Google
 

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เลิกจ้างไทรอัมพ์ 1,959 คน “แรงงานไม่ Sensitive... ไม่เข้าใจความเป็นนายจ้างจริงหรือ?”

Thu, 2009-07-09 01:13

เทวฤทธิ์ มณีฉาย
กลุ่มประกายไฟ

ความเดิมเมื่อปีที่แล้วที่คนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด กว่า 3,000 คน (ซึ่งทำการผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำให้แก่บรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนี ยี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph), วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น) ออกมาเคลื่อนไหวปกป้องสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทยของตนเอง ด้วยการเรียกร้องให้รับประธานสหภาพแรงงานของตนเองกลับเข้าทำงาน เนื่องจากถูกนายจ้างฉวยโอกาสเอากระแสทางการเมืองมาเป็นเหตุในการเลิกจ้าง พร้อมทั้งเรียกร้องให้เอาผู้บริหารที่ไม่มีแรงงานสัมพันธ์ที่ดีและมีพฤติกรรมที่ต้องการทำลายสหภาพแรงงานออกไป [1] โดยมองว่าการกระทำดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำลายสหภาพแรงงาน การเคลื่อนไหวครั้งนั้นเป็นการผละงานออกมาชุมนุมหน้าโรงงานและเคลื่อนไหวถึง 46 วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ถึง 12 กันยายน 2551

มาถึงวันนี้ และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏอีกครั้ง ซึ่งเป็นบทพิสูจน์การดำรงอยู่ของกระบวนการทำลายสหภาพแรงงานดังกล่าว จากการที่นายจ้างได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานของบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จำนวน 1,959 คน ซึ่งเป็นบริษัทในเครือไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ที่ศูนย์ประชุม BITEC บางนา

จากจดหมายบอกเลิกจ้าง (TH-Int-005a v.3) ที่ส่งให้พนักงานแต่ละคนเปิดลุ้นดูในวันดังกล่าวนั้น ทำให้เห็นเหตุผลของการเลิกจ้างคนงานจำนวนมากครั้งนี้ว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างกิจการและลดกำลังการเย็บที่โรงงานบางพลีประมาณ 50 % ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการปรับโครงสร้างกิจการทั่วโลก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ตลอดจนความต้องการโดยรวมของผู้บริโภคและคำสั่งซื้อสินค้าที่ลดลง ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ไทรอัมพ์จะต้องดำเนินการเพื่อให้ธุรกิจสามารถยืนหยัดได้ท่ามกลางสถานการณ์ที่รุนแรงนี้” นี่เป็นเหตุผลของการเลิกจ้างแรงงานไทรอัมพ์ครั้งใหญ่ทั้งที่บางพลีและฟิลิปปินส์ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งในภูมิภาค มีแรงงานราคาถูก

หลังการเลิกจ้างดังกล่าวนางอัมพร นิติสิริ ซึ่งเป็นอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (โปรดฟังอีกครั้งว่า “คุ้มครองแรงงาน”) ก็ออกมากล่าวว่า “นายจ้างมีสิทธิบอกเลิกจ้างลูกจ้างเพื่อพัฒนาองค์กร หรือรักษาสภาพการจ้างของบริษัทไว้” [2] ขณะที่ในวันต่อมา (30 มิ.ย.52) นายพงษ์ศักดิ์ อัสสกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทยได้ออกมาพูดถึงการเลิกจ้างแม้จะไม่เกี่ยวกับกรณีไทรอัมพ์โดยตรง แต่ก็มีประเด็นที่น่าสนใจคือทางรองประธานกรรมการหอการค้าได้กล่าวถึงสถานการณ์ผู้ประกอบการไทยว่า “ทางหอการค้าไทยมีความเป็นห่วงปัญหาการปลดคนงานในขณะนี้ซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตหากภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น การฝึกแรงงานใหม่เป็นเรื่องยากและใช้เวลา ดังนั้นรัฐบาล จึงต้องให้ความสำคัญกับปัญหาดังกล่าวมากขึ้น เพื่อไม่ให้มีการปลดคนงานหรือหากจำเป็น ก็ควรจะปลดให้น้อยที่สุด โดยขณะนี้คำสั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศเริ่มกลับมามากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง” [3]

