Google
 

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

ปาฐกถา สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ: “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ”

Sun, 2009-08-23 17:33



เมื่อวันที่ 23 กรกฏาคม มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน มอบเหรียญเจริญ วัดอักษร ประจำปี 2552 ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มอบให้กับนักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมือง สิทธิทางการเมือง ในการมีส่วนร่วมในระบอบประชาธิปไตย โดยผ่านกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การปกป้องทรัพยากร หรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาคประชาชนในทุกรูปแบบ ให้แก่ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย

ในงานดังกล่าว นางสาวจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ในฐานะตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวปาฐกถา เรื่อง “บทเรียนและการต่อสู้ของสหภาพแรงงานกับรัฐและทุนข้ามชาติ” ดังนี้



00000





จิตรา คชเดช
ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ






“ความเข้มแข็งของเรา ไม่มีอำนาจใด ที่จะล้มล้างไปได้และผมคิดว่า…ชุมชนของเราต้องดีขึ้นเมื่อพี่น้องประชาชนรวมตัวกัน พลังของเรายิ่งใหญ่…หลาย ๆ เรื่องที่จะเข้ามาในชุมชน แม้แต่นายทุนข้ามชาติก็แล้วแต่…เราสู้ได้ ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน” นี่เป็นคำกล่าวของเจริญ วัดอักษร




สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ก่อตั้งเมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2523 ได้ผ่านการยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างต่อบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด มาอย่างต่อเนื่อง เรื่องค่าจ้างและสวัสดิการเรื่องสิทธิเสรีภาพของคนงานเช่นการลางานเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ในปี 2524 มีการยื่นข้อเรียกร้องให้นายจ้างเยอรมันหยุดกิริยาเหยียดหยามคนไทย ทุกอย่างเกิดขึ้นจากการยื่นข้อเรียกร้องของคนงานและสหภาพแรงงานฯ ต่อบริษัทฯ ทั้งหมด ทุกอย่างไม่ได้มาจากนายจ้างใจดี และให้มาเฉยๆ โดยที่ไม่มีสาเหตุ บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด ได้จดทะเบียนเมื่อปี พ.ศ. 2512 ได้เช่าอาคารสิวะดล แถวถนนคอนแวนต์ สีลม โดยมีคนงานไม่กี่ 100 คน และเริ่มขยายกิจการมีผู้ถือหุ้นที่น่าสนใจ คือนายเดวิด ไลแมน เจ้าของบริษัทติลลิกีแอนด์กิบบินส์ บริษัทที่ปรึกษาทางกฎหมายเก่าแก่ที่สุดในมืองไทย 100 กว่าปีและนางเลียวนี่ เดซี่ เวชชาชีวะ มีชาวเยอรมันเป็นหุ้นส่วนใหญ่จดทะเบียนในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ปัจจุปันบริษัทตั้งอยู่ที่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ. สมุทรปราการ มีคนงานประมาณ 4,200 คน และทำการผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อ ไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO, HOM และได้รับจ้างผลิตชุดชั้นในชื่อดังหลายยี่ห้อเช่นมาร์คแอนสเปนเซอร์ บริษัทได้เริ่มขยายสาขาไปที่จังหวัดนครสวรรค์ ชื่อบริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด. ที่อยู่ : 194/2 หมู่ 5 พหลโยธิน ตำบลหนองกรด อำเภอเมือง จ. นครสวรรค์ 60240 และเมื่อปี 2551 บริษัทบอดี้แฟชั่นฯ นครสวรรค์ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นเงิน 75.5 ล้านบาท ได้ขยายโรงงานรองรับการผลิตบรรจุพนักงานได้ 2,000 กว่าคน

