Google
 

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ขอเชิญร่วมทอดผ้าป่าสามัคคีกรรมกร สนับสนุนการต่อสู้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย

เมื่อ 22 สิงหาคม, 2008


นับตั้งแต่วันที่ 30 ก.ค. 2551 พนักงานบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี อ. บางเสาธง จ. สมุทรปราการ เกือบ 3,000 คน ได้พร้อมใจกันผละงานและชุมนุมอยู่หน้าบริษัทฯ เพื่อต่อต้านการเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยอย่างไม่เป็นธรรม และปกป้องสหภาพแรงงานของตน

พวกเขาทำการผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อชั้นนำให้แก่บรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนี ได้แก่ ไทรอัมพ์ (Triumph),วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น โดยผลผลิตส่วนใหญ่นั้นส่งออกไปขายยังต่างประเทศ

นับตั้งแต่ก่อตั้ง เมื่อปี 2523 เป็นต้นมา สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ดำเนินกิจกรรมปกป้องสิทธิเสรีภาพของพนักงาน ยกระดับสภาพการทำงานและชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน ทั้งภายในและภายนอกโรงงานอย่างขันแข็งมาโดยตลอด นอกจากนี้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ยังมีบทบาทแข็งขันในสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อฟ้าและผลิตภัณฑ์หนังแห่งประเทศไทย ในขบวนการแรงงานไทยและสากล รวมทั้งขบวนการประชาธิปไตยอีกด้วย

ด้วยความสำเร็จอันเป็นผลมาจากความเข้มแข็งของสหภาพฯ ส่งผลให้ผู้บริหารจำนวนหนึ่งของบริษัทไทรอัมพ์ในประเทศไทยไม่พอใจและมีท่าทีที่ไม่ดีต่อสหภาพแรงงาน รวมทั้งมีพฤติกรรมหลายครั้งที่ส่อเจตนาจะทำลายหรือขัดขวางการดำเนินการของสหภาพฯ

ล่าสุดผู้บริหารไทรอัมพ์แอบยื่นคำร้องต่อศาลแรงงาน เพื่อขออนุญาตเลิกจ้างประธานสหภาพฯ โดยกล่าวหาตามหลักฐานจากเว็บไซต์ข่าวผู้จัดการออนไลน์ว่า

การที่นางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพฯ ใส่เสื้อ “ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม” ออกรายการโทรทัศน์ช่องเอ็นบีที เพื่อร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “ทำท้อง...ทำแท้ง” เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมานั้น ทำให้เสียหายต่อชื่อเสียงของบริษัทฯ ลูกค้าและประชาชนทั่วไปคว่ำบาตรสินค้าของบริษัทฯ รวมทั้งมีพนักงานของบริษัทฯและประชาชนเรียกร้องให้บริษัทฯ ดำเนินการกับประธานสหภาพฯ

อย่างไรก็ดี ตลอดกระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าว ประธานสหภาพฯ ไม่เคยทราบเรื่องและได้รับการติดต่อใดๆ ทั้งสิ้นจากทั้งศาลแรงงานและบริษัทฯ ศาลได้พิจารณาคดีไปฝ่ายเดียวจนกระทั่งมีคำตัดสินลับหลังเมื่อวันที่ 8 ก.ค. 2551 อนุญาตให้ทางบริษัทฯสามารถเลิกจ้างนางสาวจิตรา คชเดชได้

ล่วงเลยมาอีกหลายวัน วันที่ 29 ก.ค. 51 ทางบริษัทฯ ถึงได้แจ้งแก่ประธานสหภาพฯ ให้ทราบว่าศาลแรงงานมีคำตัดสินอนุญาตให้เลิกจ้างตน ซึ่งขณะนั้นทางประธานสหภาพฯ ไม่สามารถที่จะอุทรณ์ต่อศาลแรงงานแล้ว เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิคนงานอุทรณ์ได้ภายใน 15 วันนับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาอนุญาตให้บริษัทฯ เลิกจ้างได้

เช้าวัน ที่ 30 ก.ค. เวลาประมาณ 7.00 น. เมื่อพนักงานในบริษัทฯ ทราบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจึงไม่พอใจการกระทำของผู้บริหารอย่างรุนแรงและ ตัดสินใจพากันผละงานออกมาเพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯ รับประธานสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน เนื่องจากพนักงานเชื่อว่าทางบริษัทฯ มีเจตนาฉวยโอกาสทำลายสหภาพแรงงาน โดยสหภาพฯ มีข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ ดังนี้

1) ให้บริษัทฯ รับนางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กลับเข้าทำงานโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งทางสหภาพฯ ยืนยันว่าผู้บริหารมีอำนาจเต็มในการตัดสินใจรับประธานสหภาพฯ กลับเข้าทำงาน เพราะคำตัดสินของศาลเป็นเพียงการอนุญาตให้บริษัทสามารถเลิกจ้างได้เท่านั้น ไม่ได้เป็นคำสั่งให้เลิกจ้าง

