Google
 

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

“สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ” ค้าน “เลิกจ้าง” แรงงานไทรอัมพ์ ย้ำเป็นการทำลาย “สหภาพฯ”

Thu, 2009-07-09 04:16

จากกรณีที่บริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ประกาศเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ได้แถลงข่าวคัดค้านการเลิกจ้างดังกล่าว ที่พิพิธภัณฑ์แรงงานไทย เขตมักกะสัน เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (8 ก.ค.)

นายเฉลย ชมบุหรั่น ประธาน ส.พ.ท.เชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน เนื่องจากจำนวนกรรมการ อนุกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้างมากที่สุดเกินกึ่งหนึ่งของคณะกรรมการ และสมาชิกทั้งหมด และข้ออ้างที่นายจ้างอ้างว่าเพื่อปรับปรุงแนวทางบริหารจัดการนั้นไม่น่าเป็นความจริง เพราะเชื่อว่านายจ้างมีจุดประสงค์ที่จะแสวงหาแหล่งผลิตที่มีต้นทุนต่ำ ค่าจ้างราคาถูก

ทั้งนี้ นายเฉลยได้เรียกร้องให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานทั้งหมด และให้เปิดเผยข้อมูลตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) และเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจในการบริหารจัดการที่ดีให้กับสหภาพแรงงานฯ และคนงานของบริษัททั้งหมด ทั้งนี้ การเลิกจ้างพนักงานจำนวนมากอย่างนี้ นายจ้างจะต้องปรึกษากับองค์การลูกจ้างและรัฐบาลในการหาทางออกเพื่อลดผลกระทบต่อคนงานให้มากที่สุด

ด้านนายพรมมา ภูมิพันธ์ ประชาสัมพันธ์ ส.พ.ท.กล่าวว่า รัฐบาลโดยเฉพาะนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ไม่มีนโยบายที่ชัดเจนในการช่วยเหลือลูกจ้าง อีกทั้งนโยบายรัฐที่ผ่านมายังสวนทางกับความเป็นจริง เช่น ให้มีการฝึกอาชีพ ซึ่งเขาตั้งคำถามว่า เมื่อฝึกแล้วจะไปทำงานที่ไหน เพราะโรงงานปิดไปแล้ว

เขาตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพฯ เนื่องจากมีการเลิกจ้างพนักงานในโรงงานบางพลี ที่มีสหภาพฯ เข้มแข็งไปมากกว่าครึ่ง ขณะที่ไม่มีการเลิกจ้างพนักงานในส่วนของนครสวรรค์ ซึ่งไม่มีสหภาพฯ

“เมื่อลูกจ้างพร้อมที่จะดูแลสิทธิของคนงานทุกคนโดยตั้งองค์กรขึ้นมา ก็จะมีการทำลาย” นายพรมมากล่าว และว่า นอกจากนี้ นโยบายรัฐยังไม่สามารถเข้าไปดูแลปัญหาของคนงานได้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่กระทรวงแรงงานจะบอกให้คนงานตั้งสหภาพฯ แต่ก็กลับไม่มีนโยบายดูแลปกป้องพวกเขาเมื่อถูกเลิกจ้าง

ส่วนนางสาวจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า การเลิกจ้างคนงานครั้งนี้ไม่มีกระบวนการปรึกษาหารือใดๆ กับสหภาพฯ และไม่มีการลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือยออกไป โดยก่อนบอกเลิกจ้าง 2 สัปดาห์ยังมีการพาคนงานไปสำรวจสถานที่ที่จะไปท่องเที่ยว ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในประกาศนโยบายของบริษัทยังระบุชัดเจนว่า จะขยายการจ้างงานที่นครสวรรค์เป็น 2,000 คน ดังนั้นจึงชัดเจนว่า นี่เป็นการเลิกจ้างเพื่อทำลายสหภาพแรงงานฯ เลิกจ้างคนอายุงานมาก คนพิการ คนป่วย คนท้อง เพื่อไปจ้างแรงงานในนครสวรรค์ซึ่งไม่มีสหภาพแรงงานและเป็นแหล่งค่าจ้างราคาถูก

นางสาวจิตรา ยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้ นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้กล่าวว่าการเลิกจ้างคนงานสามารถทำได้ แต่กลับไม่ได้พูดถึงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เรื่องการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม เพราะบริษัทไม่ได้ขาดทุน และข้อตกลงสภาพการจ้างยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งสหภาพฯ เคยตั้งคำถามไปแล้ว แต่ก็ไม่มีคำตอบกลับมา

