Google
 

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

แรงงานไทรอัมพ์ไทย-ฟิลิปปินส์นัดยื่นหนังสือสถานทูตพร้อมกัน

Tue, 2009-08-25 15:42

พนักงานไทรอัมพ์ที่ถูกเลิกจ้างทั้งในประเทศไทยและฟิลิปปินส์นัดยื่นหนังสือพร้อมกัน โดยพนักงานไทรอัมพ์ในไทยยื่นหนังสือที่สถานทูตฟิลิปปินส์ ส่วนพนักงานไทรอัมพ์ในฟิลิปปินส์ยื่นหนังสือที่สถานทูตไทย เรียกร้องให้รัฐบาลของทั้งสองประเทศดูแลปัญหาเลิกจ้างคนงานไทรอัมพ์


สมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลหน้าสถานเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย
เมื่อ 25 ส.ค. ที่ผ่านมา

ตัวแทนจากสถานทูตฟิลิปปินส์รับหนังสือ


สหภาพฯ ไทรอัมพ์ชุมนุมหน้าสถานทูตฟิลิปปินส์เรียกร้องให้ช่วยเพื่อนที่มะนิลาถูกเลิกจ้าง
วานนี้ (24 ส.ค.52) เวลา 9.00 น. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยได้มายื่นหนังสือต่อสถานทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย เลขที่ 30/1 ถ.สุขุมวิท เรียกร้องให้รัฐบาลฟิลิปปินส์เข้าไปดูแลและแก้ปัญหากรณีคนงานไทรอัมพ์ที่ฟิลิปปินส์ถูกเลิกจ้าง 1,600 คน

จากนั้นเวลาประมาณ 9.30 น. ทางสถานทูตฯได้เชิญตัวแทนของสหภาพแรงงานฯ 2 คน เพื่อเข้าไปพบกับตัวแทนของสถานทูตฯและยื่นหนังสือเรียกร้องดังกล่าว

เวลา 10.00 น.ตัวแทนของสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ 2 คน ได้ออกมาจากสถานทูตฯ พร้อมกับชี้แจงให้กับผู้ที่ชุมนุมอยู่หน้าสถานทูตดังกล่าว โดย น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้เปิดเผยว่า ตัวแทนของสถานทูตฯ ที่มาพูดคุยและมารับหนังสือนั้นเป็นเพียงเบอร์ 2 ของที่นี่ ส่วนเบอร์ 1 นั้นยังไม่ได้เขามาทำงานตอนนี้ โดยในช่วงแรกทางตัวแทนของสถานทูตฯได้กล่าวว่า “รู้สึกแปลกใจเหลือเกินว่าทำไมพวกเราถึงมาที่นี่กัน” แต่พอหลังจากตนได้ชี้แจงถึงเหตุผลที่มาว่า นายจ้างไทรอัมพ์เป็นบริษัทข้ามชาติที่มีการเปิดโรงงานทั่วโลก รวมถึงฟิลิปปินส์ด้วย โดยในขณะนี้ที่ฟิลิปปินส์มีการปิดโรงงาน พร้อมทั้งเลิกจ้างคนงานถึง 1,600 คน แต่ยังมีการคงเหลือหัวหน้างานไว้ 100 กว่าคน ทำให้ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯที่ฟิลิปปินส์มองว่าการคงไว้ดังกล่าวหลังจากมีการเลิกจ้างและทำลายสหภาพเรียบร้อยแล้ว ก็เพื่อเปลี่ยนการจ้างงานเป็นแบบเหมาช่วง หรือไม่ก็ย้ายไปผลิตในเขตที่ไม่สามารถตั้งสหภาพแรงงานได้

โดยหลังจากฟังคำชี้แจงของ น.ส.จิตรา สถานทูตจึงได้รับหนังสือร้องเรียนดังกล่าว


หนังสือเรียกร้องของสหภาพฯที่ยื่นต่อสถานทูตฟิลิปปินส์

สทอท.ที่ 0071/2552
24 สิงหาคม 2552
เรื่อง ขอให้สหภาพยุโรปตรวจสอบการกระทำของไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล
และหามาตราการยุติการเลิกจ้าง

เรียน มร.อันโตเนียว เวนุส โรดรีเกซ
เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย

