Google
 

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ม็อบ"ไทรอัมพ์"กลไกรัฐเอื้อมไม่ถึง...?

โดย : จับกระแส
วันที่ 15 ตุลาคม 2552

จากกรณีลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัดจำนวนกว่า 200 คนชุมนุมประท้วงเพื่อให้ช่วยเหลือถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรมยังไม่มีข้อยุติ

จากกรณีที่ลูกจ้างบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตชุดว่ายน้ำและชุดชั้นใน ในเครือบริษัท ไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จำนวนกว่า 200 คน ได้ปักหลักชุมนุมเรียกร้องที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้ช่วยเหลือกรณีถูกเลิกจ้างไม่เป็นธรรม โดยล่าสุด (14 ต.ค.) ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ข้อยุติและส่อว่าจะยืดเยื้อ หลังความพยายามของทั้งสองฝ่ายในการเจรจาหลายครั้งกลับไม่เป็นผล

ทั้งนี้ ทางกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ได้ออกมาชี้แจงทันที โดยนายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดี บอกว่า ตามอำนาจหน้าที่ของกระทรวงแรงงาน ได้ให้ความช่วยเหลือครบตามกระบวนการที่กฎหมายให้อำนาจทั้งหมดแล้ว ทั้งความคุ้มครองตามสิทธิของ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ ส่วนข้อเรียกร้องที่อยู่นอกเหนืออำนาจกระทรวง และไม่มีกฎหมายรองรับนั้น ก็ไม่สามารถดำเนินการได้

สำหรับข้อเรียกร้องที่ทางกลุ่มสหภาพไทรอัมพ์ ขอให้กระทรวงแรงงานช่วยเหลือแต่ถูกปฏิเสธ คือ การให้กระทรวงแรงงานบังคับคู่ค้าบริษัทไทรอัมพ์ที่เป็นบริษัทแม่ให้จ่ายเงินลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างมากกว่ากฎหมายกำหนด โดยสหภาพยกเรื่องจรรยาบรรณและจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจ หรือ Code of Conduct ขึ้นมาเพื่อต่อรอง ซึ่งทางกระทรวงย้ำว่าไม่มีอำนาจหน้าที่บังคับนายจ้างในเรื่องนี้ เพราะเป็นเรื่องของภาคเอกชน รัฐไม่สามารถเข้าไปแทรกแซงการดำเนินการภาคธุรกิจได้

ส่วนกรณีที่สหภาพต้องการให้กระทรวงแรงงานเรียกนายจ้างมาพูดคุยเจรจานั้น กระทรวงก็ชี้แจงอีก ว่า ทำได้แค่ทำหนังสือเรียกนายจ้างมาไกล่เกลี่ย ซึ่งได้ทำไปแล้ววานนี้ (14 ต.ค.) แต่ไม่สามารถไปบังคับให้นายจ้างมาได้ เพราะกระบวนการชดเชยมันจบไปแล้ว เพราะกรณีนี้ทางบริษัทได้ตกลงจ่ายค่าชดเชยและสิทธิประโยชน์กรณีเลิกจ้างให้กับลูกจ้างทั้ง 1,959 คน ครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว เป็นวงเงินกว่า 200 ล้านบาท และเงินช่วยเหลือพิเศษเพิ่มเติมเป็นเงินอีก 55 ล้านบาท

ขณะที่สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ กลับมองว่าการเลิกจ้างครั้งนี้ยังไม่เป็นธรรม โดยมีการยืนยันถึงผลตอบแทนของที่บริษัทไทรอัมพ์ในประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งได้ประกาศเลิกจ้างเช่นเดียวกัน ยอมจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้างมากกว่าที่กฎหมายกำหนด โดยมีการจ่ายเงินพิเศษเพิ่มตามอายุงานอีกปีละ 1 เดือน ส่วนการหยิบยกเรื่อง Code of Conduct ขึ้นมาต่อรองนั้น เป็นเรื่องความรับผิดชอบที่บริษัทแม่ควรจะออกมายืนยันถึงความชัดเจนว่าจะทำหรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องพันธสัญญาการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรมที่ทั่วโลกยึดถือปฏิบัติ

ทว่าข้อเสนอแนะที่ทางกระทรวงแรงงาน พอจะชี้ให้เห็นทางออกได้ ก็คือ ให้สหภาพทำเรื่องร้องทุกข์ผ่านไปยังคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ (ครส.) เพื่อบังคับให้นายจ้างมาเจรจา แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมทางสหภาพกลับไม่มองช่องทางนี้

ในเมื่อกลไกความช่วยเหลือของรัฐมันไปต่อไม่ได้ ด้านลูกจ้างเองจำเป็นต้องทางออก ซึ่งการกลับมาปักหลักชุมนุมเรียกร้องอีกครั้ง ก็เป็นผลสะท้อนถึงกลไกความช่วยเหลือแรงงานไม่เพียงพอ ซึ่งภาครัฐจะต้องตระหนักและให้ความสำคัญ โดยเฉพาะในช่วงกระแสการเมืองที่ไม่ปกติ การเรียกร้องชุมนุมต่างๆ มันเกิดขึ้นตลอดเวลา ไม่อยากให้การชุมนุมของแรงงานถูกเชื่อมโยงกับปัญหาการเมือง เพราะคนที่เดือดร้อน ก็คือ ลูกจ้างตาดำๆ ที่ต้องตกเป็นเหยื่อนักการเมืองบางคน


ที่มา http://www.bangkokbiznews.com/home/details/politics/opinion/thanongsak/20091015/81726/ม็อบไทรอัมพ์กลไกรัฐเอื้อมไม่ถึง...-.html#