Google
 

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

‘แรงงานแดง’ มอบรางวัลสตรีดีเด่น ‘แม่น้องเกด-ผุสดี เสื้อแดงคนสุดท้าย’

ที่มา :Wed, 2011-03-09 04:53 รายงานโดย ประชาไท http://prachatai3.info/journal/2011/03/33443

8 มี.ค.54 เวลา 16.00 น. กลุ่มพลังหญิงและกรรมกรแดงเพื่อประชาธิปไตยจัดงาน 100 ปี สตรีสากล “ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง” ขึ้น ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา สี่แยกคอกวัว โดยมีการเสวนาหัวข้อ “ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง” และมีพิธีมอบรางวัลผู้หญิงดีเด่น รวมถึงกิจกรรมวัฒนธรรม โดยมีผู้สนใจเข้าร่วมกว่า 100 คน

การเสวนา ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง



การเสวนา “ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง”
บรรยากาศงาน ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง
บรรยากาศงาน “ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง”
การแสดงจาก "ประกายไฟการละคร"
การแสดงจาก "ประกายไฟการละคร"
ผู้ได้รับรางวัล (จากซ้ายไปขวา) ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ-พเยาว์-ผุสดี
ผู้ได้รับรางวัล (จากซ้ายไปขวา) ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ-พเยาว์-ผุสดี
ในการเสวนาหัวข้อ “ผู้หญิงกับเศรษฐกิจ สังคม การเมือง” นงลักษณ์ คำเฟื่องฟุ้ง ตัวแทนกลุ่มพลังหญิง กล่าวว่า เช้านี้ได้เปิดดูหนังสือพิมพ์ เพื่อดูว่าผู้นำของประเทศให้ความสนใจกับวันสตรีสากลหรือไม่ ปรากฎว่า น่าเสียใจที่ไม่มีเรื่องเกี่ยวกับวันสตรีสากลในหน้าหนังสือพิมพ์เลย นอกจากนี้การยกย่องสตรีนั้นจะต้องมีคำนำหน้านาม เช่น คุณหญิง รัฐมนตรี แต่ไม่มีการพูดถึงผู้หญิงในชนบท แสดงให้เห็นว่าสังคมไทยยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับผู้หญิงเลย ดังนั้น การลุกขึ้นมาขอพื้นที่ในการเรียกร้องแสดงออก สื่อสารความคิดของผู้หญิงให้สังคม ผู้นำประเทศ นักปกครองและสื่อ ได้รับรู้และสนใจจึงค่อนข้างเป็นภาระหนัก
นงลักษณ์เล่าว่า จากการดำเนินกิจกรรมสังคมการเมืองที่ผ่านมา พบว่าปัญหาและอุปสรรคอันดับหนึ่ง มาจากผู้หญิงด้วยกันเอง สอง จากสังคม สาม จากผู้ชาย ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ผู้หญิงต้องสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงด้วยกันเอง นอกจากนี้ผู้นำระดับประเทศก็ต้องแสดงการสนับสนุนผู้หญิงให้ชัดเจนด้วย โดยที่ผ่านมาไม่มีผู้นำท่านใดเลยที่จะสนับสนุนบทบาทของผู้หญิง