สิ่งที่ส่งมาด้วย: จดหมายประกาศเอกภาพของผู้ใช้แรงงานบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทย

ด้วยบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2512 ก่อตั้งครั้งแรกที่เมืองชอยมาค เวิล์ทเท็ม เบร็ก ประเทศเยอรมันตะวันตกมีเจ้าของเป็นชาวเยอรมนี สำนักงานใหญ่อยู่ที่ ธุนสแตรสเช่ 3005 เมืองเบิร์น ประเทศสวิสและ Triumph Intertrade AG, Triumphweg 6, 5330 Bad Zurzach, Switzerland และได้มีบริษัทลูกได้จดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อ ปี 2332 ชื่อบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด ตั้งอยู่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ผลิต ชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO HOM เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ได้การประกาศเลิกจ้างคนงานทั้งหมด 1,959 คน เป็นจำนวน 50% ของคนงานทั้งหมดที่ โรงงานบางพลีให้มีผลการพ้นสภาพการเป็นคนงานของบริษัทบอดี้ฯ ในวันที่ 31สิงหาคม 2552 และคนงานที่ถูกเลิกจ้างเป็นกรรมการสหภาพแรงงานฯถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 18 คน ในการเลิกจ้างครั้งนี้ได้เลิกจ้างคนท้อง คนใกล้เกษียณ คนป่วย คนพิการและส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิงที่มีอายุงานที่ทำงานให้บริษัทฯมาอย่างยาวนานถึง 20-30 ปี และไม่สามารถไปหางานใหม่ หรือไปประกอบอาชีพอื่นได้ ในสิ่งที่ทุกคนต้องการคือการมีงานทำ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ในขณะที่บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลฟิลิปปินส์ได้ปิดโรงงานสองแห่งใน เมืองทากิก ประเทศฟิลิปปินส์ มีคนงานได้รับผลกระทบทั้งหมด 1,660 คน แต่ยังมีการคงคนงานระดับหัวหน้างานไว้100 กว่าคน ซึ่งคนงานเชื่อว่าเป็นการเตรียมการจ้างงานแบบซับคอนแทค

ในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯได้อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” โดยก่อนหน้านี้ก็ไม่มีมาตรการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนเลย ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ซึ่งเป็นข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า สรุปข่าวโลกธุรกิจ ลงวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2008 ว่าได้รับการส่งเสริมการลงทุน 75.5 ล้าน โดยในปัจจุบันโรงงานที่นครสวรรค์มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงาน ที่ถือเป็นองค์กรสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน

ในขณะที่ล่าสุด 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552 นายจักร เฉลิมชัย ผู้จัดการ ทั่วไป ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ออกมาแสดงทัศนะว่า “ยอดขายนับจากปีหน้าเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก หลังจาก ปี 2551 จนถึงปีนี้ เติบโตเป็น ตัวเลขหลักเดียว จากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสินค้าผลิตไม่ทัน” (จาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552) ซึ่งก่อนหน้านั้น จักร เองก็เคยกล่าวไว้เมื่อต้นปีนี้(จาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552)ว่า “บริษัทแม่ในประเทศเยอรมนีมองปัญหา วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะบริษัทแม่มีเงินลงทุนสูง”

คำยืนยันของบริษัทดังกล่าวนอกจากจะแสดงให้เห็นแล้วว่าบริษัทไม่มีอุปสรรค์จากปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมองว่าเป็นโอกาสของบริษัท โดยสิ่งที่ปรากฏคือการอาศัยโอกาสดังกล่าวเลิกจ้างคนงาน โดยปล่อยให้เผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจที่บริษัทมองว่ามันเป็นโอกาสของตนเองนั้น ซึ้งเท่ากับเป็นการทำลายสิทธิและสวัสดิภาพแรงงาน สิ่งที่สำคัญคำกล่าวของบริษัทยังเป็นการยืนยันว่าบริษัทแม่อยู่ประเทศเยอรมนี

