Google
 

วันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2552

อภิสิทธิ์เมินคนงานไทรอัมพ์ฯ เอนี่ออนและเวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ ที่มาทวงสัญญาหน้าทำเนียบ – รัฐสภา แถมออกหมายจับซ้ำ






วานนี้(27 ส.ค.52)เวลาประมาณ 10.00 น.สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงาน อิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือ ซึ่งเป็นคนงานบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์(ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ พร้อมด้วยองค์กรเพื่อนมิตรอย่างสภาองค์การลูกจ้างศูนย์กลางแรงงานแห่งประเทศไทย สมานฉันท์แรงงานไทย กลุ่มประกายไฟ ฯลฯ ประมาณ 800 คน ได้เดินขบวนจากบริเวณหน้าบ้านพิษณุโลกมายังทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากที่ได้มีการยื่นเรื่องต่อนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หลายวันแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือความสนใจใดๆ

เดินขบวนจากหน้าบ้านพิษนุโลก – ทำเนียบ



โดยระหว่างรอพบนายกเพื่อฟังคำชี้แจงนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมได้ส่งตัวแทนของแต่ละองค์กรขึ้นมาปราศรัยปัญหาของตนเอง พร้อมทั้งประกาศจุดยืนจะต่อสู้ร่วมกันและขยายแนวร่วมต่อไป
จากการปราศรัยปัญหาและข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยนั้น เนื่องจากบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลที่มีผู้ถือร่วมหุ้นคนไทยชื่อนางเลียวนี่ เดซี่ เวชชาชีวะ ที่ทำการผลิต ชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO ,HOM ที่ล่าสุด 7 สิงหา 52 นายจักร เฉลิมชัย ผู้จัดการ ทั่วไป ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ออกมาแสดงทัศนะว่า “ยอดขายนับจากปีหน้าเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก หลังจาก ปี 2551 จนถึงปีนี้ เติบโตเป็น ตัวเลขหลักเดียว จากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสินค้าผลิตไม่ทัน” (จาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552)



กิจกรรมของผู้ชุมนุม“ต่อต่านเสรีนิยมใหม่ และหยุดทำลายสหภาพ”ที่เห็นคนงานเป็นเครื่องจักรที่ถูกล่ามไว้กับทุน




