Google
 

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2554

รู้จักตัวตนการต่อสู้ของ "จิตรา คชเดช" ผู้หญิงที่กล้าประกาศว่าผู้นำประเทศ "มือเปื้อนเลือด-ดีแต่พูด"

ที่มา : มติชนออนไลน์ วันที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2554 เวลา 09:30:00 น. http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1299509931&grpid=01&catid&subcatid

รับชมข่าว VDO
เมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 มีนาคมที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เดินทางไปแสดงปาฐกถาและร่วมประกาศเจตนารมณ์ "ผู้หญิงทำงาน สู้เพื่อคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนของทุกคน" ในวาระการเฉลิมฉลอง 100 ปี วันสตรีสากล 8 มีนาคม ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

แต่แล้วนายกรัฐมนตรีก็ถูก "ป่วน" โดยสตรีกลุ่มหนึ่ง ที่ทั้งตะโกนคำว่า "มือเปื้อนเลือด" และชูป้ายกระดาษซึ่งมีข้อความว่า "ใครเปื้อนเลือด?" และ "ดีแต่พูด" ใส่นายอภิสิทธิ์ที่ยืนรับแผ่นประกาศเจตนารมณ์และแสดงปาฐกถาอยู่บนเวที

หนึ่งในสตรีเหล่านั้นก็คือ"จิตราคชเดช" อดีตประธานสหภาพไทรอัมพ์ ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาสหภาพไทรอัมพ์ ทั้งยังเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มคนเสื้อแดง

จิตราถือเป็นนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมผู้มีบทบาทโดดเด่นยิ่งคนหนึ่งในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในมติชนสุดสัปดาห์ฉบับล่าสุด"มุกดา สุวรรณชาติ" เพิ่งเขียนถึงที่ปรึกษาสหภาพไทรอัมพ์ผู้นี้เอาไว้ในบทความชื่อ "101 ปี วันสตรีสากล ผู้หญิงก็เป็นคน...เป็นนักสู้ทุกแนวรบ" ซึ่งมีเนื้อหาว่า

ปี 2549 เป็นปีแรกที่สหภาพไทรอัมพ์ฯ กำหนดให้ประธานสหภาพแรงงานมาจากเลือกตั้งโดยตรงจากที่ประชุมใหญ่ คณะกรรมการสหภาพชุดใหม่ มี จิตรา คชเดช เป็นประธานสหภาพฯ ได้ต่อสู้เรียกร้องความเป็นธรรมอย่างต่อเนื่อง เช่น นายจ้างที่ออกใบเตือนเร่งเป้าการผลิตสำหรับคนท้อง คนงานอายุมากและความปลอดภัยในโรงงาน คนงานประท้วงโดยการหยุดทำงานล่วงเวลาปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนงาน

จิตรา คชเดช คือประธานสหภาพฯ ที่มีส่วนทำให้สหภาพแข็งแกร่งที่สุด เธอคือกรวดในรองเท้าที่นายทุนต้องกำจัดออกไปจากบริษัทให้ได้

จิตราเล่าว่า เธอถูกเล่นงานหลายครั้ง แต่ผ่านมาได้ เช่น มีใบปลิวโจมตีในโรงงาน และแจกทั่วนิคมอุตสาหกรรม ติดตามเสาไฟในย่านนิคมฯ โทร.มาขู่ฆ่า ถูกลอบทำร้าย ถูกกลั่นแกล้งด้วยการให้นั่งเฉยๆ นาน 6 เดือน

เมื่อไม่ได้ผลก็ให้ไปช่วยงานแผนกต่างๆ ที่เป็นงานยากๆ ที่เธอไม่เคยทำ ถ้าเป็นคนอื่นอาจจะถอดใจลาออกจากสหภาพ หรือลาออกจากบริษัท โดยการยอมรับเงินชดเชยไปแล้ว แต่เธอยังยืนหยัดทำงานในสหภาพฯ ต่อไป

ในที่สุด ก็มีการไปยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานอย่างลับๆ เพื่อขออนุญาตเลิกจ้างจิตราด้วยข้ออ้างที่เธอสวมเสื้อมีข้อความรณรงค์เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ถูกดำเนินคดีข้อหาหมิ่นฯ ขณะไปออกรายการโทรทัศน์เรื่องการทำแท้งเสรี ทำให้เสียชื่อเสียงบริษัท