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เป็นสหภาพแรงงานฯ ที่ทำงานกับสมาชิกและคนงานมาโดยตลอดเราเป็นสหภาพแรงงานฯ ที่ใช้ระบบการเก็บเงินค่าบำรุง สื่อข่าวสาร รับเรื่องราวร้องทุกข์ รับคำเสนอแนะ ผ่านระบบตัวแทนไลน์ตัวแทนแผนก และเป็นสหภาพแรงงานที่ประธานสหภาพมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่

ตัวแทนไลน์ตัวแทนแผนกมาจากไหน? ก็คือได้รับการคัดเลือกจากสมาชิกในไลน์การผลิตนั้นๆ โดยใช้โครงสร้างของบริษัทให้เกิดประโยชน์คือตัวแทนไลน์เทียบเท่าหัวหน้างาน แต่มาจากการเลือกตั้งของคนในไลน์นั้น หนึ่งไลน์การผลิต เท่ากับประมาณห้าสิบคน ตัวแทนไลน์จะนำเรื่องต่างๆ เข้าสู่ที่ประชุมตัวแทนไลน์ซึ่งจัดให้มีเดือนละหนึ่งครั้งและกรณีเร่งด่วนนำสู่กรรมการสหภาพแรงงานฯ กรรมการจะนำเรื่องเข้ามาแก้ปัญหาโดยเร็ว เมื่อมีคนงานใหม่ตัวแทนไลน์จะแนะนำให้เป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน สหภาพแรงงานฯ จึงมีสมาชิกในฝ่ายผลิตเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ซึ่งถือว่าเป็นสหภาพแรงงานที่เป็นประชาธิปไตย

การจัดกิจกรรมสมาชิก สหภาพแรงงานจัดให้มีกลุ่มศึกษาในเวลาพักกลางวันใช้เวลาประมาณยี่สิบนาทีเราจะคุยกันทุกเรื่องเรื่องปัญหาในบ้าน ในโรงงาน ในบ้านเมือง และจัดให้การศึกษาหลังเวลาเลิกงานในเเรื่องต้นทุนการผลิต กำไร จำนวนงานที่ทำกับสิ่งที่เราได้ตอบแทน และจัดให้กับเพื่อนคนงานในโรงงานทุกคน

สหภาพแรงงานฯ ได้ป็นสหภาพที่ร่วมก่อตั้งและเป็นสมาชิกสหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ได้เข้าร่วมเรียกร้องประกันสังคม เรียกร้องประกันการว่างงาน เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองที่สำคัญเช่นเหตุการณ์พฤษภาปี 35 เข้าร่วมต่อต้านรัฐประหาร ปี 49 เราเรียกร้องสิทธิทำแท้งเข้าถึงสุขอนามัยและถูกกฎหมายรวมถึงเรียกร้องรัฐสวัสดิการ

ในปี 2535 สหภาพแรงงานฯ ได้พาคนงานผละงานทั้งหมดเรียกร้องให้นายจ้างเข้ามาดูแลคนงานเรื่องสวัสดิการรถรับส่ง ได้หยุดงาน 18 วัน จนเป็นเหตุให้รัฐมนตรีใช้มาตรา 35 ให้คนงานกลับเข้าทำงาน

เมื่อปี 2542 สหภาพแรงงานฯ ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อบริษัทฯ ไม่สามารถตกลงกันได้จนถึงขั้นนายจ้างปิดงาน คนงานชุมนุมอยู่หน้าโรงงาน 22 วันและได้มีข้อตกลงสภาพการจ้างออกมาเรื่องการเลิกจ้างให้นายจ้างต้องร่วมกับสหภาพแรงงานฯ ให้เกิดความเป็นธรรมและเสมอภาค

ในบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีระบบการจ้างงานที่ให้คนงานมีแรงจูงใจในการทำงานสำหรับพนักงานเย็บ คือเย็บงาน 40 ชิ้นบริษัทจะจ่ายเป็นคูปอง ในคูปองจะกำหนดนาทีแล้วแต่ความยากง่าย เมื่อได้นาทีแล้วจะต้องนำไปส่งตอนเย็นเลิกงาน และบริษัทจะนำคูปองมาคิดเป็นเงิน (ราคาต่อนาที มาจากการยื่นข้อเรียกร้อง ตัวอย่างเช่น วันนี้ทำงานได้ 500 นาทีX ราคาคูปอง 1.300บาท=650 บาท เท่ากับคนงานจะได้ค่าจ้าง 650 บาท ถ้าทำไม่ได้จะได้ค่าจ้างมาตรฐาน 333 บาท) ฉะนั้นคนงานยิ่งทำงานมากยิ่งได้เงินมากพวกเราเลยได้เห็นการทำงานที่ไม่กินน้ำ ไม่เข้าห้องน้ำ เข้างานก่อนเวลา และป่วยเป็นโรคไต ปวดหลังกันมากที่สุด เมื่อต้นปี 2547 บริษัทฯ ได้เข้ามาเปลี่ยนแปลงขบวนการผลิต และจะใช้ที่ประเทศไทยเป็นที่แรกนำร่องและเริ่มใช้กับส่วนที่ผลิตชุดว่ายน้ำเท่านั้น ถ้าที่ไทยประสพความสำเร็จจะนำไปปฎิบัติที่อื่นต่อไป คือลดนาทีคูปองเคยเย็บได้ 40 ชิ้น ได้ 10 นาที มาเปลี่ยนเป็น 5 นาที สหภาพแรงงานฯ ได้ออกมาคัดค้านจนเป็นเหตุให้บริษัทฯ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ จนถึงปัจจุปัน (พวกเราเชื่อว่าเป็นระบบการจ้างงานที่ขูดรีดแรงงานของเรามากที่สุดในโลก)

ในขณะเดียวกันเมื่อ ปี 2549 สหภาพแรงงานได้ตั้งคณะกรรมการสหภาพแรงงานชุดใหม่มี จิตรา คชเดช เป็นประธานสหภาพแรงงานฯ และเป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำและกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมดส่วนใหญ่เกินครึ่งมาจากส่วนผลิตชุดว่ายน้ำและในปีนี้เองเป็นปีแรกที่ประธานสหภาพมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ ตั้งแต่กรรมการชุดใหม่ถูกเลือกตั้งมา เมื่อมีการเลิกจ้างคนงานไม่เป็นธรรม การจัดรถรับส่งที่ไม่ได้มาตรฐาน การจัดผ้ายูนิฟอร์มที่คุณภาพต่ำให้กับคนงาน การจัดงานวันครอบครัว การจัดงานไปเที่ยวต่างจังหวัดที่เป็นไปแบบไม่โปร่งใส รวมถึงการออกคำสั่งใบเตือนเร่งเป้าการผลิตสำหรับคนท้องคนงานอายุมาก และความปลอดภัยในโรงงาน คนงานในส่วนชุดว่ายน้ำจะเริ่มหยุดทำงานล่วงเวลาและนำไปสู่การหยุดทำงานล่วงเวลาของคนงานทั้งโรงงาน และเรียกร้องให้มีการตรวจสอบทุกเรื่องอย่างเข้มงวดและสหภาพแรงงานได้ส่งกรรมการสหภาพเข้าไปดูแลทุกเรื่องอย่างใกล้ชิด มีอยู่ครั้งหนึ่งในบริษัทฯ มีพนักงานเอาเหล้ามาดื่มในเวลาทำงานในวันหยุดทั้งหมดประมาณ 20 คน รวมถึงหัวหน้างานด้วย บริษัทฯ เลิกจ้างคนงานกินเหล้าในโรงงาน 5 คน สั่งพักงาน 1 คน ที่เหลือไม่มีการลงโทษใดๆ ครั้งนั้นสหภาพแรงงานเรียกร้องให้บริษัทฯ ไม่เลือกปฏิบัติและมีคนงานหยุดการทำงานล่วงเวลา จนเป็นเหตุให้บริษัทฯ รับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างกลับเข้าทำงานตามปกติ

