Google
 

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ผู้บริหารไทรอัมพ์ย่องเปิดสัญญาณเตือนภัย ทำคนงานเจ็บระนาว

Thu, 2009-11-19

เมื่อวันที่ 17 พ.ย.52 เวลาประมาณ 9.00 น. ที่บริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด อ.บางพลี สมุทรปราการ ผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อดัง “ไทรอัมพ์” (รวมถึงยี่ห้อ วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น) ได้เกิดเหตุสัญญาณเตือนกรณีเหตุฉุกเฉินดังขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ จนเป็นเหตุให้พนักงานบาดเจ็บตามที่ได้รับการส่งตัวเขาโรงพยาบาล 129 คน ในจำนวนนี้มีคนท้อง 8 เดือน กำหนดคลอด 23 ธันวานี้ ต้องรอดูอาการจากแพทย์อย่างใกล้ชิด มีคนพึ่งไปผ่าตัดมาแล้วเกิดแผลฉีก หลังจากหนีตายตามสัญญาณเตือน โดยทยอยเข้าโรงบาลจุฬารัตน์ 3 กับ จุฬารัตน์ 5 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นอาการแผลถลอก ฝกช้ำ ส่วนคนงานที่เหลืออยู่ในอาการขวัญผวาไม่สามารถทำงานต่อได้ โดยปฏิบัติการครั้งนี้ผู้บริหารชี้แจ้งว่าเป็นการซ้อมอพยพหนีไฟ แต่ในการซ้อมครั้งนี้ไม่มีการแจ้งเจ้าหน้าที่แรงงานจังหวัด สหภาพแรงงาน รวมถึงคณะกรรมการความปลอดภัยก่อนการซ้อมตามกฏหมาย

ทั้งนี้หลังจากเหตุการณ์สงบไม่นานที่โรงอาหารในบริษัท ทางนายลีโอนาโด้ อินโนเซนซี (Leonardo innocenzi) ตำแหน่ง Corporate Head of Supply Chain ได้ออกมาชี้แจงกับพนักงาน โดยมี นาวาเอก พิชเยนทร์ ตันประเสริฐ ผู้จัการฝ่ายผลิต เป็นผู้แปลและชี้แจงเสริม ความว่า ในสภาวะแวดล้อมในโรงงานของเรา เราพยายามจะทำให้มันน่าอยู่ แต่อย่างไรก็ตามมันมีอันตรายแฝงอยู่ในนั้น จากประสบการณ์ที่เดินทางทั้วโลก ได้เจอ อย่างเมื่อ 2 เดือนที่แล้วมีเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานขนาดเล็กกว่าไทรอัมพ์ฯ มีคนตาย 55 คน อยู่ในประเทศโมร็อคโค คนที่ตายได้ทิ้งคนที่อยู่ข้างไว้ ทิ้งลูกทิ้งเมียไว้ เพราะว่าเขาไม่รู้ว่ามันจะทำอย่างไรเมื่อเกิดไฟไหม้



วันนี้ที่จับเวลาคนที่หนีออกมาแรกๆ ใช้เวลา 4 นาที แต่คนสุดท้ายที่ออกมาใช้เวลา 10 นาที ตามปกติจะต้องออกมาได้ภายใน 2 นาที ไม่อย่านั้นแล้วจะเสียชีวิตในที่เกิดเหตุได้ มีเหตุผล 3 ข้อในการปฏิบัติการครั้งนี้ หนึ่ง ผมมีความรับผิดชอบ ทั้งด้านคุณธรรม ศีลธรรม และตามกฏหมายที่ต้องรับผิดชอบต่อชีวิต ความอยู่รอกของพวกพนักงาน สอง ผมต้องการให้พนักงานเดินทางกลับบ้าน เหมือนกับที่เดินทางมาทำงาน สาม เพราะฉะนั้นผมต้องการความมั่นใจว่าถ้าหากมีอะไรเกิดขึ้นแล้ว พนักงานจะรู้ว่าควรจะทำอย่างไร และจะต้องป้องกันตัวเองจากอันตรายเหล่านั้นได้เป็นอย่างดี

“นี่คือเหตุผลที่เราซ้อมอพยพโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้า” นายลีโอนาโด้ อินโนเซนซี กล่าวทิ้งท้ายในการชี้แจง

ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับการบาดเจ็บจากการแอบกดสัญญาณไฟเตือนในครั้งนี้ได้ทยอยกันเข้าการตรวจและรักษาตัวที่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 และ จุฬารัตน์ 5 จำนวน 129 คน ในวันเกิดเหตุ และวันรุ่งขึ้นได้มีคนงานเข้ารับการรักษาตัวเพิ่มอีก 5 คน ส่วนใหญ่เป็นอาการฟกช้ำ ถลอก อ่อนเพลีย เป็นลม ช๊อคและหายใจไม่ทัน เป็นต้น ทั้งนี้ยังคงมีคนงานที่นอนค้างคืนรับการรักษา ให้น้ำเกลือและออกซิเจน อยู่ที่ โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 จำนวน 3 คน โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 5 จำนวน 2 คน ส่วนคนท้องได้เข้ารับการรักษาตัวและสังเกตุอาการอย่างใกล้ชิดที่โรงพยาบาลท่าพระ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่ได้รับการฝากครรภ์ไว้ ขณะนี้ยังรอดูอาการเด็กและแม่เด็กอยู่ว่าจะต้องเข้ารับฝ่าตัดหรือไม่

จากการสอบถามพนักงานที่ประสบเหตุและคอยดูแลเพื่อที่เข้ารับการรักษาพยาบาล เล่าว่า ขณะเกิดเหตุมีคนที่เคยฝ่าตัดหัวใจรั่วมาแล้ว เกิดล้มขณะวิ่งหนีตาย เกิดอาการช๊อกและหายใจไม่ทันจึงต้องเข้าโรงพยาบาลทันที ขณะนี้ยังรอดูอาการอยู่ ส่วนอีกคนที่เป็นไข้อยู่แล้ว มาช่วยระวังให้คนท้องเกิดไหล่ไปชนกับประตูหนีไฟอย่างแรง จนขยับแขนไม่ได้ คาดว่าอาจหักต้องรอหมอตรวจละเอียดอีกที อีกทั้งในครั้งนี้มีคนงานที่ย้ายมาจากเทพารักษ์หลังการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน และประสบเหตุการณ์อพยพเป็นครั้งแรก ทำให้ยิ่งเกิดการชุลมุนมาก





ภาพผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 5




ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้มีโอกาสสัมภาษณ์ สุจิตรา ช้อยขุนทด ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ผู้อยู่ในเหตุการณ์ เล่าว่า วันนี้ (18 พ.ย.) ยังมีคนไปหาหมอเมื่อเช้า 4-5 คน แต่เมื่อวานไป 129 คน ยังนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 5 จำนวน 2 คน ส่วนจุฬารัตน์ จำนวน 3 คน ส่วนคนท้องอยู่โรงพยาบาลท่าพระ ซึ่งวันนี้คนงานที่อยู่ในโรงงานยังคงขวัญผวาอยู่ ยังตื่นตระหนก ยังทำงานไม่ค่อยได้

เมื่อถามท่าทีของสหภาพแรงงานต่อเรื่องนี้ สุจิตรา เห็นว่าน่าจะมีการดำเนินเรื่องและเอาผิดทางกฏหมาย บริษัทต้องจ่ายค่าเสียหาย รวมถึงค่าทำขวัญแก่พนักงานทุกคน ไม่ใช้จ่ายเพียงค่ารักษาพยายาลและค่ารถกลับบ้าน ทางสหภาพได้สอบถามไปว่าเกิดอะไรขึ้น Leo ก็บอกว่าเป็นการซ้อมหนีภัย มีคนรู้เห็นเหตุการณ์เพียง 5 คน แต่พอทางเราจี้ไปว่าใครบ้างที่รู้เห็นในเรื่องนี้ ทางคุณ Leo กลับตอบว่า ไม่ต้องถามว่ามีใครบ้าง แต่จะรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว

“เขาพุดในที่ประชุม เขาต้องการให้พนักงานกลับบ้านด้วยความปลอดภัย แต่การกระทำแบบนี้ไม่ควรเอาชีวิตพนักงานมาเสี่ยง อย่างน้อยก็ต้องแยกคนป่วย คนท้องที่มีมากออกมาก่อน เหตุการณ์แบบนี้เท่าที่อยู่มา 10 กว่าปี ไม่เคยมีในบริษัทไทรอัมพ์ การฝึกซ้อมก็ต้องแจ้งล่วงหน้าทุกครั้ง โรงงานอื่นก็ก็มีการซ้อม เขาก็เอาคนท้อง คนป่วยออกมา บริษัทอื่นๆที่เคยอยู่มาก็จะแจ้งเจ้าหน้าที่ความปลอดจังหวัด ต้องมีการแจ้งล่วงหน้า 1 เดือน รวมถึงมีการประชุมอบรมกรรมการความปลอดภัยก่อน ให้พนักงานทดสอบช่องทางหนีภัยก่อน” สุจิตรา กล่าว

ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวถึงการช่วยเหลือของสหภาพต่อผู้ได้รับบาดเจ็บว่า มีกรรมการสหภาพที่กำลังถุกบริษัทขออำนาจศาลเลิกจ้างพร้อมคนงาน 1,959 คน และอนุกรรมการสหภาพแรงงานที่ยังคงได้ทำงานอยู่ ได้พาคนเจ็บไปโรงพยาบาล ในตอนแรกบริษัทเพียงจัดรถรับส่งคนเจ็บให้ และมีเพียงผู้บริหารชาวไทยเพียงคนเดียวที่คอยดูอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 5 ส่วนโรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3 มีเพียงอนุกรรมการสหภาพแรงงานเท่านั้นที่ดูแลคนเจ็บ