แต่การกระทำดังกล่าวของบริษัทไทรอัมพ์ฯที่มีบริษัทแม่จากเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปเอง กลับเป็นการกระทำที่รุนแรงไร้ซึ่งมนุษยชนที่ดีควรกระทำ ไม่เคารพในสิทธิมนุษยชนและสวัสดิภาพของแรงงาน เป็นการกระทำที่เห็นคนงานเป็นเพียงสินค้าเมื่อรีดแรงงานหมด ก็โยนทิ้งให้คนงานเหล่านั้นต้องเผชิญกับความยากแค้นและไม่มั่นคงในชีวิต การกระทำของไทรอัมพ์ เป็นการแสดงถึงการไม่เคารพในหลักการแห่งสังคมประชาธิปไตย รวมถึงไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขปฏิบัติที่ระบุไว้ในข้อตกลงสภาพการจ้างที่บริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) บริษัทลูกของไทรอัมพ์ ได้ทำไว้กับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย

ดังนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯจึงขอเรียกร้องต่อท่านให้ได้ปฏิบัติต่อคนงานในประเทศฟิลิปปินส์ดังนี้

1. ให้บริษัทฯยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานทั้งหมดและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติ

2. ให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) ตามหลัก OECD Guidelines for MNEs ที่ว่าการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ธุรกิจควรเปิดเผยข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างสม่ำเสมอ อาทิ โครงสร้างองค์กร สถานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและสังคมบริเวณโดยรอบองค์กร และที่สำคัญการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ (Employment and Industrial Relations) ธุรกิจควรเคารพสิทธิของลูกจ้าง ปฏิบัติต่อลูกจ้างด้วยความเท่าเทียมกัน ให้ข้อมูลผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจแก่ลูกจ้างและผู้แทนสหภาพแรงงานฯและคนงานของบริษัททั้งหมด การเลิกจ้างเป็นกลุ่มจำนวนมากอย่างนี้ นายจ้างจะต้องปรึกษากับองค์การลูกจ้างและรัฐบาลในการหาทางออกเพื่อลดผลกระทบต่อคนงานให้มากที่สุด ซึ่งประเทศของท่านอยู่ในกลุ่ม OECD ด้วย จึงจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด

3. บริษัทต้องเปิดโอกาสให้องค์กรของลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเข้าร่วมการปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนงาน จะเป็นการลดความตึงเครียด ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายแรงงานกับฝ่ายบริหาร เพราะการปรึกษาหารือเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนงาน เป็นหลักปฏิบัติที่ใช้กันในสังคมประชาธิปไตย และหลัก OECD Guidelines for MNEs ในเรื่องของการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ อีกเช่นกัน เพื่อนำไปสู่การหาทางออกที่สร้างสรรค์และลดผลกระทบของการเลิกจ้างในกรณีของการเลิกจ้างพร้อมกันหลายคน


4. ให้บริษัทฯปฏิบัติตาม CODE OF CONDUCT ของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯ ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังที่กล่าวไว้ในปฏิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (the “General Declaration Of Human Rights”) และพร้อมใจปฏิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องขององค์กรแรงระหว่างประเทศ ( ILO) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านกฎระเบียบและการพัฒนาการปฏิบัติงานและสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรฐานสากลขององค์กรสหประชาชาติ (UN Global Compact)

ฉะนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะสนับสนุนและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและเร่งด่วน

จึงขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ

นางสาวบุญรอด สายวงศ์
เลขาธิการสหภาพแรงงาน
สำเนาถึง: International Labour Organization, Human Security Network (HSN)
Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)





หนังสือเรียกร้องของสหภาพฯที่ทำร่วมกันระหว่างไทยกับฟิลิปปินส์ยื่นต่อสถานทูตฯ พร้อมลายเซ็นรับ

น.ส.จิตรา ยังกล่าวถึงการเคลื่อนไหวต่อไปว่า “ในวันที่ 27 สิงหานี้ เวลา 10.00 น. จะมีการเคลื่อนใหญ่ของคนงานไทรอัมพ์และองค์กรเพื่อนมิตรประมาณ 1,000 คน ไปยังทำเนียบรัฐบาล เพื่อไปตามงานและความคืบหน้าตามสัญญาที่รัฐบาลให้ไว้ว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหา จากที่ได้มีการยื่นข้อเรียกร้องไว้ตั้งแต่วันที่ 6 สิงหา ที่ผ่านมา” ทั้งนี้ จิตรา ยังได้เชิญชวนผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าวมาร่วมกันทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล โดยข้อเรียกร้องที่ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯขอให้รัฐบาลปฏิบัติตามนโยบายเร่งด่วนช่วยเหลือประชาชนและให้มีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานโดยทั่วไปมีดังนี้