แม้คำกล่าวของทั้ง 2 ท่านจะมองแรงงานเป็นแค่เพียงกำลังแรงงานในองค์กรหรือระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมองข้ามความเป็นมนุษย์เหมือนกันก็ตาม แต่คำกล่าวของฝ่ายหลังดูจะมีท่าทีห่วงใยลูกจ้างหรือ “คุ้มครองแรงงาน” และเล็งเห็นถึงปัญหาภาพรวมของสังคมมากกว่าฝ่ายแรกที่มีจุดยืน “คุ้มครองนายจ้างมากกว่า” และมองเฉพาะจุดของปัญหาซึ่งไม่น่าจะเป็นความเห็นของกรมที่มีหน้าที่ดูแลแรงงานในภาพรวมของประเทศ

ดังนั้นกรณีการเลิกจ้างนี้จึงมีจุดสังเกตที่น่าสนใจ คือ แสดงถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของชนชั้นแรงงาน ซึ่งทำให้แรงงานต้องออกมาเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสหภาพแรงงานและความมั่นคงในชีวิตของผู้ใช้แรงงาน ซึ่งตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับคำกล่าวที่ท่านนายกอภิสิทธิ์ ที่ว่า เกิดจากความไม่เข้าใจกัน อาจจะเรียกในทำนองว่าแรงงานไม่ Sensitive... ไม่เข้าใจความเดือดร้อนของนายจ้าง (อย่างเพลงดาวมหาลัย) ดังนั้นผู้เขียนจึงขอยกกรณีศึกษาไทรอัมพ์เพื่อแสดงถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของแรงงาน แม้คุณจะอยู่ในบริษัทที่คิดว่ามั่นคง เพื่อพิสูจน์ว่านายจ้างหรือนายทุนมองวิกฤติเป็นโอกาสเสมอ ภายใต้สโลแกน “ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุด” ดังนั้น

ไม่มีสัจจะภายใต้ สโลแกน “ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุด”

เมื่อประมาณ 3 เดือนที่แล้วที่ไทรอัมพ์จัดงาน “Triumph Swimwear 2009 Collection “Rhythm of The City” [4] โดยมี เก๋ ชลลดา – ทาทา ยัง ประชันความเซ็กซี่ในชุดว่ายน้ำครั้งแรก และในงานดังกล่าวมีการเปิดประมูลชุดว่ายน้ำประดับคริสตัลสุดหรู ยอดพุ่งถึง 100,000 บาท โดย จักร เฉลิมชัย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายการตลาดและขาย บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของการจัดงานว่า “เพื่อเป็นการตอกย้ำว่า ไทรอัมพ์เป็นแบรนด์ชุดว่ายน้ำอันดับหนึ่งของไทย..” และในงานดังกล่าวยังเป็นการเปิดตัวคอลเลคชั่นชุดว่ายน้ำจำนวนมาก ในขณะที่การเลิกจ้าง 1,959 คนในครั้งนี้ ส่วนที่ถูกเลิกจ้าง 100 % เป็นส่วนที่ผลิตชุดว่ายน้ำและในส่วนนี้ก็เป็นส่วนที่มีสมาชิกสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งที่สุด [5] ตามที่ทางสหภาพยืนยัน