เธอไม่ได้รับการติดต่อใดๆ จากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง จนกระทั่งมีคำตัดสินลับหลังเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 อนุญาตให้บริษัทเลิกจ้างจิตราได้

แต่บริษัทปล่อยเวลาให้ล่วงเลยระยะอุทธรณ์ไปถึงวันที่ 29 กรกฎาคม 2551 จึงเรียกเธอไปรับทราบ และขอให้เขียนใบลาออกเพื่อแลกกับเงินชดเชย 11 เดือน เมื่อเธอปฏิเสธ บริษัทจึงเลิกจ้าง

ทำให้พนักงานเกือบ 3,000 คนหยุดงานและชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้นายจ้างรับเธอกลับเข้าทำงานตามเดิม พนักงานคิดว่านี่เป็นการคุกคามเสรีภาพและเป็นแผนทำลายสหภาพแรงงาน

แต่การชุมนุมยืดเยื้อยาวนานถึง 45 วันทำให้คนงานไม่อาจทนสภาพเศรษฐกิจได้ จึงตัดสินใจกลับเข้าทำงาน เก็บเงินเป็นค่าจ้างให้จิตราเป็นที่ปรึกษาของสหภาพและต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป

แต่พนักงานคิดผิดเพราะบริษัทได้ทำการรุกต่อโดย หลังจากนั้นประมาณ 9 เดือนก็ประกาศเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน เพื่อปลดคนงานที่มีอายุมาก ซึ่งมีกรรมการสหภาพรวมอยู่ 13 คน ใน 18 คน เพื่อขุดรากถอนโคนสหภาพแรงงาน

จิตรากับเพื่อนคนงานได้ข้อสรุปที่เจ็บปวดว่า สุดท้ายรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเธอจึงใช้องค์กรในต่างประเทศช่วย การรณรงค์ในยุโรป เลือกใช้องค์กร OECD ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ใช้บีโอไอ เป็นตัวกลางเจรจากับนายจ้าง ใช้ศาลแรงงาน แต่ศาลพิพากษายกฟ้อง

เมื่อยกขบวนไปหน้าทำเนียบ หน้ารัฐสภา แกนนำก็ถูกจับ ฐานมั่วสุมเกิน 10 คน ทำให้บ้านเมืองได้รับการเดือดร้อน

พวกเธอจึงร้องเรียนต่อกระทรวงแรงงาน และในที่สุด ก็ใช้การเข้ายึดใต้ตึกกระทรวงแรงงานและชุมนุมยืดเยื้อเพื่อสะท้อนปัญหาต่างๆ ว่า รัฐบาลและกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาไม่ได้ และได้ใช้ที่นั่นเป็นที่ผลิตสินค้า เพื่อหาทุนต่อสู้อยู่นาน 8 เดือนจึงถอยออกมาเพื่อกำหนดแนวทางการต่อสู้ใหม่

พวกเธอได้รับบทเรียนของการต่อสู้ด้วยตนเอง ได้เข้าใจระบบทุนและอำนาจรัฐอย่างลึกซึ้ง

ณ วันนี้ จิตราและเพื่อนจำนวนหนึ่งยังร่วมต่อสู้และยังชีพด้วยการผลิตสินค้าด้วยตนเองออกมาขายในยี่ห้อ ทราย อาร์ม (TRY ARM -www.tryarm.org) ปัจจุบันได้รับออเดอร์พอสมควร แต่จิตราและแกนนำบางคนยังต้องขึ้นศาล เพื่อสู้คดีที่เกิดจากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพอีกหลายคดี

แต่เธอยืนยันว่า ไม่ท้อ สิ่งที่ทำให้มีกำลังใจสู้มาถึงขณะนี้ เพราะเชื่อในการเปลี่ยนแปลง เชื่อว่าคนเท่ากัน เชื่อว่าสังคมเปลี่ยนแปลงได้ด้วยการรวมตัว และตัวพวกเราเองคือกำลังใจที่สำคัญ

