Google
 

วันพฤหัสบดีที่ 2 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

TLC ร่อนจดหมายถึงขบวนการแรงงานไทยและสังคมไทย ร่วมกันต่อสู้กับสหภาพฯ ไทรอัมพ์

Wed, 2009-07-01 23:12

โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย (Thai labour Campaign: TLC) ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ขบวนการแรงงานไทย และสังคมไทย อธิบายถึงความจำเป็นที่ต้องยืนหยัดต่อสู้ในสิทธิความเป็นคน สิทธิแรงงาน และสิทธิการที่จะต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาล





ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล บริษัทข้ามชาติในประเทศไทยที่ใช้กระบวนการผลิตไหลลงเหว

ถึง กรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ขบวนการแรงงานไทย และสังคมไทย

เมื่อปี 2546 อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กล่าวยืนยันอย่างหนักแน่นแข็งขันกับผู้เขียนว่า “ไทรอัมพ์ไม่มีทางประสบชะตากรรมการถูกเลิกจ้างเช่นโรงงานอื่นๆ เมื่อผู้เขียนถามต่อว่าไทรอัมพ์เตรียมความพร้อมอย่างไรถ้าถูกปิดงาน อดีตประธานสหภาพแรงงานท่านนั้นกล่าวอย่างแข็งขันว่า “นั่นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ในโรงงานไทรอัมพ์”
แต่สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ก็ได้เป็นจริงขึ้นมาแล้วเมื่อบริษัทประกาศเลิกจ้างคนงานที่มีอายุมาก ทำงานในแผนกที่เก่าแก่ที่สุด และเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานหญิงที่เข็มแข็งที่สุดในประเทศไทย 1,930 คน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 และประกาศเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานในฟิลิปปินส์อีก 1,600 คน ในเวลาเดียวกัน เท่ากับเป็นการทำลายสหภาพแรงงานที่เก่าแก่ และเข้มแข็งที่สุดในกลุ่มธุรกิจไทรอัมพ์ อินเตอเนชั่นแนล สองแห่ง ในสองประเทศที่เป็นกำลังการผลิตหลักที่นำความมั่งคั่งมาสู่กลุ่มธุรกิจไทรอัมพ์จนเป็นบรรษัทข้ามชาติรายใหญ่

จริงๆ แล้ว การเลิกจ้างครั้งนี้ ได้ส่อเค้าขึ้นมาตั้งแต่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 เมื่อบริษัทไทรอัมพ์ ประกาศเลิกจ้างจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานในขณะนั้น ด้วยข้อกล่าวหาอันเลื่อนลอย ครั้งนั้นสมาชิกสหภาพแรงงานกว่า 3,000 คน ได้ตัดสินใจประท้วงการกระทำของนายจ้างที่หน้าโรงงานโดยพร้อมเพรียงกันนับตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม – 12 กันยายน 2551 เป็นเวลารวมกัน 46 วัน จนบรรลุข้อยุติ คือบริษัทรับคนงานทั้งหมดกลับเข้าทำงาน โดยที่ปล่อยให้คดีของจิตรา คชเดช ดำเนินไปตามกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งทางสหภาพแรงงานก็ได้เตรียมมาตรการรองรับไว้แล้วเช่นกันโดยการรับจิตรา เข้าเป็นเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานในระหว่างการดำเนินคดี

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชันแนลแห่งประเทศไทย เป็นสหภาพแรงงานหญิง ที่นำโดยผู้นำหญิง ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด ที่สามารถยืนหยัดและฝ่าฝันทุกกระบวนการล้มสหภาพแรงงานมาได้จนถึงปัจจุบัน ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2523 และมีสมาชิก และคนงานที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาด้วยกันตั้งแต่ต้นที่ยังทำงานอยู่ด้วยกันจนถึงปัจจุบันนี้หลายร้อยคน นั่นหมายถึงว่าทำงานให้บริษัทไทรอัมพ์มากว่า 10 ปี 20 ปี และหลายคน กว่า 30 ปี

ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จะนำสมาชิกออกมาร่วมเดินขบวนเรียกร้องเพื่อสิทธิแรงงานและสิทธิสตรีมาอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในกิจกรรมวันสตรีสากลและวันกรรมกรสากล เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา สหภาพไทรอัมพ์ฯ และสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนังแห่งประเทศไทย ได้นำเสนอข้อเรียกร้องที่ก้าวหน้าด้านสิทธิทางเพศของคนงานหญิง ได้แก่ สิทธิการทำแท้งได้ตามความสมัครใจ ทั้งนี้เพราะพวกเธอไม่ต้องการต้องเจ็บปวดกับการพบเห็นคนงานหญิงได้รับอันตรายทางด้านสุขภาพและชีวิตจากการทำแท้งที่ไม่พึงประสงค์ในคลินิกเถื่อนทั้งหลาย และด้วยตระหนักดีว่าคนงานหญิงจำนวนมากไม่สามารถแบกรับภาระการมีบุตรในสภาพเศรษฐกิจ และสภาพการทำงานที่บีบคั้น โดยไม่มีมาตรการหนุนช่วยจากรัฐที่ดี ได้อีกต่อไป

แน่นอนว่า ตลอดสามสิบปีที่ผ่านมา แกนนำและสมาชิกสหภาพรุ่นแล้วรุ่นเล่าได้ต่อรองกับฝ่ายบริหารมาอย่างหนักและอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าผู้นำหลายคนได้ถูกเลิกจ้างหรือบีบให้ลาออก แต่สหภาพก็ประสบความสำเร็จในการต่อรองกับฝ่ายบริหาร จนได้ชื่อว่าเป็นสหภาพแรงงานเอกชนในสาขาตัดเย็บเสื้อผ้าที่ดันเพดานค่าจ้างและสวัสดิการมาอยู่ในระดับสูงสุด แม้ว่าสหภาพจะยังไม่ประสบความสำเร็จในการต่อรองให้ได้มาในด้านสวัสดิการด้านความยังยื่นของชีวิต และกองทุนเกษียณอายุก็ตาม

ไทรอัมพ์ อินเตอเนชั่นแนล เป็นบรรษัทข้ามชาติที่เติบโตมาจากการสะสมกำไร และความมั่งคั่งจากการใช้แรงงานราคาถูก และเป็นแรงงานหญิง ในประเทศที่มีค่าแรงถูกและได้รับสิทธิพิเศษต่างๆ มากมายจากรัฐบาล โดยเฉพาะในประเทศไทย จนกลุ่มธุรกิจไทรอัมพ์ สามารถพัฒนาเติบโตจนมีโรงงานและร้านค้าจำหน่ายในกว่า 125 ประเทศทั่วโลก คนงานร่วมกันทั้งสิ้นกว่า 40,000 คน (คนงานในประเทศไทย เพียงประเทศเดียวกว่า 5,000 คน)
มันเป็นเรื่องตลกร้ายที่วิธีการต่อรองเพื่อผลประโยชน์ของทุนไทรอัมพ์กระทำในทุกโอกาส แม้กระทั่งในระหว่างที่วางแผนล้มสหภาพแรงงานและเลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานที่จังหวัดสมุทรปราการ บริษัทไทรอัมพ์ ก็ประสบความสำเร็จในการต่อรองความช่วยเหลือจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในประเทศไทย (บีโอไอ) ในการอุดหนุนการขยายโรงงานที่จังหวัดนครสวรรค์อีก 75 ล้านบาท เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551

รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ อนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ที่มีกำลังผลิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ภายใต้ แบรนด์ "ไทรอัมพ์" และเป็นผู้ผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเซียเพื่อขยายการลงทุนผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยเพิ่มเติม เช่น ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ผ้าพันคอ เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิตปีละ 2,000,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 75.5 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์
หนังสือพิมพ์แนวหน้า สรุปข่าวโลกธุรกิจ -- อังคารที่ 8 กรกฎาคม 2008

บีโอไอ ไม่เคยบรรจุเรื่องพฤติกรรมนายจ้างในการปฏิบัติต่อคนงานในการอนุมัติความช่วยเหลือ แม้จะอ้างในหนึ่งในแนวนโยบายว่า “เพื่อส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน” แต่บีโอไอ ไม่เคยตรวจสอบพฤติกรรมการละเมิดสิทธิแรงงานของกลุ่มธุรกิจเลย แม้ว่าจะมีคนงานหลายกลุ่มได้เคยพยายามยื่นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหาแรงงานก็ตาม
การกระทำของนายจ้างในกรณีการเลิกจ้างจิตรา คชเดช เมื่อปีที่ผ่านมาน่าจะเป็นการทดลองกำลังกับสหภาพแรงงานว่าจะสู้ได้นานแค่ไหน และเพื่อตัดทอนกำลังด้านการเงินของสหภาพแรงงานในการประท้วงเมื่อบริษัทประกาศเลิกจ้างสมาชิกจริงๆ ซึ่งก็คือขณะนี้

