Google
 

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เสวนา : การละเมิดสิทธิแรงงาน: กรณีศึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ โฮยา อัลมอนส์ ฯลฯ"



Wed, 2008-08-13 02:31










12 ส.ค.51 ภายหลังการผละงานของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศ มาเป็นเวลา 12 วันเพื่อเรียกร้องให้บริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัดรับประธานสหภาพ "จิตรา คชเดช" เข้าทำงาน หลังบริษัทยื่นขอเลิกจ้างต่อศาลแรงงานและศาลอนุญาต โดยอ้างว่าจิตราใส่เสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ออกรายการทีวีทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง ในวันนี้จึงมีการจัดเสวนาว่าด้วยสิทธิแรงงานและกระบวนการยุติธรรมขึ้น โดยมีสมาชิกสหภาพแรงงานจากหลายแห่งเข้าร่วม ทั้ง สหภาพไทรอัมพ์ฯ สหภาพอัลมอนด์ฯ สหภาพทีไอจีฯ รวมผู้เข้าร่วมประมาณ 100 คน







จิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เล่าถึงการเลิกจ้างว่า ก่อนหน้านี้นายจ้างมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของแรงงานมาโดยตลอด และพยายามจะลดบทบาทของสหภาพ เพราะสภาพไทรอัมพ์มีสมาชิกในฝ่ายผลิตเกือบ 100% ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2523 ทำหน้าที่เรียกร้องค่าจ้าง สวัสดิการให้ลูกจ้างได้ค่อนข้างดี เรียกได้ว่าในหมู่อุตสาหกรรมตัดเย็นเสื้อผ้าไทรอัมพ์มีสวัสดิการ ค่าจ้าง ที่น่าจะดีที่สุดในประเทศ และยังเคยผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ มีประสบการณ์การผละงานครั้งแรกปี 2535 ถูกนายจ้างปิดงานปี 2542 ทำคนงานผ่านการเรียนรู้และให้ความสำคัญกับสหภาพ







อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลังสหภาพมีความขัดแย้งกับนายจ้างในระบบการจ้างงานที่บริษัทหันมาใช้ระบบ SAP ซึ่งทำให้คนงานทำงานหนักมากขึ้น แต่ค่าจ้างคงเดิม สภาพจึงเรียกร้องค่าจ้างเพิ่ม รวมถึงตรวจสอบเรื่องคอรัปชั่นในโรงงานทุกรูปแบบด้วย นอกจากนี้สหภาพยังประสบปัญหาในการจดทะเบียนกรรมการสหภาพกับกระทรวงแรงงาน และล่าสุดคือกรณีต่อรองกับบริษัทเกี่ยวกับสภาพการจ้างงานจนกระทั่งเกือบจะมีการนัดหยุดงาน







ส่วนกรณีการเลิกจ้างครั้งนี้ จิตรากล่าวว่า ทางบริษัทได้เชิญตัวเธอไปแจ้งเรื่องดังกล่าวที่สำนักงานใหญ่ และยื่นข้อเสนอให้ลาออกไปเงียบๆ พร้อมเงินชดเชย 11 เดือน แต่เธอไม่ยอมและนำเรื่องมาแจ้งทางสหภาพจนเป็นที่มาของการผละงาน ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังมีการชุมนุมกันอยู่หน้าโรงงาน และที่ผ่านมาเธอยืนยันว่าไม่ได้รับหมายศาลให้เข้าไปให้การแต่อย่างใด เพราะส่งที่บ้านเช่าซึ่งคนงานโรงงานย้ายบ้านเช่าเป็นประจำ ทั้งนี้ ในวันพรุ่งนี้ (13 ส.ค.) จะมีการหารือกันอีกครั้งระหว่างสหภาพกับบริษัท โดยได้รับมติจากทางบริษัทแม่ที่ประเทศเยอรมนีด้วย







