Google
 

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คนงานไทรอัมพ์บุกทำเนียบ ร้อง รบ. แก้ปัญหาเลิกจ้าง

Fri, 2009-08-07 00:18





เมื่อวันที่ 6 ส.ค. เวลาประมาณ 9.30 น. คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กว่า 300 คน เดินเท้าจากบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลกไปยังหน้าทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหากรณีเลิกจ้างคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัดจำนวน 1,959 คน และให้หลักประกันความมั่นคงกับคนงานที่เหลือในโรงงานอีก 2,000 กว่าคน




ทั้งนี้ ผู้ชุมนุมได้ปิดถนน 3 เลน ตั้งแต่บริเวณสะพานชมัยมรุเชษฐจนถึงหน้าทำเนียบ ประตู 4 เพื่อเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีออกมารับหนังสือของสหภาพแรงงานฯ ต่อมา เวลาประมาณ 14.30น. สุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ได้ให้ตัวแทนสหภาพฯ 9 คนเข้าพบและรับมอบหนังสือแทนนายกฯ พร้อมกล่าวว่า จะบริหารไปตามกรอบ จนกระทั่งเวลาประมาณ 16.00น. ผู้ชุมนุมจึงได้ยุติการชุมนุม

จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า เหตุผลที่มาในวันนี้เนื่องจากตรงกับวันที่นายกฯ จะแถลงผลงานครบรอบ 6 เดือน โดยต้องการแสดงให้ว่ายังมีแรงงานที่ถูกเลิกจ้างอยู่ ไม่ได้เป็นไปตามที่นายกฯ บอกว่าจะมีการชะลอการเลิกจ้างแต่อย่างใด รวมถึงเพื่อยื่นหนังสือต่อนายกฯ ด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา มีคนถูกเลิกจ้างเกือบ 2,000 คนแต่นายกฯ ยังไม่เคยพูดถึงหรือให้ความช่วยเหลือ ทั้งนี้ จิตรากล่าวด้วยว่า ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ จากฝั่งนายจ้างเช่นกัน แต่จะมีการเจรจากันในวันพรุ่งนี้ (7 ส.ค.)

“การปรับโครงสร้างของบริษัทไม่ควรผลักภาระให้กับคนงานที่สร้างผลกำไรให้เขามา 20-30 ปี” จิตรากล่าว

สำหรับข้อเรียกร้องต่อนายอภิสิทธิ์นั้น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ได้เรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนและผู้ใช้แรงงาน 6 ข้อ ได้แก่
1.ให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานทั้งหมดและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติและให้ปฎิบัติตามกฏหมายพรบ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518
2.ให้บริษัทฯและรัฐบาลจ่ายสวัสดิการและค่าจ้างให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้างจนกว่าข้อพิพาทกับบริษัทฯจะยุติ การแก้ปัญหาต้องได้รับการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับสหภาพแรงงานฯ
3.รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนงานที่ทำงานในโรงงานว่าบริษัทฯจะไม่มีการเลิกจ้างอีกและไม่ใช้มาตรา 75 ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กับคนงาน
4.รัฐบาลต้องหยุดนโยบายเสรีนิยมใหม่ เช่นนโยบายการจ้างงานเหมาค่าแรง การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานค่าจ้างราคาถูก การจ้างงานซับคอนแทค หยุดเขตการค้าเสรีที่มีกฎระเบียบห้ามตั้งสหภาพแรงงานและยกเลิกสิทธิการนัดหยุดงาน
5.รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีสหภาพแรงงานในโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก(BOI)และโรงงานที่ได้รับมาตรฐานแรงงานไทยและต้องยุติการสนับสนุนเรื่องไม่เก็บภาษีต่อบริษัทฯและหันมายกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มกับประชาชน
6.รัฐบาลต้องหามาตราการช่วยเหลือคนงานที่เป็นหนี้นอกระบบและในระบบและคนงานที่กำลังจะถูกอายัดค่าจ้างค่าชดเชยค่าล่วงเวลาจากกองบังคับคดี

จิตรา กล่าวเสริมว่า สำหรับสหภาพไทรอัมพ์ฯ เอง ตอนนี้มีแผนจะต่อสู้ร่วมกับสหภาพแรงงานฟิลิปปินส์ที่ถูกเลิกจ้างเช่นกัน โดยทราบมาว่าบริษัทที่ฟิลิปปินส์ให้ค่าชดเชยต่อคนงานที่ถูกเลิกจ้างสูงมากกว่าที่คนงานไทยได้ ซึ่งคนงานฟิลิปปินส์ก็ยังไม่รับ เพราะมองว่า งานทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีกว่าเงินที่จะได้รับ

บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า เมื่อครู่ที่นายกฯ ได้แถลงว่า เศรษฐกิจดีขึ้นและประชาชนมีความสุขเพราะมีงานทำนั้นไม่เป็นความจริง เพราะมีคนงานเดือดร้อนจากการถูกเลิกจ้าง ทั้งนี้ บุญรอดตั้งคำถามว่าที่นายกฯ ไม่กล้าออกมาพบคนงานนั้น เป็นเพราะมีคนนามสกุลเวชชาชีวะไปถือหุ้นอยู่ในบริษัทไทรอัมพ์ฯ หรือเปล่า

เกตแก้ว มีศรี รองเลขาธิการสหพันธ์อุตสาหกรรมสิ่งทอแห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) กล่าวว่า ที่ผ่านมา มีการเลิกจ้างพนักงานทุกๆ 3 เดือน โดยนายจ้างอ้างว่ามีปัญหาเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลก็ยังไม่มีนโยบายแก้ปัญหาเลิกจ้างที่ชัดเจน ขณะที่เมื่อเกิดการเลิกจ้าง ไม่ใช่แค่พนักงานที่ถูกเลิกจ้างที่เดือดร้อน แต่ยังรวมถึงครอบครัวของพวกเขาด้วย







เทวฤทธิ์ มณีฉาย นักกิจกรรมกลุ่มประกายไฟ กล่าวว่า เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว นายอภิสิทธิ์ เคยแถลงนโยบายว่า รัฐบาลถือเป็นภารกิจสำคัญที่จะนำประเทศให้รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก และพัฒนาไปสู่การเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และบรรเทาผลกระทบจากเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างรายได้ให้ประชาชน ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้าง โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน วันนี้ถามว่า ที่บีโอไอสนับสนุนการลงทุนให้บริษัทไทรอัมพ์ฯ ซึ่งต่อมามีการเลิกจ้างพนักงานนั้น ถือเป็นมาตรการจูงใจเพื่อลดการเลิกจ้างด้วยหรือไม่

เทวฤทธิ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม- พฤษภาคม เฉพาะแรงงานในระบบถูกเลิกจ้างแล้ว 84,876 ราย นี่แสดงให้เห็นว่าไม่อาจเชื่อมั่นกับนายกฯ เพียงคำพูดได้ ต้องแสดงผลงานด้วย วันนี้จึงนำผลงานเลิกจ้างคนงานมาให้ดู นายกฯ ก็ยังไม่ออกมาพบเรา

ด้านไม้หนึ่ง ก.กุนที กวีราษฎร กล่าวว่า กรรมกรคือผู้ที่สร้างโลกใบนี้ ในสังคมไทย การบริหารงานที่ผิดพลาดของผู้กุมอำนาจรัฐที่ล้าหลังทำให้สังคมเกษตรกรรมต้องล้มเหลวและคนกลายไปเป็นกรรมกร และขณะนี้การบริหารงานที่ล้าหลังซึ่งปกป้องแต่นายจ้างและนายทุนก็กำลังจะทำให้สังคมกรรมกรล้มเหลวอีกครั้ง

นอกจากนี้ ไม้หนึ่ง ยังได้อ่านบทกวีให้กำลังสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ

“ขบวนการสร้างสังคม
จะโค่นล้มสิ่งล้าหลัง
ความก้าวหน้ามีกำลัง
จะฉีกพังทุกโซ่ตรวน

กรรมกรลุกตื่นแล้ว
ปลุกแก้วใสทุกภาคส่วน
สุกงอมสุดหอมหวล
มวลสารหนักแน่นพร้อมเพรียง

หน่วยย่อยหนึ่งชีวิต
คือหนึ่งสิทธิ์และหนึ่งเสียง
เสมอภาคดาหน้าเคียง
ราษฎรนั้นบงการ

ชี้นำอำนาจรัฐ
จัดโครงสร้างแห่งไพศาล
เสริมส่งสวัสดิการ
ครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน

ปวงชนพิพากษา
อำนาจศาลไม่แง่นง่อน
ตราชูตรงแน่นอน
นิติรัฐเที่ยงผดุง

ชาวนาขายข้าวแพง
กรรมกรค่าแรงสูง
เศรษฐศาสตร์เลี้ยงบำรุง
ทุกกลุ่มชนพลเมือง

กรรมกรและชาวนา
ร่วมกันสู้อย่างต่อเนื่อง
เมืองไทยจะรุ่งเรือง
เฟื่องฟูสู่ยุคศรีอาริย์"



ที่มา : http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25353