ในขณะที่บริษัทอ้างว่าไม่มีงาน ไม่มีออเดอร์ และขาดทุนมาตลอดปีที่ผ่านมา แต่บริษัทกลับกระจายออเดอร์ไปให้โรงงานเล็กๆ รับเหมาช่วงต่อทำการผลิตจำนวนมาก ซึ่งสหภาพฯ ก็มีหลักฐาน และคนงานเวิลด์เวล ที่ถูกเลิกจ้างเมื่อต้นเดือนพฤษภาคมปีนี้ ก็ยืนยันถึงเรื่องนี้ได้ดี เพราะพวกเขาทำการผลิตสินค้าไทรอัพม์มากว่าสองปี จนกระทั่งบริษัทเวิลด์เวล ปิดกิจการ และค้างค่าชดเชยคนงานเวิลด์เวล 41 คน กว่า 2.5 ล้านบาท

คนงานไทรอัมพ์และคนงานเวิลด์เวล จะต้องร่วมกันตีแผ่วิถีการผลิตของทุนอันน่ารังเกียจเช่นไทรอัมพ์ และแบรนด์ดังทั้งหลาย ซึ่งพยายามอย่างมากในการสร้างภาพลักษณ์ต่อสากลว่าเป็นบริษัทที่เคารพสิทธิแรงงาน และไม่มีการละเมิดสิทธิคนงานในประเทศผู้ผลิต แต่ในความเป็นจริงกลุ่มทุนไทรอัมพ์ ก็มีพฤติกรรมที่ไม่ต่างไปจากกลุ่นทุนที่เห็นแก่ตัวทั้งหลายแม้แต่น้อย ทั้งกีดกั้นการเข้าร่วมกิจกรรมของสหภาพแรงงาน ทำลายสหภาพแรงงาน (สหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุดในกลุ่มธุรกิจไทรอัมพ์ คือในประเทศไทยและในฟิลิปปินส์ถูกเลิกจ้างในเวลาเดียวกัน) ส่งงานออกไปทำยังโรงงานรับเหมาช่วงที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน และส่งต่อไปจนถึงชายแดนแม่สอด ที่ได้ชื่อว่าละเมิดสิทธิแรงงานอย่างที่สุด และไม่มีคนงานใดในแม่สอดไม่ถูกละเมิดกฎหมายแรงงาน ทั้งไม่ได้รับค่าจ้างตามกฎหมาย ไม่ได้รับจ้างจากการทำงานล่วงเวลา (บางครั้งได้ม่าม่าซองเดียว) ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุด (ไม่มีวันหยุดทุกสัปดาห์) และไม่สามารถร่วมตัวต่อรองได้

ข้อแนะนำต่อสหภาพแรงงานไทรอัมพ์คือ

1. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ไม่ควรเน้นการต่อสู้ด้วยการพิสูจน์ว่าบริษัทขาดทุนหรือได้กำไร แต่ควรเสนอข้อเท็จจริงว่ากระบวนการผลิตของไทรอัมพ์หลังจากเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพแรงงานที่หัวก้าวหน้า จะเลวร้ายเป็นอย่างมาก ในหลายปีที่ผ่านมา สหภาพฯ พยายามอย่างหนักในการสร้างมาตรฐานการผลิตที่ไม่ละเมิดสิทธิแรงงานให้กับกลุ่มธุรกิจไทรอัมพ์ และยังได้เรียกร้องไม่ให้มีการส่งสินค้าไปผลิตยังโรงงานอื่นที่ไม่มีสหภาพแรงงาน ที่มีการละเมิดสิทธิแรงงาน ดังนั้นพฤติกรรมของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ที่เลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานครั้งนี้ จึงเป็นพฤติกรรมของทุนที่เอารัดเอาเปรียบ ไม่สอดคล้องกับหลักจรรยาบรรณด้านแรงงานของกลุ่มธุรกิจไทรอัมพ์ อินเตอรเนชั่นแนล