เมื่อเดือนสิงหาคม 2549 พนักงานฝ่ายขายในกรุงเทพฯ และปริมณฑลได้พร้อมใจกันผละงาน เพื่อเรียกร้องให้บริษัทเอาผู้บริหารระดับสูงของฝ่ายขายออกไปและให้ผู้บริหารชาวสิงคโปรค์ออกมาขอโทษคนงานกรณีที่เอาเท้าเต๊ะงานให้พนักงานขายคนไทยและให้คืนค่าคอมมิชชั่นจากการขายให้เท่าเดิม ในขณะนั้นสหภาพแรงงานได้เข้าไปร่วมเจรจาจนสามารถตกลงกันได้และในครั้งนั้นพนักงานทั้งหมดฝ่ายขายทั่วประเทศได้มาเป็นสมาชิกสหภาพแรงงานทั้งหมด

ในปี 2550 ในขณะที่ประเทศไทยกำลังจัดให้มีรัฐธรรมนูญใหม่ ในขณะที่คนงานไทรอัมพ์กำลังจะยื่นข้อเรียกร้องเพื่อเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างเพื่อปากท้องของตัวเอง พวกเราไม่สามารถจัดให้มีการประชุมสมาชิกได้ พวกเรามีทหารมาแจ้งว่าไม่ให้จัดการประชุม และเราก็มีทหารมาตั้งเต๊นที่หน้าโรงงานเพื่อตรวจบัตรคนงานที่ทำโอทีและถามว่าพวกเราจะไปใหนกัน ในขณะที่ประธานสหภาพแรงงานโดนนายจ้างเรียกไปขอความร่วมมือห้ามหยุดงานเพราะ กอ.รมน.จังหวัดได้ขอร้อง

เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2551 ประธานสหภาพแรงงานฯ จิตรา คชเดช ได้รับเชิญให้ไปออกรายการโทรทัศน์ ช่อง NBT เรื่องทำท้องทำแท้ง เวลา 5 ทุ่ม ในขณะที่ประเทศไทยมีความขัดแย้งทางการเมืองบริษัทฯ ได้ฉวยโอกาส วันที่ 28 เมษายน เริ่มมีใบปลิวเป็นกระดาษที่ใช้แล้วของบริษัทฯ ออกมาโจมตีประธานสหภาพฯ มีผู้จัดการบางคนทำใบปลิวด่าประธานสหภาพฯ โดยใช้กระดาษอุปกรณ์ทุกอย่างของบริษัททั้งหมด และในใบปลิวมีข้อความให้ทำร้ายและถ่ายเอกสารคอมเม้นท้ายข่าวเว็บไซต์ผู้จัดการมาแจกคนงานวันที่ 30 เมษายน บริษัทฯ เรียกจิตรา ให้ไปชี้แจง เรื่องดังกล่าวและบอกว่าบริษัทไม่ได้มีปัญหาอะใร หลังการชี้แจงอนุญาติให้ใช้เครื่องเสียงและพื้นที่โรงอาหารของบริษัทฯ ในการชี้แจงต่อเพื่อนพนักงานแต่สมาชิกสหภาพแรงงานเข้าใจทันทีว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงานไม่ใช่เรื่องส่วนตัวของประธาน

