เมื่อวันที่ 13 ก.ค.52 ที่ผ่านมา เวลา 9.00 น. พนักงานและสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ นักศึกษาและองค์กรเพื่อนมิตร ประมาณ 700 คน ได้ทะยอยกันมารวมตัวกันบริเวณหน้าหน้าสวนรถไฟ ตรงข้ามห้างเซนทรัลลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต ซึ่งส่วนใหญ่เดินทางมาโดยรถโดยสารประจำทางและรถ TEXI หลังจากนั้นเวลาประมาณ 11.00 น. ได้เคลื่อนขบวนไปยังหน้าสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ใกล้กับตึก ปตท. เพื่อขอคำชี้แจงและเรียกร้องให้ BOI มารับผิดชอบกรณีบอร์ดบีโอไออนุมัติ ไทรอัมพ์ทุ่ม 75 ล้าน ขยายฐานการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป(ตามข่าวแนวหน้า ฉบับวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2551) จนเป็นเหตุให้นายจ้างย้ายฐานการผลิตไปที่นครสวรรค์ส่งผลให้เกิดการเลิกจ้าง 1,956 คน
เมื่อถึงบริเวณดังกล่าวได้มีการผลัดกันปราศรัยถึงปัญหาการเลิกจ้าง โดยตัวแทนของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ นอกจากยังมีตัวแทนจากสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย(สนนท.) กลุ่มนักศึกษานักกิจกรรมจากมหาวิทยาลัยรามคำแห่ง รวมทั้งตัวแทนจากกลุ่มองค์กรเพื่อนมิตร เช่น สมาพันธสิ่งทอฯ กลุ่มกรรมกรปฏิรูป กลุ่มประกายไฟ เป็นต้น ที่ขึ้นมาร่วมปราศรัยเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นและปัญหาเกี่ยวกับแรงงานไทยในปัจจุบัน พร้อมทั้งให้กำลังใจ
จากนั้นเวลาประมาณ 12.00 น. ตัวแทนของผู้ชุมนุมได้เข้าไปเจรจาในสำนักงาน BOI โดยมีตัวแทนจากกระทรวงอุตสาหกรรมและ BOI เข้าร่วมเจรจา ในช่วงแรกประกอบด้วย นายชิตวร วรศักดิ์ รองเลขาธิการ BOI นายสุรศักดิ์ นาคดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิรัตน์ ศักดิ์จิราพาพงษ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมฝ่ายการเมือง สักระยะหนึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายชาญชัย ชัยรุ่งเรืองและเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) นางอรรชกา บริมเบิล สีบุญเรือง ได้เข้าร่วมเจรจา โดยระหว่างการพูดคุยนั้นทางตัวแทนของ BOI ก็กล่าวย้ำถึงงานหลักของ BOI คือการดึกการลงทุน เพื่อดึงเงินเข้าประเทศและเพื่อให้เกิดการจ้างงานด้วย
ผลการเจรจาได้ข้อสรุปว่า ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพร้อมที่จะเปิดเผยข้อมูลและเหตุผลในการส่งเสริมการลงทุนในภายหลังตามขั้นตอน ที่สำคัญทางตัวแทน BOI และกระทรวงอุตสาหกรรมที่มาเจรจารับปากว่าจะเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหาทางช่วยเหลือ พร้อมทั้งจะพยายามพูดคุยกับนายจ้างให้ทบทวนการเลิกจ้างดังกล่าวภายใน 1 – 2 วันนี้
หลังจากนั้น เวลาประมาณ 14.00 น. เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) นางอรรชกา บริมเบิล สีบุญเรือง นายสุรศักดิ์ นาคดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม นายวิรัตน์ ศักดิ์จิราพาพงษ์ โฆษกกระทรวงอุตสาหกรรมฝ่ายการเมือง ได้ออกมาพร้อมกับตัวแทนเจรจายังที่ชุมนุมด้านหน้าสำนักงานดังกล่าว เพื่อทำการรับหนังสือขอให้ชี้แจงเรื่องสนับสนุนการลงทุน ที่ทางสหภาพฯมายื่น พร้อมทั้งกล่าวทักทายผู้ชุมนุมและให้คำยืนยันว่าจะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา และจะมีการพูดคุยกับนายจ้างเพื่อให้ทบทวนเรื่องการเลิกจ้าง ท่ามกลางสายฝนที่โปรยปรายมาก่อนหน้านี้เป็นเวลาพักใหญ่
หลังจากนั้นผู้ชุมนุมก็สลายการชุมนุม โดยส่วนหนึ่งทะยอยกลับไปยังที่ชุมนุมบริเวณหน้าโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลีกับเพื่อนที่ยังปักหลักชุมนุมอยู่ตลอดต่อไป
แถลงการณ์เรียกร้องความเป็นธรรม
นายทุนชุดชั้นในยักษ์ใหญ่ “ ไทรอัมพ์” ตบหน้า BOI อย่างแรง ให้สนับสนุนการลงทุนกลางเมื่อปีที่แล้ว ในจังหวัดนครสวรรค์รองรับคนงาน 2,000 กว่าคน แล้วมาเลิกจ้างคนงานที่สมุทรปราการ 1,959 คน ซึ่งมีแต่คนงานอายุมาก คนท้อง คนป่วย คนพิการ และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน
ได้ไม่คุ้มเสียจ้างงานเพิ่มไม่กี่คน แต่ค่าจ้างแรงงานต่างกัน แล้วจะทำให้เศรษฐกิจโดยรวมมีสภาพคล่องและฟื้นตัวได้อย่างใร หลักคิดของBOI คืออะใรกันแน่หรือหลับหูหลับตาสนับสนุนการลงทุน โดยไม่คำนวณได้หรือเสีย
เรียนพี่น้องประชาชนทุกท่าน