ซึ่งก่อนหน้านั้น จักร เองก็เคยกล่าวไว้เมื่อต้นปีนี้(จาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552)ว่า “บริษัทแม่ในประเทศเยอรมนีมองปัญหา วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะบริษัทแม่มีเงินลงทุนสูง” นั่นแสดงให้เห็นว่ากำลังเติบโตเสียด้วยซ้ำ แต่กลับมีการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง คนงานอายุงานมาก คนป่วย คนพิการ คนท้องและที่สำคัญคือคนที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน ทำให้การเลิกจ้างครั้งนี้หนีไม่พ้นเจตนาอื่น เช่น ทำลายสหภาพ เปลี่ยนการจ้างงานเป็นแบบเหมาช่วง เป็นต้น
ถึงแม้เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2552 วันที่ท่านนายกแถลงผลการดำเนินงาน 6 เดือนนั้น สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลเพื่อเรียกร้องให้แก้ไขปัญหามาแล้วกว่า 20 วัน แต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใดๆทั้งสิ้น ทั้งๆที่มีการชุมนุมมาแล้ว 2 เดือนแล้วจะสิ้นสภาพการเป็นลุกจ้างในวันที่ 31 สิงหานี้
สำหรับข้อเรียกร้องต่อนายกอภิสิทธิ์ที่ในวันที่ 6 สิงหาที่ผ่านมานั้น ตามที่นายกอภิสิทธิ์ได้แกลงถึงมาตราการเร่งด่วนในเรื่องการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้าง สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯและองค์กรเพื่อนมิตรจึงได้เรียกร้องให้รัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือประชาชนและผู้ใช้แรงงาน 6 ข้อ ได้แก่
1.ให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานทั้งหมดและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติและให้ปฎิบัติตามกฏหมายพรบ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518
2.ให้บริษัทฯและรัฐบาลจ่ายสวัสดิการและค่าจ้างให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้างจนกว่าข้อพิพาทกับบริษัทฯจะยุติ การแก้ปัญหาต้องได้รับการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับสหภาพแรงงานฯ
3.รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนงานที่ทำงานในโรงงานว่าบริษัทฯจะไม่มีการเลิกจ้างอีกและไม่ใช้มาตรา 75 ตามพรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กับคนงาน
4.รัฐบาลต้องหยุดนโยบายเสรีนิยมใหม่ เช่น นโยบายการจ้างงานเหมาค่าแรง การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานค่าจ้างราคาถูก การจ้างงานซับคอนแทค หยุดเขตการค้าเสรีที่มีกฎระเบียบห้ามตั้งสหภาพแรงงานและยกเลิกสิทธิการนัดหยุดงาน
5.รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีสหภาพแรงงานในโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก(BOI)และโรงงานที่ได้รับมาตรฐานแรงงานไทยและต้องยุติการสนับสนุนเรื่องไม่เก็บภาษีต่อบริษัทฯและหันมายกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มกับประชาชน
6.รัฐบาลต้องหามาตราการช่วยเหลือคนงานที่เป็นหนี้นอกระบบและในระบบและคนงานที่กำลังจะถูกอายัดค่าจ้างค่าชดเชยค่าล่วงเวลาจากกองบังคับคดี
นอกจากนี้ยังได้เชิญชวนผู้ที่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าวร่วมกันเคลื่อนไหวผลักดันต่อไปด้วย
ส่วนปัญหาและข้อเรียกร้อง ของ สหภาพแรงงาน อิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือ ซึ่งเป็นคนงานบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์(ไทยแลนด์) จำกัด คือ บริษัทฯ ได้ค้างค่าจ้าง งวดวันที่ 24 ก.ค. 52 และประกาศเลิกจ้างพนักงานทั้งหมด 239 คน เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 52 โดยที่บริษัทยังไม่จ่ายค่าจ้างที่ค้าง และไม่จ่ายค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าทำงานในวันหยุด พนักงาน 239 คน จึงเข้ายึดโรงงานชุมนุมอยู่ในบริเวณโรงงาน ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 52 เพื่อจะทำการผลิตเองและให้ติดตามนายจ้างมาเพื่อรับผิดชอบในสิทธิลูกจ้าง สหภาพแรงงานฯและพนักงานได้ดำเนินการตามขั้นตอนกฎหมายและต้องการให้มีการแก้ไขปัญหาอย่างรวดเร็ว จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการเร่งด่วนดังนี้
1.เร่งดำเนินการตรวจสอบการซื้อขายหุ้น ระหว่างกลุ่มทุนเกาหลีใต้กับนายมนวรรธน์ มีพฤติกรรมซับซ้อนหรือปิดบัง อำพราง เพื่อหวังลอยแพพนักงาน
2.กระทรวงแรงงานต้องจัดการกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อให้สนองตอบต่อหลักเจตนารมณ์ของการบังคับใช้กฎหมาย ในเรื่องของการบรรเทาความเดือดร้อน ตามนโยบายของรัฐบาล
3.ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินคดี กรณีนายจ้างกระทำความผิดค้างจ่ายค่าจ้าง และลูกจ้างเป็นผู้ได้รับความเสียหายโดยตรง ตาม ม.70 ม.144 ม.159 พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2551
4.เร่งดำเนินการให้พนักงานได้รับสิทธิตามกฎหมาย จากการเลิกจ้าง คือ ค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างในวันหยุดและเงินอื่นๆ
5.นโยบาย มาตรการต่างๆของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ ต้องปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน


