่นี่ เราก็เริ่มสงสัยและตั้งคำถาม"

คำถามของสุลักษณ์มาจากราคาเฉลี่ยต่อ 1 ตัวที่เคยซื้อ ไม่ต่ำกว่า 500 บาท พอนำมาเปรียบเทียบกับค่าแรงคนงานประมาณ 355 บาท แล้วยังถูกนายจ้างบอกเลิกจ้าง โดยอ้างว่าขาดทุนจากพิษเศรษฐกิจ

"พอรู้ต้นทุนจากพวกพี่ๆ คนงาน เราก็ยิ่งสงสัยว่าแล้วส่วนต่างระหว่าง 40 กับ 500 มันไปไหน ไม่ได้ตกอยู่กับคนงานด้วย"

ก่อนหน้านั้น สุลักษณ์เคยคิดว่า ถ้าไม่ชอบสินค้าใด ก็จะแก้ปัญหาด้วยการไม่ซื้อ

"แต่การมาชุมนุมกันอย่างนี้ ด้วยปัญหาอย่างนี้ มันทำให้รู้ว่า ปัญหาไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราซื้อหรือไม่ซื้อ แต่มันขึ้นอยู่กับความเข้มแข็งของสหภาพแรงงานและกฎหมายแรงงานมากกว่า และก็อาจจะไม่ได้มีแค่แบรนด์นี้ที่ทำกับคนงานแบบนี้"

สุลักษณ์ ยอมรับว่า "โนบรา" คือตัวเลือกหนึ่งที่เธอเคยคิด แต่ก็ตกไปเพราะอย่างไรก็เป็นของจำเป็นที่ยังต้องใช้

"ในโลกทุนนิยม เรายังต้องซื้อต้องใส่ แต่ก็ถามตัวเองต่อไปว่า มีอะไรที่เราพอจะช่วยพวกพี่ๆ ได้ไหม ก็เลยมาร่วมกิจกรรมตรงนี้ แล้วเอาข้อมูลที่ได้มาไปเล่า แลกเปลี่ยนให้เพื่อนๆ ที่คณะได้รับรู้ด้วย"

ผลก็คือ..

"เขาก็ยังไม่รู้สึกว่ามันเกี่ยวกับเขาเท่าไหร่ เขายังคิดว่ามันห่างกัน" แต่อย่างน้อย สุลักษณ์ก็รู้แล้วว่า เธอและพี่ๆ สหภาพมีความเกี่ยวข้องกันอย่างไร


ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/life-style/lifestyle/20090806/66394/Bra-story-à¹à¸à¹à¸à¸à¸µà¹à¸à¸à¸£à¸­à¸¢à¸à¹à¸³à¸à¸².html