ทั้งนี้ ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ตั้งข้อสังเกตว่า บริษัทเคยให้เหตุผลในการเลิกจ้างว่าจะไม่ผลิตชุดว่ายน้ำในประเทศอีก แต่กลับคงตำแหน่งที่เกี่ยวกับชุดว่ายน้ำอาทิ หัวหน้างานชุดว่ายน้ำ พนักงานที่ทำแพทเทิร์นชุดว่ายน้ำ เอาไว้ สหภาพฯ จึงสงสัยว่าบริษัทอาจมีตำแหน่งนี้ไว้เพื่อสร้างตัวอย่างงานแล้วส่งออกไปผลิตนอกโรงงานแทน

นอกจากนี้ เธอยังให้ข้อมูลอีกว่า เมื่อกลางปีที่แล้ว บริษัทไทรอัมพ์ฯ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เป็นเงิน 75.5 ล้านบาท ที่โรงงานบอดี้แฟชั่น นครสวรรค์ โดยบีโอไอประกาศว่า กำลังการผลิตที่นครสวรรค์จะผลิตชุดชั้นในได้ 2 ล้านชิ้นต่อปีซึ่งจะเป็นแหล่งผลิตชุดชั้นในที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเมื่อส่งเสริมการลงทุนเรียบร้อยและธุรกิจมีความมั่นคงที่นครสวรรค์กลับมีการเลิกจ้างคนงานที่บางพลี จึงมีคำถามว่า บีโอไอมีข้อตกลงกับบริษัทที่ส่งเสริมการลงทุนอย่างไรบ้าง เมื่อสร้างเศรษฐกิจให้นักลงทุนเข้ามาเพื่อสร้างงานให้คนในประเทศแล้ว จึงกลับมีการเลิกจ้างคนงานในบริษัทเดียวกัน โดยในวันที่ 13 ก.ค. สหภาพฯ จะไปยื่นหนังสือที่บีโอไอเพื่อสอบถามกรณีดังกล่าว

ในส่วนข้อเรียกร้อง ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า ขณะนี้ทางสหภาพฯ มีข้อเรียกร้อง คือ ให้ยกเลิกการเลิกจ้างแรงงานและให้การออกจากงานเป็นไปโดยสมัครใจ โดยที่บริษัทต้องจ่ายค่าชดเชยตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงยืนยันจะจ่ายตามที่บริษัทเสนอเท่านั้น ทั้งยังบอกว่า การบริหารจัดการเป็นสิทธิขาดของบริษัท ถ้าอยากได้มากกว่านั้นก็ให้ไปฟ้องร้องเอา ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (9 ก.ค.) เวลา 9.00 น. สหภาพฯ จะเจรจากับผู้บริหารบริษัทฯ อีกครั้งที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ

ด้านนางสาวสุพิน หมอพิมาย กล่าวในฐานะตัวแทนพนักงานบริษัทเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.บริษัทเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ได้ประกาศปิดกิจการโดยไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า และค่าจ้างค้างจ่ายพนักงานรายเดือน แก่พนักงานทั้ง 38 คน เป็นเงินกว่า 2 ล้านบาท ทั้งนี้ ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2550-2552) บริษัทฯ ได้ผลิตกางเกงว่ายน้ำส่งให้บริษัทไทรอัมพ์ฯ มาตลอด ดังนั้น เมื่อวันที่ 8 พ.ค. พวกเธอจึงได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังผู้บริหารบริษัทไทรอัมพ์ให้ช่วยอายัดค่าค้างจ่ายเงินงวดสุดท้ายที่จะต้องให้กับบริษัทเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ จำนวน 2,300,000 บาท เพื่อจ่ายให้กับพนักงานฯ แต่บริษัทไทรอัมพ์ฯ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามหนังสือร้องเรียนของพวกเธอแต่อย่างใด

จนถึงวันนี้พวกเธอก็ยังไม่ได้รับค่าชดเชยและสิทธิใดๆ ตามกฎหมาย จึงอยากร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนไปยังประธานกรรมการบริษัทเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ และรัฐบาลรวมถึงกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ได้รับสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานอย่างเร่งด่วน