บรรยากาศการชุมนุมหน้าทำเนียบ


ปัญหาและข้อเรียกร้องของพนักงาน เวิลเวล การ์เมนท์ นั้นเนื่องด้วยบริษัทเวิลเวล การ์เมนท์ ได้ปิดกิจการลอยแพคนงานจำนวน 41 คน เมื่อวันที่ 2 พ.ค.52 โดยไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้า ค้างจ้ายค่าจ้างและไม่ได้จ่ายค่าชดเชยใดๆทั้งสิ้น ซึ่งบริษัทนี้ทำการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกให้แก่ยี้ห้อดัง อย่าง ดิสนีย์ ฮาเล่ย์เดวิลสัน สคูลและไทร์อัมพ์ เป็นต้น และล่าสุดนายจ้างได้ฟ้องข้อหาบุกลุกสถานที่ ดังนั้นข้อเรียกร้อง คือ รัฐบาลดำเนินการ ให้มีการจ่ายค่าชดเชย ค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและค่าจ้างที่ค้างจ่าย รวมถึงถอนฟ้องคดีดังกล่าว


เคลื่อนขบวนผ่านลานพระบรมรูปทรงม้า




ระหว่างเดินขบวนไปรัฐสภา คนงานไทรอัมพ์ต้องเอาลูกขี่หลัง



ทั้งนี้กลุ่มผู้ชุมนุมได้รออยู่หน้าทำเนียบจนถึงเวลา 12.00 น.ก็ยังไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลมาชี้แจง จึงได้ทำการเคลื่อนขบวนไปยังหน้ารัฐภา ผ่านลานพระบรมรูปทรงม้า โดยผู้ชุมนุมได้ชุมนุมบริเวณหน้าประตู 1 ทั้งนี้ผู้ชุมนุมรอเป็นระยะเวลานานรัฐบาลก็ยังไม่มีใครมา จนกระทั้งประธานวิปฝ่ายค้านเสนอเป็นตัวกลางเพื่อพาไปยื่นหนังสื่อต่อนายกเอง จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจด้านใน ที่ถูกควบคุมโดย พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำ รวจนครบาล 1 (ผู้การหูดำ) เปิดเครื่องแอลแรด (LRAD) หรือ Long Range Acoustic Device ซึ่งไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า โดยเครื่องดังกล่าวสังเกตุได้ชัดว่าใหม่พึ่งแกะบรรจุภัณฑ์ และเครื่องนี่ จะก่อให้เกิดเสียงความถี่สูงที่มีผลต่อโสตประสาท เมื่อได้ยินเสียงจะมีอาการเจ็บปวดแก้วหู บางรายอาจคลื่นไส้ อาเจียน ทั้งนี้หลังจากเปิดเครื่องดังกล่าว ได้สร้างความโกรธแค้นแก่ผู้ชุมนุมเป็นอย่างมาก เนื่องจากตัวแทนผู้ชุมนุมจะได้ไปพบประธานวิปฝ่ายค้านเพื่อยื่นหนังสืออยู่แล้วในตอนนั้น


เครื่องแอลแรด ที่เปิดจากในรัฐสภาใส่ผู้ชุมนุม





หลังจากเปิดเครื่องแอลแรด ดังกล่าว ซึ่งมีการเพลงหนักแผ่นดิน เพลง ทรงพระเจริญ ฯลฯ พร้อมสลับกับการประกาศของผู้การดังกล่าวซึ่งเป็นเสียงที่มีความถี่สูง จนไม่สามารถฟังได้ว่าพูดอะไร ขณะที่ผู้ชุมนุมด้านนอกก็มีการร้องเพลงประชัน เช่นเพลงเปิบข้าว เพลง Solidarity เป็นต้น เป็นเวลาประมาณ 20 นาที จิตรา คชเดช จึงขอให้ทางตำรวจยุติการเปิดเครื่องดังกล่าว แล้วชี้แจงว่าทางผู้ชุมนุมด้านนอกได้รับการประสานจะเขาไปข้างในอยู่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ด้านในจึงยุติการเปิดเครื่องดังกล่าว


ภาพกิจกรรมหน้ารัฐสภา “เลิกจ้างคนป่วย คนท้องแล้วจะไป...ทำอะไร”



โดยเวลาประมาณ 15.00 น.ตัวแทนผู้ชุมนุมด้านนอก 10 คนได้เข้าไปยื่นหนังสือและพูดคุยกับประธานวิปฝ่ายค้าน คือนายวิทยา บุรณศิริ และต่อด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คือนาย ไพฑูรย์ แก้วทอง