พวกเราองค์กรเพื่อนมิตรและคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัดซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล ตั้งอยู่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต. บางเสาธง อ. บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ผลิต ชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO ,HOM บริษัทฯได้มีการประกาศเลิกจ้างคนงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ทั้งหมด 1,959 คน เป็นจำนวน 50% ของคนงานทั้งหมดที่ โรงงานบางพลีให้มีผลการพ้นสภาพการเป็นคนงานของบริษัทบอดี้ฯในวันที่ 31 สิงหาคม 2552 และคนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯกรรมการสหภาพแรงงานฯถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน เป็นและเป็นอนุกรรมการ มีคนท้อง คนงานอายุมาก คนป่วย คนพิการและส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิง ในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯได้อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ซึ่งเป็นข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า สรุปข่าวโลกธุรกิจ ลงวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2008 ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 75.5 ล้านในปัจจุปันโรงงานที่นครสวรรค์มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงาน
สหภาพแรงงานฯเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ เป็นการย้ายฐานการผลิตเพื่อหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก และทำลายสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานขอเรียกร้องความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในฐานะเจ้าหนี้เป็นผู้สนับสนุนเงินทุนให้บริษัทฯและส่งเสริมไม่ให้บริษัทฯเสียภาษี คือ ขอให้บริษัทฯยกเลิกแผนการเลิกจ้างคนงานทั้งหมด และเข้าสู่ขบวนการปรึกษาหารือ การมีส่วนร่วมของสหภาพแรงงานฯ โดยให้คนงานมีสิทธิสมัครใจออก เพื่อคนที่พร้อมจะออกงานจะได้ไม่เป็นภาระของสังคม คนที่ต้องการทำงานต่อจะได้ไม่ไปเป็นคนตกงานในอนาคต หรือเป็นเพียงคนงานห้องแถวเป็นซับคอนแท็ค ที่ถูกกดขี่ขูดรีดอย่างรุนแรงจากนายทุน BOI จะยอมให้อนาคตของคนงานไทยเป็นอย่างนี้หรือ หรือการสนับสนุนการลงทุนให้นายทุนร่ำรวยแล้วคนเป็นพันต้องมาเป็นภาระของสังคม BOI ต้องตอบคำถามต่อผู้ได้รับผลกระทบจากการส่งเสริมการลงทุน และในฐานะเป็นผู้เสียภาษีให้กับ BOI
ในขณะนี้คนงานทั้งหมดชุมนุมอยู่ที่ ข้างโรงงานเพื่อรอความเป็นธรรม ทุกท่านสนับสนุนการต่อสู้ได้ติดต่อ เบอร์โทร 084-5382016เบอร์โทร 087-0206672 Email: ning2475@hotmail.com
หนังสือถึง BOI
สทอท.ที่ 0055/2552
13 กรกฎาคม 2552
เรื่อง ขอให้ชี้แจงเรื่องส่งเสริมการลงทุนให้บริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัดที่จังหวัดนครสวรรค์
เรียน ประธานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI)
สิ่งที่ส่งมาด้วย - สำเนาข่าวการส่งเสริมการลงทุน
- แผ่นCD บันทึกเจ้าหน้าที่ส่งเสริมการลงทุนไปสนับสนุนบริษัทฯในระหว่าการ ชุมนุมกรณีเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานฯวันที่22 สิงหาคม 2551
ตามที่บริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัดซึ่งเป็นบริษัทในเครือของบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลตั้งอยู่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต. บางเสาธง อ. บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ผลิต ชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO HOM ได้มีการประกาศเลิกจ้างคนงานเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ทั้งหมด 1,959 คน เป็นจำนวน 50% ของคนงานทั้งหมดที่ โรงงานบางพลีให้มีผลการพ้นสภาพการเป็นคนงานของบริษัทบอดี้ฯในวันที่ 31สิงหาคม 2552 และคนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯเป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน และมีคนท้อง คนงานวัยใกล้เกษียณคนป่วย คนพิการในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯได้อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ซึ่งเป็นข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า สรุปข่าวโลกธุรกิจ ลงวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2008 ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 75.5 ล้านในปัจจุปันโรงงานที่นครสวรรค์มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน ย้ายฐานการผลิตหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เป็นการเลิกจ้างคนงานที่ทำงานให้บริษัทฯมาอย่างยาวนานอายุมาก เพราะการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประสิทธิผลตามที่บริษัทกล่าวอ้างนั้นมีวิธีการที่สร้างสรรค์หลากหลายวิธีมากกว่าการทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็ไม่ได้มีมาตราการอื่นที่จะสร้างประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด
ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การส่งเสริมการลงทุนในโครงการต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน และตามหลักการการขอและการให้การส่งเสริม ตามมาตรา 16 พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 แก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 3 พ.ศ.2544 ที่ว่าด้วยกิจการที่คณะกรรมการจะพึงให้การส่งเสริมการลงทุนได้ ต้องเป็นกิจการที่สำคัญและเป็นประโยชน์ในด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ กิจการผลิตเพื่อส่งออกไปจำหน่ายต่างประเทศ กิจการที่ใช้ทุน แรงงานหรือบริการในอัตราสูง เป็นต้น และตามแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ในมาตรา 83 (7) ส่งเสริมให้ประชากรวัยทำงานมีงานทำ คุ้มครองแรงงานเด็กและสตรี จัดระบบแรงงานสัมพันธ์ และเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐบาลนายกอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ได้แถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนระยะ 1 ปี ในเรื่องของการรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ได้เสนอให้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน
คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐที่มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดสวัสดิการสูงสุดแก่ประเทศจากงบประมาณที่ได้มาจากภาษีของประชาชนนั้น การส่งเสริมการลงทุนในโครงการต่างๆ นอกจากการวิเคราะห์หรือประเมินผลทางทางด้านการเงินและเทคนิคแล้ว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการวิเคราะห์และประเมินผลทางเศรษฐกิจ ที่มองทั้งผลดีผลเสีย เพื่อพิจารณาผลกระทบของโครงการต่อสวัสดิการทางเศรษฐกิจที่อาจวัดในรูปของการเพิ่มรายได้แท้จริงให้กับประเทศโดยส่วนรวม อันจะนำไปสู่ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน ซึ่งทางคณะกรรมการฯก็ได้ยืนยันไว้ในพันธกิจว่าต้องมีการวิเคราะห์โครงการการขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตรวจสอบและควบคุมตลอดจนประเมินผลการลงทุนตามโครงการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน สิ่งต่างๆเหล่านี้ถือเป็นเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในการให้การส่งเสริม ซึ่งสอดคล้องกับกฎหมายสูงสุดและนโยบายของรัฐบาล รวมถึงพระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน
แต่ผลจากการที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ส่งเสริมบริษัทฯดังกล่าว อันเป็นต้นเหตุหนึ่งที่ทำให้นายจ้าง ฉวยโอกาสเลิกจ้างพนักงานถึง 1,959 คนย้ายฐานการผลิต และเพื่อหนีสหภาพแรงงานฯและหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก ซึ่งขัดกับเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในการให้การส่งเสริมข้างต้น ด้วยเหตุนี้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จึงขอให้ท่าน
1. ให้คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนเปิดเผยข้อมูลและเหตุผลในการส่งเสริมบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัดและบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล(ประเทศไทย)จำกัด ตามหลักธรรมาภิบาล และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ใน ม.74 และ ม.78 (5) ในเรื่อง การจัดทำและการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และตรวจสอบได้ โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงม.3/1 แห่ง พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 แก้ไขเพิ่มเติมโดย พรบ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน(ฉบับที่ 5 ) พ.ศ.2545 มุ่งเน้นให้ส่วนราชการใช้วิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติราชการ กล่าวคือ การบริหารราชการเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อการกิจของรัฐ ความมีประสิทธิภาพ ความคุ้มค่าเชิงการกิจแห่งรัฐ และตามพรบ.ข้อมูลข่าวสาร
2. คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต้องให้บริษัทฯที่ได้รับการส่งเสริมรับคนงานกลับเข้าทำงานทันทีและไม่มีการเลิกจ้าง
3. เพื่อในสอดคล้องกับเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญในการให้การส่งเสริมข้างต้น การส่งเสริมการลงทุนต้องไม่ให้คนงานได้รับผลกระทบ ถูกเลิกจ้าง เมื่อมีการเลิกจ้างคนงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ต้องหยุดการสนับสนุนบริษัทฯในทุกๆด้านจนกว่าจะมีการรับคนงานกลับเข้าทำงาน
4. เพื่อให้สอดคล้องกับวิสัยทัศของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่ต้องการการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่ยั่งยืน ดังนั้นการส่งเสริมการลงทุนต้องมีมาตรการที่ชัดเจนว่าบริษัทฯได้รับการส่งเสริมการลงทุนต้องไม่มีการเลิกจ้างคนงาน และต้องปฎิบัติตามหลักมาตรฐานหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ(OECD Guidelines) ตามหลัก OECD Guidelines for MNEs, CODE OF CONDUCT ของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯและมาตรฐานแรงงานไทย
ฉะนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะยอมรับตามข้อเสนอสหภาพแรงงานและเข้ามาแก้ปัญหาการเลิกจ้าง จึงเรียนมาเพื่อให้ท่านดำเนินการ
จึงขอขอบคุณมา ณ. โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
นางสาวบุญรอด สายวงศ์
เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
สำเนาถึง : นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)International Labour Organization (ILO)