นอกจากนั้นเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ที่ผ่านมา ทางบริษัทยังยืนยันอีกครั้งโดย จักร เฉลิมชัย กล่าวว่า “บริษัทแม่ในประเทศเยอรมนีมองปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะบริษัทแม่มีเงินลงทุนสูง และคาดว่าวิกฤตเศรษฐกิจจะ มีระยะเพียง 1-2 ปี ในขณะที่ การลงทุนของบริษัทเป็นการลงทุนระยะยาว 3-5 ปี ดังนั้น ในปีนี้วางแผนขยายสาขาทั้งหมด 25 สาขา ใช้เงินลงทุนประมาณ 45 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทมั่นใจว่าเมื่อปัญหาภายในเรื่องการหยุดงานของพนักงานจบลงแล้ว จะทำให้ยอดขายของบริษัทปีนี้จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10% จากปกติที่บริษัทจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8-12% นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนที่จะเปิดตัวสินค้าใหม่ๆ ทุกๆ 3 เดือน ร่วมกับการจัดโปรโมชันลดราคา การจัดอีเวนต์ การจัดแฟชั่นโชว์ขนาดเล็ก ณ จุดขายต่างๆ ด้วยงบส่งเสริมตลาด 50 ล้านบาท จากงบรวมของบริษัท 70 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา” [6]

จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าบริษัทไม่ได้ประสบภาวะวิกฤตทางการเงินเพราะ “บริษัทแม่มีเงินลงทุนสูง” และจากเอกสารจดหมายเลิกจ้างที่กล่าวมาข้างต้นก็ไม่ได้กล่าวถึงการประสบภาวะทางการเงิน เพียงแต่อ้าง “ผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก” ในขณะที่อีกทางหนึ่งบริษัทกลับมองว่า “ยอดขายของบริษัทปีนี้จะกลับมาเติบโตอีกครั้ง โดยตั้งเป้าเติบโตไว้ที่ 10% จากปกติที่บริษัทจะมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 8-12%” จึงเป็นการยืนยันและแสดงถึงความไร้ซึ่งชอบธรรมจากความไม่มีสัจจะภายใต้ สโลแกน “ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุด” เพราะนายทุนจะมองเห็นโอกาสในวิกฤติเสมอ ดังคำที่ทางบริษัทนี้กล่าวไว้จริงๆ ที่ว่า “บริษัทแม่ในประเทศเยอรมนีมองปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นโอกาส...”

รัฐเป็นกลางจริงหรือ

แม้ว่า ชนชั้นนายทุนทั่วโลกจะพยายามสร้างให้รู้สึกว่า รัฐในสังคมเสรีประชาธิปไตยมีความเป็นกลาง เป็นพียงผู้ดูแลกติกา ไม่สังกัดชนชั้นใด แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกรณีไทรอัมพ์ฯ และกรณีอื่นๆ ก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่ารัฐไม่มีความเป็นกลาง แม้กระทั้งเจ้ากรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน กระทรวงที่แรงงานเรียกร้องมายังมีท่าทีที่คุ้มครองนายจ้างมากกว่า

นอกจากนี้กรณีบริษัทไทรอัมพ์นั้นยังได้รับการสนับสนุนในการย้ายฐานการผลิตไปในที่ๆ มีแรงงานราคาถูกและไม่มีสหภาพแรงงานจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เมื่อปีที่ผ่านมา ด้วยการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนแก่บริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งตามรายงานข่าวระบุว่า เป็นผู้ผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ที่มีกำลังผลิตเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ภายใต้ แบรนด์ “ไทรอัมพ์” และเป็นผู้ผลิตใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียเพื่อขยายการลงทุนผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปในประเทศไทยเพิ่มเติม เช่น ชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ผ้าพันคอ เป็นต้น โดยมีกำลังการผลิตปีละ 2,000,000 ชิ้น เงินลงทุนทั้งสิ้น 75.5 ล้านบาท ตั้งโรงงานอยู่ในจังหวัดนครสวรรค์ [7] ทำให้สามารถขยายกำลังการผลิตด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุปันก็มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน [8]

ทั้งๆ ที่เมื่อพิจารณาจากนโยบายของ BOI แล้วจะพบว่าไม่มีนโยบายส่งเสริมธุรกิจดังกล่าว โดยนโยบายของ BOI [9] ประกอบด้วย

1. นโยบายส่งเสริม สนับสนุนอุตสาหกรรมการเกษตรไทย โดย BOI เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีพิเศษเพื่อส่งเสริม สนับสนุนและเสริมสร้างพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรไทยอย่างครบวงจร

2. นโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม โดยใช้ STI เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ BOI ปรับนโยบายส่งสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาทักษะ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (Skill Technology & Innovation-STI) โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีแก่โครงการที่มีการพัฒนาด้าน STI

3. แนวทางการส่งเสริมกิจการซอฟต์แวร์ เพื่อปรับประเภทกิจการซอฟต์แวร์ใหม่โดยเน้นการให้การส่งเสริมเป็นกลุ่มธุรกิจ แทนที่จะเป็นลักษณะการทำงาน (Activity Group) เพื่อดึงดูดกลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์ที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาซอฟต์แวร์ของประเทศในอนาคต เพิ่มสิทธิประโยชน์และยกเลิกเงื่อนไขที่ไม่สอดคล้องกับลักษณะธุรกิจ

4. สุดท้ายนโยบายส่งเสริม สนับสนุน SMEs ไทย โดย BOI ปรับบทบาทการส่งเสริมการลงทุนแก่ SMEs ไทย ตามยุทธศาสตร์การพัฒนา SMEs ของรัฐบาล เพิ่มสิทธิประโยชน์ทางภาษีและลดเงื่อนไขให้เอื้อแก่กิจการเกษตรแปรรูป และอุตสาหกรรมเชิงสร้างสรรค์ที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์

สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนที่ยืนยันถึงความไม่เป็นกลางของรัฐในเชิงพฤติกรรมผ่านตัวแสดงจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้มีอำนาจและในเชิงโครงสร้างและนโยบาย ที่ส่งเสริมให้เกิดการย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งแรงงานราคาถูก ไม่มีสหภาพแรงงาน (สวรรค์ของนักลงทุน) ขณะเดียวกันก็หยิบยื่นโอกาสในการเลิกจ้างแรงงานอายุมาก แรงงานที่ต่อสู้เพื่อได้รับสวัสดิการที่เพิ่มขึ้น ทำลายสหภาพแรงงาน ทั้งๆ ที่เงินสนับสนุนนั้นมาจากภาษีของประชาชนโดยที่นายทุนที่ได้รับการส่งเสริมก็มักจะได้รับการลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี [10] ด้วยซ้ำไป ตามนโยบายสิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรของ BOI

อีกทั้งการเลิกจ้างถึงเกือบ 2 พันคนกรณีไทรอัมพ์และที่อื่นๆ ที่ยังมีในขณะนี้ถือเป็นการพิสูจน์ความล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่าของรัฐบาลไทยที่นำโดยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มักจะชูภาพของการเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจรุ่นใหม่ พร้อมกับนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง ของพรรคประชาธิปัตย์ และรัฐบาลดังกล่าวยังแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ในส่วนของมาตรการเร่งด่วนระยะ 1 ปี ในเรื่องของการรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ได้เสนอให้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้างในภาคอุตสาหกรรมและบริการ ทั้งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดย่อม โดยใช้มาตรการจูงใจเพื่อลดภาระของภาคเอกชนในการชะลอการเลิกจ้างงาน [11] แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นบทพิสูจน์หนึ่งที่สำคัญถึงความไร้น้ำยาและความไม่เป็นกลางอย่างถึงที่สุดของรัฐบาลชุดนี้ในรอบครึ่งปีที่มาบริหารประเทศ

มาตรฐานสากลเพียงเสือกระดาษหรือตรายาง

จากกรณีศึกษาไทรอัมพ์ฯ ซึ่งเป็นบรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นสมาชิก ขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1961 ประกอบด้วยสมาชิกที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วรวม 30 ประเทศ องค์กรดังกล่าวมีหลักปฏิบัติที่เรียกว่า OECD Guidelines for MNEs เพื่อให้ธุรกิจข้ามชาติของประเทศสมาชิกใช้เป็นแนวทางปฏิบัติให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์หลักของ OECD ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การจ้างงาน และยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประเทศสมาชิก ขณะเดียวกันก็มีนโยบายรักษาเสถียรภาพทางการเงินของโลก เพื่อให้เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก จึงมีการกำหนดพฤติกรรมอันพึงประสงค์ 8 ประการ ที่ธุรกิจข้ามชาติควรยึดถือเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินธุรกิจ [12] ซึ่ง 2 ใน 8 ข้อนั้นคือ