สุจิตรา เล่าถึงความรู้สึกของตนเองในตอนนี้ว่ารู้สึกว่าแย่มากที่บริษัททำแบบนี้ คิดว่าบริษัทอาจมองไม่เห็นว่าพนักงานเป็นคนในครอบครัว มองว่าจะทำอะไรกับพนักงานก็ได้ อยากให้สังคมได้ทราบว่าบริษัททำแบบนี้มันไม่ถูกต้องตามกฏหมายและมันก็เสี่ยงเกินไป ถ้าหากพนักงานคนใดคนหนึ่งเสียชีวิตไป นั่นจะกระทบถึงครอบครัว คนอีกหลายคนด้วย

จากการที่สอบถามสามีของคนท้องที่นอนอยู่ในโรงพยาบาลเขามองว่า ไม่น่าเอาชีวิตลูกเมียเขามาเสียงแบบนี้ มันโหดร้ายเกินไปที่ทำกับผู้หญิงท้องแบบนี้ กรณีคนพึ่งผ่าตัดหัวใจ มาทำงานไม่ถึง 2 อาทิตย์ ตอนเกิดเหตุกช๊อคเป็นลมไปเลย กลับมาแล้วก็ต้องกลับเข้าโรงพยาบาลอีก แต่ผู้บริหารกลับแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่าพนักงานที่อาการหนักก็เพราะเป็นโรคประจำตัวอยู่แล้ว

“วันนี้ไปถามผู้บริหารว่าบริษัทจะรับผิดชอบอะไร แล้วสหภาพแรงงานขอรายงานการประชุมของผุ้บริหารเรื่องนี้ด้วย ผู้บริหารชี้แจงว่าความรับผิดชอบของเขาคือ จ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าเดินทางกลับบ้าน พอเราถามถึงค่าทำขัวญพนักงานทั้งหมด แต่เขากลับตอบว่าแค่รักษาพยาบาลกับค่าเดินทางกลับบ้านก็พอเพียงแล้ว” สุจิตรา กล่าวทิ้งทาย






ข้อปฏิบัติและกฏหมายที่เกี่ยวข้อกับระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และการฝึกซ้อมดับเพลิง รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับ ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และการฝึกซ้อมดับเพลิง
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การป้องกันและระงับอัคคีภัยในสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานสำหรับลูกจ้าง พ.ศ. 2534 หมวด 8 ระบบสัญญาณแจ้งเหตุเพลิงไหม้และการฝึกซ้อมดับเพลิง ข้อ 36 วรรคสอง ซึ่งวางหลักว่า "ในกรณีที่นายจ้างจัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงหรือฝึกซ้อมหนีไฟเอง ให้ส่งแผนและรายละเอียดเกี่ยวกับการฝึกซ้อมต่ออธิบดี เพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการฝึกซ้อมไม่น้อยกว่าสามสิบวัน"

แต่ประกาศนี้ ไม่มีบทลงโทษ มีแค่ ข้อ 39 ซึ่งวางหลักว่า "เมื่อปรากฏว่านายจ้างหรือลูกจ้างฝ่าฝืนประกาศนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่อาจให้คำเตือนเพื่อให้ปฏิบัติให้ถูกต้องภายในเวลาที่กำหนดไว้ในคำเตือนเสียก่อนก็ได้" (อ่านประกาศเพิ่มเติมที่ http://dpc5.ddc.moph.go.th/Data/data07.20.html)

ความผิดเกี่ยวกับการกระทำอันตรายต่อสตรีมีครรภ์
มาตรา 303 ผู้ใดทำให้หญิงแท้งลูกโดยหญิงนั้นไม่ยินยอม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงรับอันตรายสาหัสอย่างอื่นด้วย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองหมื่นบาท
ถ้าการกระทำนั้นเป็นเหตุให้หญิงถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงสี่หมื่นบาท

ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย
มาตรา 295 ผู้ใดทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจของผู้อื่นนั้น ผู้นั้นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นเป็นอันตรายสาหัส
มาตรา 300 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ลหุโทษที่อาจเกี่ยวข้องกับกรณีนี้
มาตรา 370 ผู้ใดส่งเสียง ทำให้เกิดเสียงหรือกระทำความอื้ออึง โดยไม่มีเหตุอันสมควร จนทำให้ประชาชนตกใจหรือเดือดร้อน ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งร้อยบาท
มาตรา 390 ผู้ใดกระทำโดยประมาท และการกระทำนั้นเป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ



ที่มา : http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26676