รางวัลแด่แรงงาน?
จิตรา คชเดช เจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การได้มาซึ่งวันสตรีสากล เกิดจากคนงานทอผ้าในอเมริกาที่ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเรียกร้องให้มีชีวิตที่ดี ขึ้น โดยการเรียกร้องระบบ 3 แปด คือ เรียนรู้ 8 ชั่วโมง ทำงาน 8 ชั่วโมง พักผ่อน 8 ชั่วโมง แต่ 100 ปีผ่านมา วันสตรีสากลกลับถูกบิดเบือน โดยยกตัวอย่างกรณีการมอบรางวัลสตรีทำงานดีเด่นของกระทรวงแรงงานในปีนี้ว่า ไม่มีผู้หญิงที่มาจากสหภาพแรงงานหรือเป็นนักปกป้องสิทธิคนงานเลย กลายเป็นคนระดับผู้บริหารของบริษัทเอกชนต่างๆ โดยที่น่าสนใจ คือ ผู้ได้รับรางวัลสตรีผู้ปฏิบัติการภาคเอกชนดีเด่น เนื่องจากได้รับเบี้ยขยันทุกปี ซึ่งเป็นเรื่องน่าตกใจ เพราะเท่ากับเห็นว่าควรทำงานโดยไม่สามารถขาด-ลา-มาสายได้ มีชีวิตคล้ายเครื่องจักร นอกจากนี้ พิธีกรสตรีดีเด่น คือ นางสาววีรินทร์ทิรา นาทองบ่อจรัส ซึ่งดำเนินรายการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตรงนี้ทำให้เห็นว่า กระทรวงแรงงานให้รางวัลบิดเบือนจากที่มาของวันสตรีสากลอย่างชัดเจน กลายเป็นเรื่องของผู้หญิงชนชั้นสูงที่ให้รางวัลกับผู้หญิงที่เข้าสู่ระบบทุน นิยมดีเด่น ทำงานเยี่ยงเครื่องจักร ตอบสนองการพัฒนาของรัฐตามระบบทุนนิยม หากคลารา เซทคิน มีชีวิตอยู่คงเสียใจเป็นอย่างมาก ที่วันสตรีสากลกลายเป็นเครื่องมือให้ชนชั้นสูงและนายทุนกดขี่ขูดรีดต่อไป
(ดูรายชื่อได้ที่ http://goo.gl/HwYKE)

นอกจากนี้ จิตราเล่าถึงเหตุการณ์ในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (6 มี.ค.) ซึ่งมีการปาฐกถาโดยนายภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในงานซึ่งจัดในโอกาส 100 ปีสตรีสากลว่า เธอได้ถูกห้ามไม่ให้ถือป้ายประท้วง พร้อมเหตุผลว่า วันสตรีสากลไม่เกี่ยวกับการเมืองซึ่งเธอไม่เห็นด้วย เพราะมองว่าการจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้เกี่ยวกับการเมืองทั้งสิ้น และตั้งคำถามว่าผู้หญิงไม่ต้องทำอะไรนอกจากงานบ้านและการสำเร็จความใคร่หรือ

จิตรา กล่าวด้วยว่า ระบบทุนใช้เครื่องมือหลายอย่างในการจัดการผู้หญิงและผู้ชายในชนชั้นกรรมากร เพื่อให้กดขี่ได้มากขึ้น รวมถึงพยายามสร้างให้มีการกดขี่กันเองของชายและหญิงด้วย ขณะที่ทอม กระเทย เกย์ ดี้ ก็ถูกหาว่าเป็นพวกผิดเพศ มีกรรม คนทำแท้งถูกมองว่าผิดศีล ก็เพราะคนเหล่านี้ไม่สามารถสร้างแรงงานรุ่นใหม่ให้นายทุนขูดรีดได้ จึงถูกใช้วาทกรรมทางศาสนาเข้าจัดการ

ทั้งนี้ จิตราเสนอว่า ต้องร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยเป็นรัฐสวัสดิการ เพื่อให้หลักประกันถ้วนหน้าครบวงจร ตั้งแต่เด็กยังอยู่ในท้องจนเสียชีวิต โดยไม่เจาะจงว่าจนหรือไม่ โดยระบบสวัสดิการของรัฐต้องรวมถึงสิทธิทำแท้งของสตรีด้วย โดยงบเพื่อสร้างรัฐสวัสดิการต้องมาจากภาษีมรดก ภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า ลดงบประมาณของรัฐที่ไม่จำเป็น เช่น งบทางการทหาร อาวุธสงคราม ซึ่งทำมาใช้เพียงปราบคนที่เห็นต่างทางการเมืองและโชว์ในวันเด็ก รวมถึงงบประมาณการโฆษณาและพิธีกรรมของรัฐที่ไม่จำเป็นต่อชนชั้นล่าง และย้ำว่า แรงงานจะต้องมีพรรคการเมืองของตัวเอง เพื่อสู้ในระบบรัฐสภาของนายทุน และต้องมีสิทธิกำหนดนโยบายที่ไม่ต้องการ เสนอนโยบายผ่านพรรคการเมือง กำหนดนโยบายของพรรคการเมืองได้ รวมถึงจะต้องมีเสรีภาพในการแสดงออก การพูด การเข้าถึงสื่อ ประชาธิปไตยที่แท้จริงต้องยกเลิกมาตรา 112 เพราะเป็นกฎหมายปิดปาก ใครพูดอะไรไม่ได้ ต้องติดคุก