บรรยากาศช่วงรอการตัวแทน หน้ารัฐสภา หลังเผชิญกับเครื่องแอลแรด



บรรยากาศที่ประชุมด้านในระหว่างตัวแทนผู้ชุมนุมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน


หลังจากนั้นเวลาประมาณ 17.00 น.ตัวแทนดังกล่าวได้ออกมาเพื่อชี้แจงต่อผู้ชุมนุมด้านนอก ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้
ตัวแทนจากคนงานบริษัท เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ ชี้แจงว่า ได้พบกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง โดยได้ยื่นข้อเสนอ 2 ข้อ คือ
1. ให้ถอนฟ้องคดีอาญากับคนงาน
2. ให้นายจ้างนำเงินมาจ่าย ทั้งเงินค้างจ่ายและค่าชดเชย
ตัวแทนจากคนงานบริษัท เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ ชี้แจงต่อไปว่า “ในข้อแรกก็จะหาเงินมาประกันให้ แต่ตัวแทนจากคนงานบริษัท เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์บอกว่าไม่พอใจ เพราะข้อเรียกร้องของเราต้องการให้เขาถอนแจ้งความ ส่วนข้อ 2 นั้น รมต.บอกให้เป็นไปตามขบวนการของศาล ซึ่งพวกเราก็รู้ว่ามันต้องเป็นไปตามขบวนการของศาล แต่ที่มาในวันนี้ก็เพื่อต้องการให้เร่งรัด ใช้อำนาจในฐานะที่เป็นรัฐมนตรี เพื่อให้เราได้คุยกับนายจ้างเพื่อนำเงินมาจ่ายพวกเรา” และย้ำว่าไม่พอใจกับคำตอบของรัฐมนตรี แล้วอาทิตย์หน้าจะเดินทางมาพบกับรัฐมนตรีอีกครัง

หน้ารัฐสภาประตู 1



ต่อมาตัวแทนจากสหภาพแรงงาน อิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือ ซึ่งเป็นคนงานบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์(ไทยแลนด์) จำกัด ได้ขึ้นมาชี้แจงต่อว่า ได้เรียกร้องให้เร่งรัดรัฐดำเนินการตรวจสอบการถือหุ้นของนายทุนใหม่ที่เข้ามาในบริษัท ซึ่งทางตัวแทนมองว่าบุคคลดังกล่าวมาเพียงเพื่อรับจ้างขึ้นศาลเท่านั้น
และข้อเรียกร้องต่อมาคือให้นำนายจ้างซัมซุงมาเพราะเป็นต้นตอของปัญหาทั้งหมด ซึ่งรัฐมนตรีก็รับปากว่าจะเชิญมาคุยพร้อมกับลูกจ้างเอนี่ออน