สหภาพไทรอัมพ์ควรจะตีแผ่รูปแบบการส่งออเดอร์การผลิตไปยังโรงงานอื่นๆ ร่วมกับคนงานเวิลด์เวล ที่รับเหมาช่วงการผลิตให้กับกลุ่มธุรกิจไทรอัมพ์ มากว่าสองปี และกำลังเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ในขณะนี้

2. สหภาพฯ ควรต่อรองกับนายจ้างและรัฐ ให้ไกลกว่าการต่อรองเรื่องค่าชดเชยตามกฎหมาย เพราะคนงานที่ถูกเลิกจ้างเป็นคนงานหญิงอายุมาก ทำงานมานานกว่า 10 - 30 ปี และหลายคนมีอายุกว่า 40 - 50 ปี ซึ่งการเลิกจ้างครั้งนี้ นอกจากต้องการลดบทบาทสหภาพแรงงานแล้ว ยังเป็นการกำจัดคนงานอายุมากอีกด้วย ซึ่งคนงานเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแลจากรัฐด้วยเช่นกัน เพราะอนาคตของพวกเธอ หลังจากถูกเลิกจ้าง (จากบทเรียนคนงานกลุ่มอื่นๆ ที่ถูกเลิกจ้างมาก่อนหน้านี้) คงไม่พ้นการเป็นคนงานรับเหมาช่วง จ้างงานตนเอง รับงานไปทำที่บ้าน หรือกลับไปยังถิ่นเกิด ซึ่งจะเผชิญกับความยากลำบากต่างๆ นาๆ ดังนั้นรัฐและนายจ้างมองกรณีการเลิกจ้างเพียงแค่ว่า “ก็นายจ้างจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายแล้วเพียงประการเดียวไม่ได้” เพราะนายจ้างไทรอัมพ์ ทิ้งภาระ 1,930 คน แต่ถ้ารวมสมาชิกในครอบครัวด้วยก็คงมีจำนวนมากกว่า 5,000 คน ให้รัฐบาลไทยต้องดูแล

ในอดีต รัฐบาลไทยไม่เคยดูแลคนงานที่ถูกลอยแพ และไม่เคยนำมาเป็นภาระในการฟื้นฟู แต่กรณีของไทรอัมพ์ หนึ่งในคนงานที่ทำคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติมาหลายสิบปี มันจำเป็นที่รัฐบาลไทยต้องยื่นมือเข้ามาทำงานร่วมกับสหภาพแรงงานในการต่อสู้เพื่อให้กลุ่มธุรกิจไทรอัมพ์ ที่มั่งคั่งจากหยาดเหงื่อและแรงงานของคนงานไทย ต้องจ่ายค่าชดเชยชีวิตให้คนงานด้วย

3. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อาจจะศึกษาบทเรียนจากกรณีการต่อสู้ของคนงานจีน่าสัมพ้นธ์ หนึ่งในโรงงานตัดเย็บชุดชั้นในที่ปิดโรงงานเมื่อปี 2548 นายจ้างต้องจ่ายเงินสมทบ 6 เดือนนอกเหนือจากค่าชดเชยให้กับคนงาน ซึ่งสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ จำเป็นต้องยกระดับการต่อรองให้มากไปกว่าของคนงานจีน่าสัมพันธ์ และควรจะต่อรองค่าชดเชยเป็นระบบ ค่าชดเชยตามกฎหมาย + จำนวนปีที่คนงานทำงานที่ไทรอัมพ์ (ค่าชดเชยนี้เป็นหลักการจ่ายค่าชดเชยตามอารยะประเทศทั้งหลาย) + มาตรการฟื้นฟูชีวิตและอาชีพที่รัฐบาลไทยต้องเข้ามาดูแล

4. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์จำเป็นต้องเรียกร้องให้ บีโอไอ อนุมัติวงเงินเพื่อการฟื้นฟูชีวิตคนงานและเพื่อสร้างการผลิตของคนงานเอง เพื่อตั้งโรงงานของผลิต หรือจัดกลุ่มการผลิตอะไรก็ตามที่สหภาพจะได้นำเสนอต่อไป ในวงเงินสูงสุดไม่สองเท่าจากที่บีโอไออนุมัติให้กับบริษัทไทรอัมพ์ ทั้งนี้เพราะตัวเลขคนงานที่ต้องได้รับความช่วยเหลือที่ต้องได้รับการสร้างงานหลังจากถูกเลิกจ้างจากบริษัทไทรอัมพ์ที่สมุทรปราการ มีจำนวนมากกว่าตัวเลขคนงานที่นครสวรรค์ถึงสองเท่า

ประเทศไทยส่งเสริมการลงทุนและให้สิทธิประโยชน์กับนายทุนต่างชาติอย่างมหาศาล ก็ด้วยหวังว่า บริษัทเหล่านี้จะก่อให้เกิดการจ้างงาน ซึ่งจะนำมาซึ่งสภาพชีวิตที่ดีขึ้น และก็หวังว่าคนงานไทยจะสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีการผลิตจากบริษัทต่างชาติเพื่อมาทำการผลิตเอง คนงานไทรอัมพ์ทำการผลิตในโรงงานมากว่า 30 ปี จึงน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่เหมาะสมที่บีโอไอ จะทำตามนโยบายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศเสียที และถอนเงินหนุนช่วยกลุ่มบรรษัทไทรอัมพ์ แล้วนำมาสนับสนุนและหนุนช่วยให้คนงานไทรอัมพ์ให้สามารถตั้งโรงงานของตัวเอง สร้างธุรกิจหรืออาชีพของตัวเอง เพื่อเป็นแบบอย่างให้กับคนงานที่จะถูกบรรษัทของต่างชาติและนายทุนไทยลอยแพอีกจำนวนมากในอนาคต

5. อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นอุตสาหกรรมลื่นไหลไปตามค่าแรงขั้นต่ำ ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งปัจจุบันนั้นต่ำกว่ามาตรฐานที่คนงานไทยจะดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี มันถึงคราวที่ประเทศไทยจะต้องคิดหามาตรการที่ก้าวหน้า ในการสร้างมาตรการฟื้นฟูและรองรับคนงานหญิงที่ถูกตกงานจากอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า การดันทุรังอุ้มกลุ่มธุรกิจตัดเย็บเสื้อผ้าไม่ใช่เป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน (อาทิ อุดหนุนให้ไทรอัมพ์ย้ายฐานไปนครสวรรค์ ที่มีฐานค่าแรงเพียง 155 บาทต่อวัน โดยการเลิกจ้างคนงานที่สมุทรปราการที่สามารถรวมตัวและต่อรองกับบริษัทจนมีฐานค่าแรง 330 บาทต่อวัน) แต่เป็นเพียงการดำรงไว้ซึ่งความมั่งคั่งให้กับนายทุนเท่านั้น แต่ไม่สามารถสร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับคนงานไทยได้อีกต่อไป ยิ่งกว่านั้นการอ้างของทุนว่าเพื่อการจ้างงาน ในกรณีของไทรอัมพ์ก็เป็นหนึ่งในบทพิสูจน์ว่า เป็นข้ออ้างที่ฟังไม่ขึ้น เพราะการจ้างงานที่นครสวรรค์เพียงพันกว่าคน ต้องแลกกับการเลิกจ้างคนงานหญิงอายุมาก และมีความชำนาญการผลิตที่โรงงานที่สมุทรปราการถึงร่วม 2,000 คน

ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทย ควรจะหันกลับมามองจากล่างขึ้นบน และให้การอุดหนุนการสร้างอาชีพ และการผลิตกับตัวคนงาน ไม่ใช่กับนายทุนเพียงฝ่ายเดียว

6. ดังนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์และขบวนการแรงงานไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหพันธ์สิ่งทอ ตัดเย็บเสื้อผ้า และเครื่องหนังแห่งประเทศไทย ควรใช้เวลานี้ ไตร่ตรองและปรึกษาหารือกันให้รอบด้าน ว่าจะทำการรณรงค์ปัญหา และยื่นข้อเรียกร้องเรื่องอะไรบ้าง ทั้งต่อนายจ้าง ต่อหน่วยงานของรัฐ(ทั้งกระทรวงแรงงาน บีโอไอ และนายกรัฐมนตรี) ทั้งนี้เพื่อสร้างหลักประกันสำหรับคนงานไทยในอนาคต ไม่ใช่เฉพาะแค่คนงานไทรอัมพ์เท่านั้น แต่เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้กับแนวนโยบายของรัฐในกรณีการเลิกจ้างคนงานหญิง คนงานอายุมาก เป็นจำนวนมากเช่นนี้ ซึ่งก็คงจะมีมาอย่างต่อเนื่อง