1. ให้บริษัทฯยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานทั้งหมดและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติและให้ปฏิบัติตามกฎหมาย พรบ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518

2. ให้บริษัทฯและรัฐบาลจ่ายสวัสดิการและค่าจ้างให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้างจนกว่าข้อพิพาทกับบริษัทฯจะยุติ การแก้ปัญหาต้องได้รับการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับสหภาพแรงงานฯ

3. รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนงานที่ทำงานในโรงงานว่าบริษัทฯจะไม่มีการเลิกจ้างอีกและไม่ใช้มาตรา 75 ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กับคนงาน

4. รัฐบาลต้องหยุดนโยบายเสรีนิยมใหม่ เช่นนโยบายการจ้างงานเหมาค่าแรง การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานค่าจ้างราคาถูก การจ้างงานซับคอนแทค หยุดเขตการค้าเสรีที่มีกฎระเบียบห้ามตั้งสหภาพแรงงานและยกเลิกสิทธิการนัดหยุดงาน

5. รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีสหภาพแรงงานในโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก (BOI) และโรงงานที่ได้รับมาตรฐานแรงงานไทยและต้องยุติการสนับสนุนเรื่องไม่เก็บภาษีต่อบริษัทฯและหันมายกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มกับประชาชน

6. รัฐบาลต้องหามาตรการช่วยเหลือคนงานที่เป็นหนี้นอกระบบและในระบบและคนงานถูกอายัดค่าจ้างค่าชดเชยค่าล่วงเวลาจากกองบังคับคดี



(ภาพจาก Imageforum) พนักงานไทรอัมพ์ฯ ฟิลิปปินส์ ที่หน้าสถานทูตไทยประจำประเทศฟิลิปปินส์



ไทรอัมพ์ฟิลิปปินส์ร่วมสามัคคีประท้วงที่มะนิลา
ทั้งนี้ในวันดังกล่าว เวลา 10.00 น. (ตามเวลาในฟิลิปปินส์) สหภาพแรงงานไทร์อัมพ์อินเตอร์เนชันแนลที่ฟิลิปปินส์ (BPMTI) และกลุ่ม DEFEND JOB PHILIPPINES ได้เดินขบวนไปยังสถานทูตไทยในฟิลิปปินส์ ที่ถนนราดา (Rada Street) เลงกาสปิ วิลเลจ Legaspi Village, ย่านมากาติ (Makati) ที่มะนิลา โดยตัวแทนของสถานทูตไทยได้รับจดหมายเรียกร้องสนับสนุนคนงานไทรอัมพ์ประเทศไทยและเรียกร้องให้รัฐบาลไทยช่วยเหลือคนงานไทรอัมพ์ประเทศไทยให้ดีที่สุด

หลังจากนั้นเวลา 11:30 ถึง 13:30 น. ตามเวลาในฟิลิปปินส์ กลุ่มคนดังกล่าวได้เดินทางต่อไปที่บริเวณหน้าตึก RCBC ย่านมากาติ ซึ่งเป็นที่อยู่ของสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศฟิลิปปินส์และที่ทำการของคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศฟิลิปปินส์เพื่อยื่นจดหมายเรียกร้องให้แก้ไขปัญหาและตรวจสอบการกระทำของบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลดังกล่าว

แต่จากรายงานของ เมโลน่า อาร์ เดแคลน ผู้จัดการโครงการรณรงค์ปกป้องงานในฟิลิปปินส์ พบว่า ทั้ง 2 ปฏิเสธที่จะรับจดหมายเรียกร้องดังกล่าว โดยทางสถานทูตเยอรมนีได้ให้หัวหน้าพนักงานรักษาความปลอดภัยมาปฏิเสธ โดยกล่าวว่าบริษัทไทร์อัมพ์ฯ เป็นของเอกชนรัฐบาลเยอรมนีไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนกรณีคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศฟิลิปปินส์นั้น ทางเอกอัครราชทูตออกจากที่ทำการไป ทางที่ทำการจึงปฏิเสธการรับจดหมายดังกล่าว


ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25578