การต่อสู้ ณ วันนี้ คือการรวมตัว เสรีภาพการแสดงออก และประชาธิปไตยที่กินได้

การต่อสู้ในยุคสมัยปัจจุบันซับซ้อนกว่ายุคก่อนมาก แต่ จิตรา คชเดช สรุปว่า "การต่อสู้ของคนงานคนจนไม่มีวันจบสิ้น ตราบใดที่นายทุนยังไม่หยุดการแสวงหากำไรสูงสุด และอำนาจรัฐอยู่ในมือนายทุน และตราบใดที่คนงานคนจนยังขาดการรวมตัวกัน ก็จะไม่มีโอกาสคว้าอำนาจรัฐไว้ในมือ"

นอกจากนี้ บทสัมภาษณ์ชื่อ "เราไม่ได้ต้องการคนดี" ซึ่ง "วิจักขณ์ พานิช" พูดคุยกับจิตราเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ภายหลังการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดงถูกสลายไปสองเดือนก่อนหน้านั้น ที่ถูกนำมาเผยแพร่ในมติชนออนไลน์

ก็สามารถสะท้อนบุคลิกการต่อสู้และโลกทัศน์ของจิตราออกมาได้อย่างน่าสนใจ อาทิ

วิจักขณ์:ที่น่ากลัวที่สุด ผมคิดว่าคือความรู้สึกที่เราไม่ได้สู้อยู่กับคน คือเราสู้กับโครงสร้างความรุนแรงอะไรบางอย่าง มันเป็นระบบหรืออะไรบางอย่างที่ไม่ใช่คน อย่างอำนาจรัฐ การแก้ปัญหาด้วยอาวุธ มันเหมือนเป็นระดับวัฒนธรรมไปแล้ว คือถึงคนจะมีคุณธรรมยังไง แต่พอไปอยู่ในตำแหน่งนั้น ในโครงสร้างอำนาจแบบนั้น มันก็ยากที่จะทัดทาน

จิตรา: เออ พี่ก็รู้สึกว่าเราไม่ได้สู้กับมนุษย์ เออใช่ มันเป็นอะไรบางอย่างที่ไม่มีจิตใจ ไม่สามารถเข้าใจอะไรได้

เราคิดกันหลายอย่างนะ เฮ้ย จะทำไงกันดีวะ ตอนนั้นอยู่อนุสาวรีย์ชัยฯ จะเข้าไปราชประสงค์  มีส.ว.คนนึงมาบอก "เนี่ยเธอก็ต้องไปบอกพวกแกนนำสิ ให้ยุติการชุมนุม คนจะได้ไม่ตาย"

วิจักขณ์: แล้วพี่รู้สึกยังไง

จิตรา: ก็เฮ้ย อะไรวะ การจะตายมันไม่ได้อยู่กับคนที่ชุมนุม แต่การตายมันอยู่ที่คนที่เข้าไปฆ่า เราไม่ได้ทำให้ใครตายนี่ คุณต้องไปบอกให้คนที่เข้าไปฆ่าหยุดมันมีวิธีอื่นอีกมั้ยที่ไม่ใช่การฆ่า การฆ่ายังไงมันก็ไม่ใช่วิถีทางที่ถูกต้อง เพราะฉะนั้นบอกให้คนยุติการชุมนุม แล้วจะไม่เข้าไปฆ่า มันคนละเรื่อง คุณไม่ได้เข้าใจอะไรเลย มันตลกนะ ถ้าคุณเชื่อในสันติวิธีจริง คุณต้องไปบอกคนที่จะมาฆ่า ไปหยุดยั้งเขา ไปขวางเขา ประณามเขา ประท้วงเขา ไม่ใช่มาโทษคนชุมนุมว่าไปยืนล่อเป้าทำไม เพราะถึงยังไงรัฐก็ไม่มีสิทธิฆ่า แต่ก็มีคนบอกนะ อย่างจตุพรพาคนไปตาย อืม..แล้วพาคนไปตาย กับพาคนไปยิง อันไหนมันแย่กว่ากันล่ะ