การเปิดเผยข้อมูล (Disclosure): ธุรกิจควรเปิดเผยข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างสม่ำเสมอ อาทิ โครงสร้างองค์กร สถานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและสังคมบริเวณโดยรอบองค์กร

การจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ (Employment and Industrial Relations): ธุรกิจควรเคารพสิทธิของลูกจ้าง ปฏิบัติต่อลูกจ้างด้วยความเท่าเทียมกัน ให้ข้อมูลผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจแก่ลูกจ้างและผู้แทน รวมทั้งดูแลสุขภาพ และให้โอกาสแก่ลูกจ้างในการพัฒนาทักษะอย่างเหมาะสม เป็นต้น

นอกจากนี้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเยอรมนียังถูกควบคุมด้วยวิธีการร่วมมือกัน นั่นหมายความว่า ยุทธศาสตร์ของสถานประกอบการไม่ได้ถูกกำหนดโดยผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นเพียงด้านเดียว แต่ว่าจากผลประโยชน์จำนวนหนึ่งของตัวแทนผลประโยชน์ทางภาคประชาสังคม สถานประกอบการจะถูกควบคุมโดยคณะกรรมการบริหาร ที่นอกจากตัวแทนจากธนาคารแล้ว ยังมีตัวแทนจากฝ่ายผู้ประกอบการ ผู้แทนจากฝ่ายลูกจ้างและตัวละครจากภาครัฐที่มีบทบาทรวมอยู่ด้วย [13] แต่การปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ก็ได้รับการยืนยันจากสหภาพแรงงานแล้วว่าไม่มีการปรึกษาหารือด้วยวิธีการร่วมมือกันและการเปิดเผยข้อมูลใดๆ จากทางบริษัท

เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นเสือกระดาษหรือตรายางของมาตรฐานสากลที่ไม่มีผลบังคับใช้จริง นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตที่ทางสหภาพตั้งไว้คือทำไมเป็นแผนการปรับโครงสร้างทั่วโลก ขณะที่ในไทยมีแต่ที่โรงงานในบางพลี ทำไมโรงงานไทรอัมพ์ที่นครสวรรค์กลับมีการเตรียมขยายกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยการสนับสนุนจาก BOI และทำไมต้องเป็นที่ฟิลิปปินส์กับไทยที่มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง และคนที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นคนงานที่เข้าร่วมต่อสู้กรณี น.ส.จิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานฯ ที่โดนเลิกจ้างไปครั้งที่แล้ว [14]

รวมถึงทำไมบอกเลิกจ้าง 50 % แต่จากหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างกลับระบุให้เห็นว่า คนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯ ถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน ในการเลิกจ้างครั้งนี้ ซึ่งเท่ากับส่วนของกรรมการสหภาพที่ถูกเลิกจ้างในสัดส่วนเกือบ 70 %