"ข้อหาที่บริษัทขออำนาจศาลเลิกจ้าง อ้างว่าทำให้บริษัทได้เสื่อมเสียชื่อเสียง ถ้าใครได้ดูทีวีจะเห็นว่าในรายการมองไม่เห็นข้อความเหล่านี้เลย แต่เว็บไซต์ผู้จัดการพยายามเชื่องโยงว่านี่เป็นกลุ่มขบวนการต่างๆ"







"การผละงานเป็นวิธีการต่อสู้อย่างหนึ่ง เพราะเห็นว่าวิธีอื่นคงใช้ไม่ได้ เพราะศาลได้ตัดสินไปแล้วเรื่องการเลิกจ้าง เสียงจากทางกระทรวงก็บอกนายจ้างทำถูก ตำรวจก็บอกนายจ้างทำถูก เพราะว่าศาลเป็นตัวชี้แล้วว่าถูก แต่ไม่ดูในกระบวนการเลยว่านายจ้างใช้ช่องว่างและเทคนิคอะไรทำให้เราไม่ได้เข้าสู่การะบวนการต่อสู้ทางศาล" จิตรากล่าว







ประธานสหภาพไทรอัมพ์กล่าวด้วยว่า หากการผละงานไม่ทำให้ตกลงกัน และทำให้บริษัทยุติการทำลายสหภาพ ขั้นตอนต่อไปอาจต้องทำให้บริษัทหยุดการขายสินค้า







ศรีทน เปรื่องวิชาธร ประธานสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องไฟฟ้าสัมพันธ์ หรือที่รู้จักการในนาม สหภาพแรงงานโฮย่า กล่าวว่า นับเป็นสหภาพแห่งที่สองของนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ต่างไปจากทุกที่ แต่ที่ผ่านมาก็มีประเด็น 13 ข้อที่เราเรียกร้องไป เช่นเรื่องห้องน้ำ น้ำดื่ม จนบรรลุข้อตกลงภายหลังจากมีการก่อตั้งสหภาพ ซึ่งก่อนหน้านั้นต่อสู้ต่อรองกันมา 4 ปี โดยเหตุที่มีการตั้งสหภาพนั้น เป็นกรณีการออกสัญญาว่าหากมีการย้ายออกไปภายในระยะเวลา 2 ปี ห้ามไปประกอบอาชีพเกี่ยวกับสถานประกอบการเช่นเดียวกัน ถ้ามีการสืบทราบก็จะมีการปรับ 1 ล้านบาท มีพนักงานจำนวนหนึ่งมองเห็นแล้วว่า มีความไม่ยุติธรรม เป็นการจำกัดเสรีภาพ จึงมีการตัดตั้งสหภาพขึ้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว







หลังจากมีการก่อตั้งสหภาพ ก็เผชิญกับการให้ร้าย โจมตี ให้ข้อมูลเชิงลบเกี่ยวกับสหภาพแก่บรรดาสมาชิก และมีการเอาตำแหน่งหน้าที่การงานไปหลอกล่อสมาชิก โดยทางสหภาพพยายามชี้แจงให้สมาชิกทราบผ่านการทำสาสน์ เดือนละ 1-2 ครั้ง หลังจากนั้นก็มีการขอประชุมเอาข้อมูลให้กับสมาชิกสหภาพได้รับทราบ เราพยายามหลีกเลี่ยงการชุมนุม แต่นายจ้างไม่ยอมมาประชุมด้วย หลังจากนั้นเรายื่นหนังสือขอบอร์ดเพื่อติดประกาศก็ได้รับการปฏิเสธ หลังจากนั้นสหภาพทำหนังสือขอประชุมตามกฎหมายี่กำหนดให้ 3 เดือนต่อครั้ง ทำหนังสือทั้งหมด 7 ฉบับ แต่นายจ้างก็ปฏิเสธมาตลอด กระบวนการที่เริ่มส่อเค้าว่ามีการละเมิดและทำร้ายสหภาพแรงงานก็เกิดขึ้น และท้ายที่สุดมีการสั่งพักงาน 3 แกนนำ ประธาน รองประธาน และเลขาฯ สหภาพ