บรรยากาศระหว่างการชี้แจง



สุดท้ายตัวแทนของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ชี้แจง ต่อผู้ชุมนุมว่า “ทำไมรัฐสภาเขาไปยากเย็นเหลือเกิน ทั้งๆที่เป็นตัวแทนของประชาชนและสร้างมาจากเงินภาษีของพวกเราเองด้วยซ้ำ ขณะที่ไปที่อื่นเราได้รับการต้อนรับ บอกให้รอประตู 1 ก็รอ พอบอกให้ไปประตู 2 ก็ไป พอให้ไปประตู 3 ก็ไปอีกแต่กลับไม่ให้เข้า พร้อมล๊อกประตู แล้วจะให้เราเข้าประตูไหนกันแน่ มีอาวุทธในมือนั้นก็ยิงมาเลยพวกเราไม่กลัว ทำไมต้องหลอกให้เราไปประตูนั้นประตูนี้ ทีหลังรัฐสภาก็สร้างประตูเดียวจะไม่ต้องให้ไปประตูนั้นประตูนี้”
ตัวแทน สร.ไทรอัมพ์ฯ ชี้แจงต่อไปอีกว่า “เมื่อเขาไป จิตรา ก็สอบถาม พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำ รวจนครบาล 1 ว่า ทำไมต้องมาขู่พวกเรา ทำไมต้องเอาเครื่องเสียงทำลายประสาทมาเปิด ที่นายจ้าง เอนี่ออน และ เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ไม่จ่ายเงินผิดกฏหมาย ทำไมไม่ไปจับ แต่จะมาจับพวกเราที่เป็นคนงาน เขาบอกว่าดูถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจ เขาจะเอาคนมาจับที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ที่ปรึกษาเราก็บอกว่าเชิญเลยอยากจับก็เชิญเลย ตัวเขาไม่กล้าจับ สังลูกน้อง ซึ่งในครั้งแรกลูกน้องก็ไม่กล้าลุก พอครั้ง 2 ก็เข้ามาจะจับจึงถูกขวางโดยคนงานหญิงที่เข้าไปเป็นตัวแทนด้วย พอถามว่าจะจับด้วยข้อหาอะไร เขาบอกข้อหาหมิ่นประมาท ถามว่าหมิ่นตรงไหน แค่เราบอกว่าทำไมไม่ไปจับนายจ้าง เอนี่ออน และ เวิล์ลเวลล์การ์เม้นท์ไม่จ่ายเงินค่าชดเชย ผิดกฏหมาย อย่างงี้หมิ่นตรงไหน ท่านไพฑูลย์บอกให้เขาจับ จะไปประกันตัวเอง”

ตัวแทน สร.ไทรอัมพ์ฯ กล่าวต่อว่า “วันนี้ได้ไปพบประธานวิปฝ่ายค้านชื่อ วิทยา เราก็ได้ยื่นหนังสือ ท่านก็บอกว่าในกรณีไทรอัมพ์ฯจะดูแลเป็นอย่างดี แล้วก็ได้ต่อสายถึง กรุง ศรีวิไลย ส.ส.ที่ประจำอยู่บางเสาธง แล้วถ้าหากโดนจับจะให้ ส.ส.มาประกันตัวให้ พร้อมกับจะไปเยียมที่ชุมนุม ประธานวิปฝ่ายค้านบอกจะช่วยดูให้ ทำไมบริษัทนี้มี Code แนวทางปฏิบัตตั้งหลายอย่าง พร้อมทั้งมีข้อตกลงสภาพการจ้างปี 42 แล้วก็ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ปี 18 ด้วย เดี๋ยวเขาจะดำเนินการ พอคุยกับประธานวิปฝ่ายค้านเสร็จก็ไปประชุมร่วมกับ รมต.กระทรวงแรงงาน คุณ ไพฑูรย์ แก้วทอง ซึ่งเราก็ได้แจ้งให้ทราบว่าเราได้ทำอะไรบ้าง แล้วเราก็แจ้งต่อกระทรวงแรงงานก่อนที่จะมีการประกาศเลิกจ้างแล้วด้วย แต่บริษัทก็ไม่มาปรึกษาหารือก่อน เราบอกว่าเป็นไปได้ไหมกระทรวงแรงงานจะเข้ามาดูแลตรงนี้ เก็บอกว่าจะมาดูให้”

“แล้วเราก็เสนอให้บริษัทถ้าจะมีการปรับโครงสร้าง ให้บริษัทรับพวกเรากลับเข้าทำงานแล้วก็ปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน แล้วก็ให้บริษัทให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการจ้างงานแบบ Sub-contract ท่านไพฑูลย์ ก็รับปาก จากที่ได้รายละเอียดจากพวกเราไปหมด ซึ่งไม่เคยได้รายละเอียดเหล่านี้เลย แล้วหลังจากวันที่ 8 ก.ย. กลับมาจากเมืองนอกจะกลับมาแล้วเชิญนายจ้างมาคุยกับลูกจ้าง ให้บริษัททำตามแนวทางปฏิบัติของตนเองหรือ Code และปฎิบัติตาม พรบ.แรงงาสัมพันธ์ปี 18 เราเชื่อว่าหากเปิดให้มีการสมัครใจและคุยกับสหภาพแรงงาน เราจะไม่มีเหตุการณ์อย่างนี้ แล้วขอให้เจ้าหน้าที่ไปดูแลพวกเราด้วย เนื่องจากขณะนี้เราถูกคุกคามอย่างหนัก ” ตัวแทน สร.ไทรอัมพ์ฯกล่าวปิดท้าย

สุดท้ายก่อนแยกย้ายกลับบ้านได้มีการ่วมร้องเพลง Solidarity ร่วมกันก่อนสลายการชุมนุมในเวลา 17.30 น.