ในส่วนโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทยและองค์กรพันธมิตรในระดับเอเชีย และสากล จะพยายาม หนุนช่วยการต่อสู้ของสมาชิกและสหภาพแรงงานไทรอัมพ์และครอบครัวอย่างเข็มแข็ง เพราะพวกเราเองที่ได้ติดตามพฤติกรรมขอบกลุ่มบรรษัทข้ามชาติที่ผลิตสินค้าแบรนด์เนมทั้งหลายมาร่วมยี่สิบปี ก็เอือมระอากับพฤติกรรมการสร้างความมั่งคั่งโดยไม่ใยดีกับคนงานหญิง ไม่ใช่เฉพาะแต่ในประเทศไทย แต่ในทุกประเทศที่ทุนเหล่านี้เข้าไป(หลายประเทศเพื่อนบ้านของไทย) นับตั้งแต่ปี 2539 พวกเราและขบวนการแรงงานในประเทศไทย และพันธมิตรจากสากล ได้ร่วมต่อสู้และหนุนช่วยคนงานมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งกรณีการต่อสู้ของคนงานอีเดน พาร์ การ์เมนต์ มาสเตอร์ทอย ไทยเกรียงสิ่งทอ แอโร่ การ์เม้น จินตนา เบดแอนด์บาธ เหรียญไทย ไก่สดเซนทาโก้ มิกาซ่า จีน่าสัมพันธ์ ไทรอัมพ์ เป็นต้น ซึ่งเกือบทุกโรงงานมีสหภาพแรงงานหรือปิดโรงงานหนีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน หลายโรงงานพากันอ้างวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 เลิกจ้างคนงานหญิง คนงานอายุมาก และล้มสหภาพแรงงาน โดยตัวนายทุนเหล่านี้ก็ยังโลดแล่นอยู่ในแวดวงธุรกิจ และค่าชดเชยที่คนงานได้รับส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รับเต็มตามกฎหมาย แต่กระนั้นก็ตาม รัฐไทยก็ไม่เคยนำนายจ้างขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรม และก็ไม่เคยมีนายจ้างคนใดต้องรับผิดชอบกับอาชญากรรมชีวิตที่พวกเขาได้ก่อขึ้นเลย

บัดนี้มาถึงการต่อสู้ของการล้มสหภาพแรงงานหญิงที่เข็มแข็งที่สุด ที่ยืนหยัดมาได้ถึง 30 ปี สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ขบวนการแรงงานไทย และสังคมไทย จำเป็นต้องยืนหยัดต่อสู้ในสิทธิความเป็นคน สิทธิแรงงาน และสิทธิการที่จะต้องได้รับการดูแลจากรัฐบาล และทำให้รัฐบาลไทยเข้าใจเสียทีว่า รัฐบาลและเจ้าหน้าที่รัฐมองปัญหาแรงงาน เพียงแค่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยให้เรื่องยุติโดยเร็ว และปล่อยให้นายจ้างกับลูกจ้างจัดการกันเอง ไม่ได้อีกต่อไป รัฐต้องร่วมมือกับสหภาพแรงงานในการต่อรองกับกลุ่มทุน ที่กอบโกยผลประโยชน์จากค่าแรงราคาถูกจากประเทศไทยจนมั่งคั่ง และประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างบรรทัดฐานใหม่เรื่องการจ่ายค่าชดเชย และการดำเนินมาตรการการหนุนช่วยคนงานที่ถูกเลิกจ้าง

การต่อสู้ครั้งนี้ จึงเป็นภาระที่ขบวนการแรงงานไทย สังคมไทย จะต้องทำร่วมกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ คนงานเวิลด์เวล และคนงานที่ถูกลอยแพทุกคน

ด้วยความสมานฉันท์
จรรยา ยิ้มประเสริฐ
ผู้ประสานงานโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย

ที่มา :ประชาไท