ศรีทนกล่าวต่อว่า ก่อนหน้านั้นก็มีหมายศาลออกมา โดยนายจ้างฟ้อง 3 แกนนำขอเลิกจ้างโดยจ่ายค่าชดเชย และมีการไต่สวนที่ศาล ต่อมา ระหว่างที่กระบวนการศาลยังดำเนินการอยู่ ก็ได้มีการแจ้งยกเลิกการจ้างงาน นายจ้างไม่ยอมมาพูดคุย แม้ว่าจะมีกระบวนการทางกฎหมายนายจ้างก็ปฏิเสธ และอาศัยช่องของนายทะเบียนเพื่อให้เลิกสหภาพแรงงาน ดังนั้นสหภาพไม่ได้ต่อสู้กับนายจ้างอย่างเดียว แต่ต่อสู้กับอะไรที่มากกว่านั้นด้วย







สมพงษ์ พัฒน์ภูมิ ประธานสหภาพแรงงานอัลมอนด์กล่าวว่า ต่อสู้ร่วมกับเพื่อพี่น้องแรงงานมาร่วม 8 ปี เรื่องการพยายามทำลายล้างสหภาพแรงงานก็ผ่านประสบการณ์มาคล้ายๆ กับที่อื่น การเรียกร้องของเราก็ไม่แตกต่างจากที่อื่นคือเรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิและสวัสดิการของแรงงาน การละเมิดสิทธิเริ่มมีตั้งแต่การก่อตั้งองค์กรในปี 2543 สร้างวามแตกแยกให้เกิดเป็น 2 ฝ่าย สิ่งที่ตามมาในปี 2545 คือการคนไล่ออก และสิ่งที่ตามมา คือเมื่อเริ่มตั้งสหภาพได้แล้ว นายจ้างจะเริ่มใช้กระบวนการทางศาล เราจะปฏิเสธไม่ได้ว่ากระบวนการทางศาลไม่มีผล เพราะเราไม่มีความพร้อมเท่านายจ้าง คดีแพ่ง คดีอาญาล้วนมีค่าใช่จ่าย และที่สำคัญหมายศาลก็มักจะถูกส่งไปที่ภูมิลำเนาเดิมในต่างจังหวัดด้วย







"การฟ้องร้องเกิดขึ้นควบคู่กันมาตลอดกับสหภาพแรงงานอัลมอนด์ คณะกรรมการสหภาพ ทุกปีจะมีหมายศาลประดับบารมีตลอด ในปี 2543 คณะกรรมการสหภาพถูกฟ้องร้องในคดีอาญาข้อหาทำความเสียหายให้กับบริษัท ถูกเรียกค่าเสียหาย 46 ล้าน" สมพงษ์กล่าว







สมพงษ์กล่าวต่อว่า เคยมีการเลิกจ้างโดยอ้างเรื่องการฝ่าฝืนข้อห้ามใส่เครื่องประดับเข้าอาคารผลิต ซึ่งเป็นคดีแรกที่ศาลก็ตีความว่าพระที่ห้อยคอเข้าอาคารการผลิตเป็นเครื่องประดับ แต่การตัดสินนี้สวนกระแสสังคม คณะกรรมการสิทธิฯ เองก็ตีความว่าการห้อยพระเป็นสิทธิส่วนบุคคล และเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ต้องรอให้ศาลฎีกาตัดสินก่อน







กระบวนการที่พยายามทำลายสหภาพมีมาตลอดและโดยเฉพาะการนำเรื่องเข้าสู่ศาล จนถึงปี 50 ก็ยังมีการฟ้องร้องเรื่อยๆ มีข้อหาที่ต้องต่อสู้กันมากมาย พร้อมๆ ไปกับการเลิกจ้างแกนนำ


ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2008/08/17697