วันที่ 9 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานฯ ยื่นข้อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้าง บริษัทฯ ได้นัดการเจรจาข้อเรียกร้อง ตัวแทนของบริษัทโดยนายมาคูส คาร์บิส (Markus Kabisch) กล่าวว่า “ไทรอัมพ์เป็นบริษัทที่มีบริษัทเป็นของตัวเอง ยังเป็นบริษัทท้ายๆ ที่คงโรงงานไว้ ตามตารางเห็นว่าไทรอัมพ์มีต้นทุนสูง เจ้าของกิจการอาจมีมุมมองในเรื่องการจ้างซับคอนแทคแทน” การเจรจาไม่สามารถตกลงกันได้ จนนำไปสู่การพิพาทแรงงาน การเจรจาวันที่ 30 มิถุนายน 2551 สหภาพแรงงานฯ ได้แจ้งบริษัทว่าจะขอมตินัดหยุดงานในวันที่ 4 กรกฎาคม 2551 วันที่ 2 กรกฎาคม 2551 บริษัทฯ และสหภาพแรงงานบรรลุข้อตกลงเป็นข้อตกลงที่สหภาพแรงงานฯ ไม่คิดว่าจะได้ฟังแบบไม่เชื่อว่าบริษัทจะให้ แต่เป็นที่พอใจของคนงานเป็นอย่างมาก

วันที่ 29 กรกฎาคม 2552 เป็นวันที่บริษัทฯ เรียก จิตรา ประธานสหภาพแรงงาน ไปที่อาคารวานิชแล้วแจ้งว่าบริษัทได้เลิกจ้างตามคำสั่งศาล เมื่อคนงานทราบข่าว วันที่ 30 กรกฎาคม 2551 สมาชิกสหภาพแรงงานและคนงานเกือบทั้งหมดได้ผละงานออกมาประท้วงเรียกร้องให้บริษัทรับประธานสหภาพกลับเข้าทำงาน สมาชิกเชื่อว่าเป็นการทำลายสหภาพแรงงาน วันที่ 12 กันยายน 2551สามารถหาข้อยุติได้ เป็นเวลา 45 วัน

สหภาพแรงงานเข้าใจว่าที่สุดพวกเราไม่สามารถทนต่อสภาพที่ไม่มีเงินค่าเช่าบ้าน เงินให้ลูกไปโรงเรียนและเงินที่ต้องส่งให้พ่อกับแม่ที่ต่างจังหวัดได้ จึงปรึกษากันว่าทุกคนจะกลับเข้าทำงานและจะเก็บเงินเป็นค่าจ้างให้จิตรา อยู่กับสหภาพแรงงาน โดยเป็นเจ้าหน้าที่และที่ปรึกษาและจิตราไปสู้ในชั้นศาล

ศาลใช้เวลาไต่สวนสี่วันและหลังจากนั้น หนึ่งอาทิตย์ศาลตัดสินว่าการใส่เสื้อที่มีข้อความไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม ไปออกทีวีนั้นเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายให้นายจ้างเลิกจ้างได้เพราะลูกจ้างไม่มีจิตวิญญาณประชาชาติไทย

ในขณะที่บริษัทฯ มี Code of Conduct หลักปฎิบัติของไทรอัมพ์ได้พูดสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงออก ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่าง ได้รับมาตรฐานแรงงานไทย แต่รัฐบาล กระทรวงแรงงานไม่สามารถดำเนินการอะใรกับบริษัทฯ ได้อ้างอย่างเดียวว่าอยู่ในชั้นศาล

วันที่ 29 มิถุนายน 2552 บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างคนงานทั้งหมด 1,959 คน คนงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการผลิตชุดว่ายน้ำทั้งหมดถูกเลิกจ้างเหลือไว้แต่พนักงานเย็บตัวอย่างชุดว่ายน้ำ ทำแพทเทิร์น ทำนาทีคูปอง และเหลือหัวหน้างานไว้ เพียง 8 คน คนงานในการผลิตชุดชั้นใน ถูกเลือกส่วนใหญ่ คนท้อง คนอายุใกล้เกษียณ คนป่วย คนพิการ และคนที่ลงชื่ออันดับต้นๆ ที่แสดงเจตนารมณกลับเข้าทำงานเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2551มีกรรมการสหภาพแรงงานถูกเลิกจ้างทั้งหมด 13 คน จากกรรมการสหภาพแรงงาน 18 คน

การเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯ อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน หาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เตรียมใช้ระบบจ้างงานซับคอนแทค ที่นายทุนไม่ต้องรับผิดชอบสวัสดิการ การเรียกร้องจากสหภาพแรงงาน


ตลอดระยะเวลา 29 ปีของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ เป็นเวลาที่ต้องต่อสู้ตลอดนับตั้งแต่วันเริ่มต้นที่พวกพี่ๆ ต้องหลบๆ ซ่อนๆ กว่าจะมีองค์กรได้ ก็ต้องเริ่มต้นปกป้อง เรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ปากท้อง ความเป็นอยู่ที่ดีของคนงานต่อนายทุน ต่อรัฐบาล ไม่เคยมีสักครั้งที่ทุกอย่างจะได้มาโดยง่ายดายแต่พวกเรายังได้บ้าง ไม่ได้บ้างถึงจะไม่ถึงเป้าหมายแต่มันเกิดจากการ “รวมตัวกัน” ของคนงานจึงทำให้เรามีอำนาจ พลังที่จะสามารถต่อรองได้




สหภาพแรงงานฯ กำลังถูกทำลายโดยนายทุนที่ร่วมมือกับรัฐบาล กลไกทุกอย่างของรัฐที่สร้างขึ้นมา เช่น คุก ศาล ทหาร ตำรวจ กระทรวงแรงงาน มีไว้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน เพราะนายทุนต้องการกำไรสูงสุดในขณะที่รัฐบาลก็มีแต่ตัวแทนนายทุน ในขณะที่คนงานคนจนไม่มีตัวแทนของเราในรัฐบาลมีแต่คอยเรียกร้องให้รัฐบาลช่วย เพราะเชื่อว่ารัฐจะเป็นกลางแต่ตลอดระยะเวลาการต่อสู้ของคนงานไทรอัมพ์ไม่เคยมีสักครั้งที่รัฐจะช่วยเหลือและเป็นกลาง มีแต่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงเมื่อคนงานอย่างพวกเรากำลังจะได้อะไรจากนายทุนบ้าง เมื่อพวกเราถูกกระทำเราไม่เคยเห็นหน้ารัฐ เช่นทุกวันนี้ที่พวกเราชุมนุมกันที่หน้าโรงงานเพราะถูกเลิกจ้าง ทำไมต้องเลิกจ้างเพราะนายทุนและรัฐกำลังทำลายการรวมตัวของเรา เพราะเขารู้ว่าเราสู้ได้เรานำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้ถ้าเรารวมตัวกัน

กลไกสำคัญที่รัฐสร้างขึ้นมาที่คนงานส่วนใหญ่หลงเชื่อว่าจะทำให้ชีวิตคนงานดีขึ้นคือระบบไตรภาคี ระบบไตรภาคีเป็นระบบที่ทำให้คนงานแบ่งแยก ช่วงชิงและไม่ได้ให้ประโยชน์กับขบวนการแรงงานแต่เป็นการเอื้อประโยชน์กับผู้นำบางคนที่สุดแล้วคนงานก็ยังถูกควบคุมมากขึ้นจากพวกเรากันเองด้วยซ้ำ

เมื่อเราย้อนถึงคำพูดของคุณเจริญ วัดอักษร “เราสู้ได้ ถ้าพี่น้อง ประชาชน ยังรวมตัวกัน” เช่นเดียวกันคนงานสู้ได้ถ้าเรารวมตัวกัน

การต่อสู้ของคนงาน คนจนไม่มีวันจบสิ้นตราบใดที่นายทุนยังไม่หยุดการแสวงหากำไรสูงสุด ตราบใดที่อำนาจรัฐอยู่ในมือนายทุน และตราบใดที่คนงานคนจนยังขาดการรวมตัวกันและคนงานคนจนยังไม่มีอำนาจรัฐอยู่ในมือ

ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/08/25550