คือเวทีที่อนุสาวรีย์ก็มีการประสานงานกันตลอดนะ ว่าจะมีการยอมมอบตัว พวกพี่ก็บอกยอมนะ ยอมถูกจับ จะทำเวทีไปจนกว่าจะมาจับ แต่เราก็ไม่รู้ว่าทหารจะเข้ามาด้วยหรือเปล่า เราก็กลัวทหารจะเข้า ก็พยายามติดต่อไปที่นักสันติวิธีให้มานั่งเป็นสันติวิธีให้เราหน่อย ยืนยันว่าเวทีเราสันติวิธีจริง ทีนี้เค้าก็บอกมาว่า ให้เราทำเวทีแบบนั่งสมาธิ จุดเทียน อะไรงี้ คือ อารมณ์นั้นจะให้คนนั่งสมาธิ (หัวเราะ) บอกว่าทำไม่ได้หรอกเวทีแบบนั้น เวทีสันติวิธีมันไม่จำเป็นต้องนั่งสมาธิหรือจุดเทียน เราไม่ได้ไปทำอะไรใครที่ไหน แต่เราก็สามารถให้ความรู้ทางการเมืองได้ ถูกมั้ย สันติวิธีไม่ได้หมายความว่าไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองนี่ แต่ไม่รู้นะว่าพูดแบบนี้แล้วพวกสันติวิธีเค้าคิดยังไง

..........

วิจักขณ์:จริงๆ ถ้าระบบพรรคการเมือง ระบบตัวแทนประชาชน มันเวิร์คจริงๆ มันก็อาจจะไม่ต้องมีการต่อสู้อะไรแบบนี้ก็ได้รึเปล่าพี่

จิตรา: มันคงเวิร์คไม่ได้ ถ้าคนหยุดที่จะเรียกร้องมัน เพราะฉะนั้นระบบตัวแทนก็คือ ระบบที่คนข้างล่างไม่หยุดที่จะเข้าใจเรื่องการเมือง แล้วก็คอยผลักดันอยู่เรื่อยๆ ว่าเราต้องการอะไร เพราะไม่อย่างนั้นพอพวกนักการเมืองมันหลุดจากฐานของชาวบ้านเพราะมันคิดว่ามันเป็นคนดีแล้ว อย่างนั้นก็จบ

ไอ้ความเชื่อเรื่องการเป็นคนดีมีคุณธรรมเนี่ย มันไม่สามารถที่จะแก้ไขโครงสร้างอะไรได้จริง นอกเสียจากจะมีระบบการตรวจสอบ  ต่อให้คุณเป็นคนเลวนะ แต่อยู่ในระบบการตรวจสอบที่ดี คุณก็ต้องเดินในกรอบของการตรวจสอบ แต่ถ้าคุณเป็นคนดีมีคุณธรรม เมื่อไหร่ที่คุณไร้การตรวจสอบ คุณก็จะเชื่อความเป็นคนดีของคุณโดยจะทำอะไรก็ได้ เพราะเชื่อว่าชั้นเป็นคนดีแล้ว ก็ทำอะไรไม่ยั้งคิด เพราะฉะนั้นใครที่ไม่ผ่านกระบวนการตรวจสอบแล้วบอกว่าเป็นคนดี เชื่อได้ยาก

วิจักขณ์: ไม่ต่างกับพระเลย พระก็เหมือนกัน

จิตรา: (หัวเราะ) ใช่ (หัวเราะ) ทุกพระแหละ

อย่างพี่เอง ก็เป็นคนธรรมดา อยากได้โน่น อยากได้นี่ โดยที่เราทำงานเป็นระบบองค์กร คนที่ทำงานในองค์กรจะรู้นะ อย่างเรื่องระบบการเงินเนี่ย ต่อให้คุณเป็นนักบัญชีที่ขี้โกงขนาดไหน แต่ถ้าคุณอยู่ในขั้นตอนของการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอ คุณก็โกงไม่ได้หรอก เพราะคุณอยู่ในระบบที่ดี ใช่มั้ย

วิจักขณ์: เผลอๆ อาจจะทำให้คนที่ขี้โกงนั้น เป็นคนดีขึ้นด้วย

จิตรา: ใช่ ระบบมันทำให้คุณเป็นแบบนั้นเอง ถึงคุณเป็นคนไม่ดีขนาดไหน คุณก็ต้องทำออกมาให้มันดี คุณก็คอรัปชั่นไม่ได้ แต่เมื่อไหร่ที่คนเชื่อว่าคุณเป็นนักบัญชีที่ดี เป็นคนดี มีชาติตระกูล แล้วคุณไม่ต้องผ่านการตรวจสอบ ก็ต้องมีบ้างแหละที่ อาจจะไม่ถึงกับคอรัปชั่นนะ แต่เรื่องระบบการเงินทั้งหมดเมื่อไม่มีการตรวจสอบ ความตรงไปตรงมาก็เกิดขึ้นไม่ได้ คุณอาจจะละเลยไปเองโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งพอเกิดขึ้นแล้วจะไปดูที่ว่าคุณเป็นคนดีหรือคนไม่ดี มันไม่ใช่เรื่อง เพราะสุดท้ายระบบการเงินก็เสียหายอยู่ดี เพราะมันไม่มีระบบการตรวจสอบที่ดี ไม่ใช่เรื่องว่าใครดีใครไม่ดี