กระบวนการมุมกลับสับขาหลอกของรัฐ
วันรัก สุวรรณวัฒนา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอว่าควรต้องดึงวันสตรีสากล และการต่อสู้ของผู้หญิง ให้กลับมาเป็นของผู้หญิงทุกชนชั้นทุกสถานะทางเศรษฐกิจไม่ใช่แค่กิจกรรมสังคม สงเคราะห์ ให้รอดชีวิตไปวันๆ ที่ผ่านมา สถานภาพและบทบาทของผู้หญิงมีพัฒนาการไปในทางก้าวหน้ามากขึ้น ขณะเดียวกันมีการก่อตั้งพัฒนาองค์กรต่างๆ มาดูแลปัญหาผู้หญิงหลายองค์กร แต่มีความอนุรักษนิยมสูงมาก ทำให้ผู้หญิงเป็นเพียงผู้ถูกกระทำที่ต้องเยียวยาเท่านั้น
วันรักกล่าวต่อว่า แม้ว่ามีจำนวนผู้หญิงที่เพิ่มขึ้นมากในองค์กรระดับสูง แต่จำนวนที่เพิ่มขึ้น ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าคนเหล่านี้จะสนใจปัญหาของผู้หญิงในสังคมไทยได้เท่า เทียม แต่กลายเป็นว่าองค์กรเหล่านี้ที่ได้เงินอัดฉีดจากรัฐ แทนที่จะดึงผู้หญิงออกจากความคิดกดทับไม่เคารพศักดิ์ศรีกัน กลับทำให้ปัญหาของผู้หญิงอ่อนลง โดยการให้ความช่วยเหลือเยียวยา และให้พื้นที่อยู่ภายใต้โลกทัศน์แบบเดิมที่ผู้ชายอยู่ข้างบนของโครงสร้าง

วันรักวิจารณ์ว่า โฆษณาของ สสส. ที่รณรงค์ให้ผู้หญิงเลิกสูบบุหรี่ โดยมีผู้ชายเป็นคนบอกว่า ต้องเลิกสูบบุหรี่ ไม่เช่นนั้นลูกจะมองไม่ดีนั้น เป็นกระบวนการมุมกลับสับขาหลอก เหมือนว่าจะรณรงค์เพื่อผู้หญิง แต่กลับทำให้ผู้หญิงต้องแคร์ผู้ชายและไม่ก้าวร้าวแสดงความรุนแรง

ขณะที่โครงการรณรงค์ให้หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิงก็ไม่ได้เรียกร้องต่อนัก โทษอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักโทษจากมาตรา 112 ของกฎหมายอาญา หรือโครงการต่างๆ ของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เธอตั้งคำถามว่ามีประสิทธิภาพในการผลักดันปัญหาของผู้หญิงอย่างแท้จริงหรือ ไม่ โดยชี้ให้เห็นว่า ยังมีสถิติการข่มขืนเพิ่มขึ้น มีการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรเพิ่มขึ้น โครงการเหล่านี้เป็นเหมือนโครงการ CRS หรือการรณรงค์เพื่อสังคมที่จัดโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ทำให้ทุนนิยมดูมีหน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ดูมีหัวใจมากขึ้นเท่านั้น แทนการมุ่งสร้างความเท่าเทียมของการกระจายรายได้ เช่นเดียวกัน โครงการของรัฐไทย ก็ดูเหมือนเป็นการทำเพื่อสตรีไทย แต่กลับไปผลิตซ้ำการกดทับผู้หญิง ไม่ได้เพิ่มศักยภาพให้ผู้หญิงอย่างแท้จริง
วันรักเสนอว่า การต่อสู้ของผู้หญิงต้องเป็นการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยก่อน เพราะจะเป็นพื้นฐานของการเรียกร้องเรื่องอื่นๆ นอกจากนี้ การต่อสู้ของผู้หญิงจะต้องขยายวงไปสู่การต่อสู้เพื่อเสียงของคนที่ถูกหลงลืม ให้พวกเขามีพื้นที่ยืน มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ด้วย