รวมถึงเมื่อพิจารณาจากแถลงการณ์ในการชุมนุมประท้วงและเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์เมื่อปีที่แล้วจะพบข้อน่าสนใจเกี่ยวกับช่วงยื่นข้อเรียกร้องขอปรับสภาพการจ้างของทางสหภาพก่อนที่จะมีการชุมนุมคัดค้านการเลิกจ้างประธานสหภาพ คือ “ช่วงระหว่างการยื่นข้อเรียกร้องของสหภาพฯ เพื่อขอปรับสภาพการจ้างครั้งที่ผ่านมา ทางฝ่ายผู้บริหารฯ ได้เสนอให้ปรับค่าจ้างตามความต้องการของบริษัทฯ และให้พนักงานรวมทั้งผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพฯ ลงมติรับข้อเสนอของทางบริษัทฯ เพื่อทำให้ข้อเรียกร้องของทางสหภาพฯ ตกไป โดยมีการขู่ว่าหากไม่รับข้อเสนอตามที่ทางบริษัทฯ เสนอ ทางบริษัทแม่ที่เยอรมนีอาจจะปิดบริษัทที่เมืองไทยแล้วจ้างทำการผลิตแบบเหมาช่วง (Sub-contract) แทน แต่ทางสหภาพฯ ไม่ยินยอมให้กระทำการดังกล่าวเนื่องจากเห็นว่าเป็นกลวิธีของผู้บริหารที่พยายามจะลดบทบาทและความสำคัญของสหภาพแรงงาน ด้วยการสร้างบรรทัดฐานใหม่ในอนาคตว่าต่อไปบริษัทจะเป็นผู้เสนอการปรับสภาพการจ้างงานเองแล้วให้พนักงานลงมติรับรอง แทนที่ข้อเรียกร้องนั้นจะมาจากความต้องการของพนักงานอย่างแท้จริง” แสดงให้เห็นว่าทางบริษัทมีแผนที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงาน พร้อมทั้งลดทอนบทบาทและอำนาจการต่อรองของสหภาพแรงงานมาก่อนหน้านี้แล้วด้วยซ้ำไป

ดังนั้นหากบริษัทมีความจำเป็นในการปรับโครงสร้างจริงก็ควรปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน พร้อมทั้งเปิดเผยข้อมูลให้กับพนักงาน เพื่อการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประสิทธิผลตามที่บริษัทกล่าวอ้างโดยวิธีการที่สร้างสรรค์ ไม่ใช่ทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็ไม่ได้มีมาตราการอื่นที่จะสร้างประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนแต่อย่างใด [15] ตัวอย่างของการปรับปรุงโครงสร้างที่สร้างสรรค์ เช่น โครงการเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดของรัฐบาลไทยที่เคยทำมาเพื่อปฏิรูประบบราชาการ โดยปรับขนาดกำลังคนให้เหมาะสมสอดคล้องกับการพัฒนาระบบราชการ ภายใต้หลักความสมัครใจและความประสงค์ร่วมกันของข้าราชการและราชการ โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมของข้าราชการและประโยชน์ของทางราชการ

นี่เป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำกันในประเทศกำลังพัฒนา แต่หากทางฝ่ายนายจ้างที่ได้รับการส่งเสริมโดยรัฐไม่ยอมเลือกทางแก้ปัญหาในรูปแบบที่สร้างสรรค์ ก็คงหนีไม่พ้นเจตนาตามที่สหภาพกังวลว่าจะเป็นการล้มสหภาพแรงงาน พร้อมทั้งย้ายฐานการผลิตไปยังแหล่งที่มีแรงงานราคาถูกและเปลี่ยนรูปแบบการผลิตแบบเหมาช่วง (Sub-contract) แทน เป็นแน่

สรุป

จากกรณีการเลิกจ้างของไทรอัมพ์นี้แสดงให้เห็นถึงความไม่มั่นคงในชีวิตของแรงงานทุกๆ คนในระบบทุนนิยมเสรี แม้คุณจะอยู่ในบริษัทที่มั่นคงใหญ่โตแค่ไหน เพราะความมั่นคงของต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุดของนายทุนนั้นสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด

ผมเคยมีโอกาสคุยกับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างดังกล่าวหลายคนก็ไม่เคยคิดว่าจะถูกเลิกจ้าง (จึงมีแนวโน้มซื้อของเงินผ่อนและเป็นหนี้ มีเครดิตว่างั้น) นอกจากนี้กรณีของไทรอัมพ์ยังเสดงให้เห็นว่า รัฐในความเป็นจริงแล้วไม่มีความเป็นกลาง มาตรฐานสากลอันสวยหรูเป็นเพียงเสือกระดาษหรือตรายางเท่านั้น ไม่มีสัจจะและความสร้างสรรค์ที่แท้จริงภายใต้ สโลแกน “ต้นทุนต่ำสุด กำไรสูงสุด” นายทุนมักมองวิกฤติเป็นโอกาสในการเพิ่มอัตราการขูดรีดมูลค่าส่วนเกินเสมอ ดังนั้นการเคลื่อนไหวของแรงงานจึงไม่ใช้เพราะ “แรงงานไม่ Sensitive...ไม่เข้าใจความเป็นนายจ้าง” แต่เป็นเพราะเขา Sensitive และเข้าใจความเป็นนายจ้าง สังคมไทยต่างหากที่ไม่ Sensitive และไม่เข้าใจความเป็นแรงงาน กลับถูกรัฐใช้กระแสหมีแพนด้ากลบเกลื่อนความผิดพลาดของรัฐบาล โดยเฉพาะปัญหาทางเศรษฐกิจทั้งระบบที่กระทบกับคนทุกคน ไม่ใช่เฉพาะแรงงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวนมากขณะนี้เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง

[1] สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ . 2551. แถลงการณ์กรณีการชุมนุมต่อต้านการล้มสหภาพไทรอัมพ์
[2] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ . ไทรอัมพ์ปลดพนง. 1.9 พันคน ชดเชยตามกม. วันที่ 29 มิถุนายน 2552
[3] กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. หอการค้าวอนรัฐดูแลสภาพคล่องชี้อออเดอร์หาย20% วันที่ 30 มิถุนายน 2552 http://www.bangkokbiznews.com
[4] ไทยพีอาร์ ดอทเน็ต . เก๋ ชลลดา – ทาทา ยัง ประชันความเซ็กซี่ในชุดว่ายน้ำครั้งแรก!! เปิดประมูลชุดว่ายน้ำประดับคริสตัลสุดหรู วันที่ 11 มีนาคม 2552 ที่มา http://www.thaipr.net/nc/readnews.aspx?newsid=2A66B2A83413D38DDF2381A68F069390&query=IlRyaXVtcGggU3dpbXdlYXIgMjAwOSI=
[5] ประชาไท. 2552. ไทรอัมพ์เลิกจ้าง พนง. 1,930 คน คนงานจี้ชี้แจงขาดทุนจริงหรือไม่ 2009-06-29 ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/06/24894
[6] โพสต์ทูเดย์ . ไทรอัมพ์เร่งผุดสาขากลางเมือง วันเสาร์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552 ที่มาhttp://www.posttoday.com/business.php?id=38726
[7] หนังสือพิมพ์แนวหน้า. บอร์ดบีโอไออนุมัติ ไทรอัมพ์ทุ่ม75ล้าน ขยายฐานการผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ฉบับวัน อังคารที่ 8 กรกฎาคม 2008
[8] สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ . 2552. หนังสือคัดค้านการเลิกจ้างสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และคนงานบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด. 3 กรกฎาคม 2552
[9] คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. นโยบายของบีโอไอ ที่มา http://www.boi.go.th/thai/about/boi_policies.asp
[10] คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน. สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากร ที่มา http://www.boi.go.th/thai/about/basic_incentive.asp
[11] มติชนออนไลน์. นโยบายรัฐบาล"อภิสิทธิ์ " ว่าด้วยมาตรการเร่งด่วน 1 ปี. วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2551 ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1230614749
[12] Connection Co.,Ltd. OECD Guidelines for Multinational Enterprises ที่มา http://www.connections.co.th/marketing/page_bx.php?cno=86&cid=18
[13] โทมัส ไมเออร์. อนาคตสังคมประชาธิปไตย. กรุงเทพฯ :มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, หน้า 320-321
[14] กรมประชาสัมพันธ์ . คนงานไทรอัมพ์ไม่เชื่อเลิกจ้าง1.9พันคนเพราะขาดทุน http://www.atnnonline.com/atnnonline/index.php/economics/709-19.html
[15] อ้างแล้ว, สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ . 2552