2) ให้บริษัทฯ ไม่ลงโทษใดๆ และไม่เอาผิดทั้งทางแพ่งและอาญากับกรรมการลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน และพนักงานบริษัททุกคนที่ผละงาน

3) ให้บริษัทเอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและมีพฤติกรรมที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงานออกไป

สถานการณ์ปัจจุบัน พนักงานไทรอัมพ์ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นแรงงานหญิง ยังคงยืนหยัดต่อสู้อย่างเด็ด เดี่ยว แม้จะต้องทนยากลำบากจากการขาดรายได้ มาจุนเจือครอบครัวมาแล้วหลายสัปดาห์ เนื่องจากพวกเขาเห็นว่า หากปล่อยให้บริษัทฯ เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานอย่างฉ้อฉลได้เช่นนี้ ย่อมส่งผลเสียต่อการดำเนินกิจกรรมของสหภาพของตนและขบวนการแรงงานโดยรวมใน อนาคตอย่างแน่นอน เพราะกลวิธีของบริษัทไทรอัมพ์ประเทศไทยดังกล่าวจะกลายเป็นบรรทัดฐานในการเลิกจ้างแกนนำของสหภาพแรงงานต่อไป

ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียนเชิญผู้รักความเป็นธรรมทุกท่านร่วมกันทอดผ้าป่าสามัคคีกรรมกร เพื่อนำปัจจัยไปสนับสนุนการชุมนุมนัดหยุดงานของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์ เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย รวมทั้งนำไปช่วยเหลือจุนเจือครอบครัวของพนักงานไทรอัมพ์ฯ ที่มีภาระเร่งด่วนระหว่างการผละงาน

ขอให้พลังแห่งความสมานฉันท์ของเพื่อนร่วมสังคม เกื้อหนุนให้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้รับชัยชนะในไม่ช้า และช่วยยกระดับสิทธิเสรีภาพ ความเสมอภาค ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในสังคมให้สมบูรณ์ยิ่งๆ ขึ้นไป

รายนามคณะกรรมการ “ผ้าป่าสามัคคีกรรมกร”

สุลักษณ์ ศิวรักษ์
นิธิ เอียวศรีวงศ์
จอนิ โอโดเชา
อานันท์ กาญจนพันธ์
ยศ สันตสมบัติ
ฉลาดชาย รมิตานนท์
สุริชัย หวันแก้ว
สุธี ประศาสน์เศรษฐ
ไชยยันต์ รัชชกูล
ประภาส ปิ่นตบแต่ง
นฤมล ทับจุมพล
ฉันทนา บรรพศิริโชติ
ฉลาดชาย รมิตานนท์
สุรพงษ์ กองจันทึก
ยุกติ มุกดาวิจิตร
วรวิทย์เจริญเลิศ
อรรถจักร สัตยานุรักษ์
เสาวลักษณ์ ชายทวีป
ศิวรักษ์ ศิวรมย์
นงเยาว์ เนาวรัตน์
สมเกียรติ ตั้งนโม
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
ภัควดี วีระภาสพงษ์
พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
กมลวรรณ ชื่นชูใจ
เสนาะ เจริญพร
ธเนศว์ เจริญเมือง
ธวัช มณีผ่อง
นิวัฒน์ ร้อยแก้ว
มนตรี อิ่มเอก
ราณี หัสสรังสี
สมศักดิ์ โยอินชัย
เนตรดาว เถาถวิล
พฤกษ์ เถาถวิล
เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.)
แนวร่วมกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (นกน)

ท่านสามารถร่วมทอดผ้าป่าสามัคคีกรรมกรได้ดังนี้

1) เดินทางไปให้กำลังใจและบริจาคปัจจัยต่างๆ ด้วยตัวท่านเอง ณ ที่ชุมนุมหน้าบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ในนิคมอุสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี โดยติดต่อไปที่กรรมการสหภาพฯ คุณวิภา มัจฉาชาติ โทร. 087-926-5231 หรือ คุณธนพร เกณหาร โทร. 085-211-7584

2) บริจาคไปที่บัญชีออมทรัพย์ชื่อ “สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย” ธ. กรุงเทพ สาขาถนนศรีนครินทร์ เลขที่ 227-0-46722-4

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อผู้ประสานงานผ้าป่าสามัคคีกรรมกร
ชัยธวัช ตุลาฑล 089 -123-2475
ธนาพล อิ๋วสกุล 086 – 826-1074

ที่มา - ฟ้าเดียวกัน http://www.sameskybooks.org/board/index.php?showtopic=10156