ออกหมายจับหน.ม็อบไทรอัมพ์พาพวกยึดทำเนียบ


หมายจับจิตรา คชเดช รูปจาก www.bangkokbiznews.com



ล่าสุด สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. รายงานว่า พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึง เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ดุสิต ได้ออกหมายจับ นายสุนทร บุญยอด อายุ 50 ปี น.ส.บุญรอด สายวงศ์ 33ปี และ น.ส.จิตรา คชเดช อายุ 34 ปี ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก กรณีเมื่อวานที่ผ่านมา ทั้งสามคนได้เป็นแกนนำนำกลุ่มผู้ชุมนุมไทรอัมพ์ประมาณ 300-400 คน บุกปิดล้อมทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นหนังสือถึง นายกฯ ให้ช่วยเหลือคนงานที่ถูกบริษัทเลิกจ้างแต่เนื่องจาก นายกฯ ติดภารกิจ ไม่มารับหนังสือด้วยตนเอง ทำให้ผู้ชุมนุมไม่พอใจ ปิดถนนหน้าทำเนียบฯและเมื่อทราบว่า นายกฯ ไปประชุมที่รัฐสภา ก็ได้รวมตัวกัน ปิดถนนด้านหน้ารัฐสภาอีกครั้ง ทำให้ประชาชน ได้รับความ
เดือดร้อน รวมถึง ผู้ที่มาติดต่อราชการ

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวอีกว่า การชุมนุมขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย ก็สามารถทำได้ และจะไม่ถูกดำเนินคดี

ซึ่งทางประชาไทได้สอบถามไปยังสถานีตำรวจดุสิต เจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งซึ่งปฏิเสธจะเปิดเผยชื่อให้ข้อมูลว่า พ.ต.ท.สมบัติ เหมันต์ ซึ่งเป็นเจ้าของคดี ได้ออกหมายจับนายสุนทร บุญยอด อายุ 50 ปี น.ส.บุญรอด สายวงศ์ 33ปี และ น.ส.จิตรา คชเดช อายุ 34 ปี วานนี้ (27 ส.ค.) ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก ตามประมวลกฎหมายอาญา ม.215-216

ด้าน น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับ กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวจากเว็บไซต์ไอเอ็นเอ็นเมื่อช่วงบ่ายวันนี้ และยังไม่ได้รับหมายจับหรือการแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่อย่างใด ส่วนจะทำอย่างไรต่อไปนั้น คงต้องรอผลจากการประชุมสหภาพฯ ก่อน

น.ส.จิตรา ตั้งคำถามว่า เหตุใดเมื่อคนงานออกไปเรียกร้องสิทธิที่ถูกเลิกจ้าง เรียกร้องเพื่อปากท้อง ต้องโดนข้อหารุนแรงเช่นนี้ และว่า คนงาน 300-400 คน ซึ่งเป็นผู้หญิงและคนแก่จะปิดล้อมทำเนียบได้อย่างไร

อนึ่ง น.ส.บุญรอด สายวงศ์ ซึ่งเป็นเลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ น.ส.จิตรา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาสหภาพแรงงานฯ และนายสุนทร บุญยอด ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สภาศูนย์กลางแรงงาน ได้ร่วมชุมนุมกับคนงานสหภาพไทรอัมพ์ฯ วานนี้ (27 ส.ค.) เพื่อทวงถามความคืบหน้าจากรัฐบาล ในการแก้ปัญหากรณีที่ถูกเลิกจ้าง

ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัว หน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๒๑๕ ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข่าว"ออกหมายจับหน.ม็อบไทรอัมพ์พาพวกยึดทำเนียบ" เรียบเรียงจาก www.innnews.co.th และประชาไทย