ระวัง! ภาษากดขี่แบ่งแยกชนชั้น
ในฐานะนักวิชาการด้านภาษา สุดา รังกุพันธุ์ กล่าวถึงภาษาที่ครอบงำสังคมไทยอย่างคำว่า "สตรี" ซึ่งถูกใช้เป็นชื่อเรียก "วันสตรีสากล" ว่าเป็นคำที่ไม่ได้ใช้บ่อย คำนี้มักใช้กับผู้มีเกียรติสูงศักดิ์ ซึ่งเป็นส่วนน้อยของสังคม แต่ครองอำนาจมายาวนานกว่า เมื่อสังเกตจะเห็นว่าสังคมไทยได้พยายามสร้างความเป็นชนชั้นครอบงำเราไว้ อย่างแยบคาย บางคำสำหรับชนชั้นสูง บางคำใช้กับไพร่ โดยที่เราไม่เคยรู้ตัว หลงใช้คำของคนเหล่านั้นไปด้วย พร้อมยกตัวอย่างว่า หากเราเป็นแม่ค้า คงไม่ได้เป็นนักธุรกิจสตรี คนกวาดถนนคงไม่ได้เป็นพนักงานกวาดถนนสตรี แม้แต่อาชีพที่มีการศึกษาสูงอย่างแพทย์ เภสัชกร ยังต้องเป็นแพทย์หญิง เภสัชกรหญิง ถูกแยกจากผู้ชาย

"ในสังคมประชาธิปไตย สิ่งหนึ่งที่ต้องช่วยกันทุกวินาทีของการดำรงชีวิตคือต้องไม่เป็นทาสทางภาษา ของชนชั้นปกครองที่ครอบงำเราไว้อย่างยาวนาน โดยที่เราไม่รู้ตัว" สุดากล่าวและว่า ขณะที่ภาษาสะท้อนความคิดออกไปสู่สังคม ภาษาก็เป็นเครื่องมือครอบงำความคิดของเราด้วย หากต้องการปลดแอกความคิดล้าหลัง ต้องปลดแอกด้วยการตระหนักรู้ถึงภาษาที่ครอบงำเรา
สุดาเสนอด้วยว่า ควรเลิกใช้คำพูด อาทิ "หน้าตัวเมีย" "เกาะชายกระโปรง" ซึ่งเป็นคำที่ดูถูกผู้หญิง แล้วใช้คำพูดที่ให้เกียรติทุกเพศ ทุกกลุ่ม และทุกศาสนา เหมือนที่เราอยากได้รับการปฏิบัติเช่นกัน
หลังการเสวนา มีการอ่านบทกวีโดยเพียงคำ ประดับความ และมีการแสดงละครเวทีจากกลุ่มประกายไฟการละคร เรื่อง "สตรี ชะนีหรือคน" โดยจำลองเหตุการณ์ที่มีการห้ามพูดเรื่องการเมืองในวันสตรีสากล กรณีการคุกคามทางเพศเจ้าหน้าที่หญิงในองค์กรสิทธิมนุษยชนแห่งหนึ่ง และการล้อเลียนเหตุการณ์บ้านเมืองปัจจุบัน และมีการแสดงดนตรีจากวัฒน์ วรรลยางกูร และวงท่าเสาด้วย

มอบรางวัลผู้หญิงดีเด่น
นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการมอบรางวัลให้กับผู้หญิงดีเด่น ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้แก่ นางพะเยาว์ อัคฮาด โดยระบุว่าเธอเป็นผู้มีความกล้าหาญในการออกมาเรียกร้องความยุติธรรมให้กับลูกสาว คือ กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาซึ่งถูกยิงเสียชีวิตภายในวัดปทุมวนารามระหว่างการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 น.ส.ผุสดี งามขำ เสื้อแดงคนสุดท้ายในที่ชุมนุมราชประสงค์ และสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรที่ต่อสู้เรียกร้องเพื่อคนงาน โดยมี นางฐิติมา ฉายแสง ส.ส.ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย เป็นผู้มอบ