แถลงการณ์
คัดค้านการเลิกจ้างลูกจ้างไทรอัมพ์ฯ เป็นเพราะนโยบายรัฐ


สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์หนัง แห่งประเทศไทย (ส.พ.ท.) ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการใช้วิธีการเลิกจ้างของบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ได้มีการประกาศเลิกจ้างคนงานเมื่อวันที่ ๒๙ มิถุนายน ๒๕๕๒ ทั้งหมด ๑,๙๕๙ คน เป็นจำนวน ๕๐% ของคนงานทั้งหมดที่ โรงงานบางพลีให้มีผลการพ้นสภาพการเป็นคนงานของบริษัทบอดี้ฯในวันที่ ๓๑ สิงหาคม ๒๕๕๒ และคนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯเป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯ ถึง ๑๓ คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด ๑๙ คน ในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯได้อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง ๒,๐๐๐ คน ในปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุปันก็มีคนงานถึง ๑,๐๐๐ กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงาน

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ (ส.พ.ท.) จึงขอคัดค้านการการเลิกจ้างดังกล่าว เพราะเป็นเหตุให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม โดยภาพรวม และขัดต่อแนวนโยบายของรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เรื่องเกี่ยวกับการสนับสนุนให้นานาประเทศมาลงทุนในประเทศไทย แต่ต่างประเทศที่มาลงทุนอยู่เดิมกลับมีการเลิกจ้างลูกจ้าง ละเมิดสิทธิในการรวมตัวของแรงงาน และ การลงทุนไม่มีมาตรการอะไรมารองรับเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงของแรงงาน เพราะการสนับสนุนของรัฐให้นายทุนมาลงทุนในปัจจุบันนี้ไม่ สามารถที่จะควบคุม หรือดูแล สิ่งต่างๆ เหล่านี้ได้เลย

ดังนั้นสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ (ส.พ.ท.) เห็นว่าแนวนโยบายของรัฐบาลนี้ มีการบริหารจัดการที่ผิดพลาดเป็นอย่างยิ่ง ไม่เหมาะที่จะบริหารประเทศอีกต่อไป โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัติย์เข้ามาบริหารประเทศครั้งไหน แล้วทำให้มีการเลิกจ้างลูกจ้างมากที่สุดเท่าที่ประวัติศาสตร์ได้จารึกเอาไว้มาโดยตลอด

ในการเลิกจ้างลูกจ้างของบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย) จำกัดแถมยังมีการเลิกจ้างคนงานหญิงตั้งครรภ์ ในครั้งนี้ด้วย และคนงานบริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ ที่จังหวัดสมุทรสาคร ก็ถูกนายจ้างปิดกิจการหนี โดยไม่จ่ายค่าชดเชย และค่าจ้างค้างจ่าย จำนวน ๒ เดือน , ลูกจ้างบริษัททอผ้าเมโทรก็ปิดกิจการ ฯลฯ แล้วรัฐบาลโดยเฉพาะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง ไม่เคยมีแนวนโยบายใดที่จะช่วยเหลือลูกจ้างเหล่านี้เลยแม้แต่น้อย มีเพียงแนวนโยบายบอกว่าหากลูกจ้างตกงานเรามีโครงการสร้างอาชีพไว้รองรับ โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ (ส.พ.ท.) ขอถามหน่อยว่าหากลูกจ้างถูกเลิกจ้างทั้งประเทศ ได้เข้าไปรับการฝึกฝีมือทั้งหมด รัฐบาลมีมาตรการอะไรไว้รองรับให้กับคนงานเหล่านั้น เข้าสูตรที่ว่าแนวนโยบายดี แต่ไม่มีมันสมองที่จะคิด ว่าจะเอางานที่ไหนไว้รองรับให้กับคนตกงานเหล่านี้ ทั้งๆ ที่นายจ้างออกมาอ้างว่าไปไม่ไหวแล้วกับเศรษฐกิจที่มันตกต่ำ

รัฐบาลควรที่จะสนับสนุนและผลักดันให้ บรรษัทข้ามชาตินำเอาแนวปฎิบัติสำหรับบรรษัทข้ามชาติขององค์กรความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา OECD ว่าด้วยหลักการและมาตรฐานที่พึ่งปฎิบัติสำหรับการดำเนินธุรกิจของบรรษัทข้ามชาติ ที่มีการดำเนินธุรกิจในประเทศ หรือจากข้างนอกประเทศที่มีพันธะต่อคำประกาศฉบับนี้

สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ (ส.พ.ท.)
๘ กรกฎาคม ๒๕๕๒

ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/07/25013