Google
 

วันพฤหัสบดีที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2554

อัยการสั่งฟ้อง 3 แกนนำคนงาน ชุมนุมเกินสิบคนก่อความวุ่นวาย

อัยการสั่งฟ้อง 3 แกนนำคนงาน ชุมนุมเกินสิบคนก่อความวุ่นวาย


อัยการสั่งฟ้อง 3 แกนนำแรงงาน ข้อหาชุมนุมเกิน 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ศาลให้ประกันตัววงเงินคนละ 2 แสนบาท
เมื่อเวลา 11.00น. วันที่ 27 ม.ค. 54 ที่สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สำนักงานอัยการสูงสุด พนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง น.ส.จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ  น.ส.บุญรอด  สายวงศ์ อดีตเลขาธิการสหภาพฯ และนายสุนทร บุญยอด เจ้าหน้าที่สภาศูนย์กลางแรงงาน ในข้อหามั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง โดยเป็นหัวหน้า หรือ ผู้สั่งการเมื่อเจ้าพนักงานสั่งให้เลิกแล้วไม่เลิก (กฎหมายอาญา มาตรา 85, 215 และ 216) จากเการชุมนุมของคนงานเมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 โดยพนักงานอัยการได้ยกฟ้องข้อหากีดขวางทางจราจร (พ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา 108) เนื่องจากคดีหมดอายุความ
ทั้งนี้ พนักงานอัยการได้ส่งตัวผู้ต้องหาทั้งสามนำไปฝากขังที่ศาลอาญารัชดา  โดยมีอดีตคนงานบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ราว 40 คน มาให้กำลังใจ
ล่าสุด (16.25 น.) จำเลยทั้งสามได้รับการประกันตัวในชั้นศาลแล้ว ด้วยหลักทรัพย์วงเงินคนละ 200,000 บาท โดย น.ส.สุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนายประกัน น.ส.จิตราและ น.ส.บุญรอด และ นายสุชาติ ลายน้ำเงิน ส.ส.พรรคเพื่อไทย เป็นนายประกัน นายสุนทร
โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐาน ในวันที่ 28 มี.ค.นี้ เวลา 9.00 น.

แฟ้มภาพ โดยนักข่าวพลเมือง 27 ส.ค.52
สำหรับการชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ส.ค.52 นั้น เป็นการชุมนุมของคนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และ แม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ พร้อมองค์กรแรงงานและประชาชนกว่า 1,000 คน ไปยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากได้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี ก่อนหน้านั้น โดยในวันดังกล่าว มีการใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล หรือ LRAD กับผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งหลังจากนั้น นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งได้ทำหนังสือประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกร้องให้ถอนการออกหมายจับโดยทันที รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย


ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 83 ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวาง โทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัว หน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 216
 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา ๒๑๕ ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มติชนรายงาน :อัยการสั่งฟ้อง 3 แกนนำไทรอัมพ์ ข้อหามั่วสุมก่อความวุ่นวาย ดู http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1296127162&grpid=&catid=19&subcatid=1905