เพราะฉะนั้นการที่บอกว่าคุณเป็นคนดี แล้วไม่มีการตรวจสอบ แล้วจะบอกว่าคุณจะเป็นคนดีตลอดไปนั้น มันเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าการที่คุณอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ แต่ผ่านการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเนี่ย มันก็ดีได้ ไม่รู้ว่าเค้าเรียกอะไรกัน เอาเป็นว่าตรงนี้มันเป็นที่โครงสร้างของระบบที่ต้องมีการตรวจสอบที่ดี

วิจักขณ์:เหมือนว่าเป็นความดีที่ไม่ได้มุ่งไปแค่ในระดับตัวบุคคล แต่อยู่ในวัฒนธรรม อยู่ในบรรยากาศ อยู่ในระบบที่ตั้งอยู่บนความจริง ไม่ใช่ห้อยป้ายว่าดีแล้วลอยนวลได้

จิตรา: ใช่ เหมือนถ้าเกิดคุณเอาผ้าเหลืองมาห่มแล้วคุณเป็นคนดี แล้วคุณไม่มีระบบตรวจสอบภายใต้ผ้าเหลืองนั้น ก็ไม่ได้หรอก หรือการที่คุณได้ตำแหน่งอะไรมาซักอย่าง ถึงคุณจะเป็นคนดี คุณก็ต้องถูกตรวจสอบนะ

วิจักขณ์: คือพี่มองระบอบประชาธิปไตยว่า คือ ระบอบที่เรื่องของการตรวจสอบที่ดี สำคัญกว่าเรื่องการเลือกคนดี

จิตรา: ใช่ ทุกอย่างต้องตรวจสอบได้

วิจักขณ์: มีนายกฯเลวก็ได้ แต่ว่าต้องมีระบบการตรวจสอบที่ดี

จิตรา: ใช่ การตรวจสอบที่ดีจะทำให้อำนาจเป็นของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่อำนาจถูกมอบไปให้นักการเมืองแบบให้แล้วให้เลย ถ้าระบบดีนะ ถึงวันนั้นนายกฯเป็นใครก็ได้

แต่ว่าทุกวันนี้ เวลาเราจะไปตรวจสอบอะไรซักอย่าง มันก็ตรวจสอบยากขึ้น เพราะว่าเค้าถูกความเป็นคนดีการันตีไว้แล้ว ประมาณว่า อ๊ะ ก็นี่เค้าดีขนาดนี้ คนนับหน้าถือตาเค้าขนาดนี้แล้ว จะไปตรวจสอบ จะไปวิพากษ์วิจารณ์ให้เค้าหม่นหมองได้ยังไง (หัวเราะ) ใช่มั้ย ...จริงๆ แหละ ทุกอย่างมันต้องตรวจสอบได้ เป็นโครงสร้างที่มาจากล่างสู่บน เมื่อไหร่ที่ยังเป็นระบบที่จากบนลงล่าง คนข้างล่างตรวจสอบคนข้างบนไม่ได้ ก็ไม่สามารถที่จะเรียกว่าประชาธิปไตยได้ ถ้ายังเป็นแบบนี้จะเรียกว่าระบบอะไรก็ไม่รู้

ล่าสุด จิตราเขียนบันทึกในเฟซบุ๊กของเธอ เล่าถึงเบื้องหลังเหตุการณ์เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

โดยเธอสรุปพฤติการณ์ในวันนั้นของตนเองเอาไว้ว่า"...ฉันไม่มีเรื่องโกรธเกลียดกันเป็นการส่วนตัว แต่ฉันไม่ชอบระบบที่เขาใช้อยู่ ฉันต้องการระบบประชาธิปไตย คนเท่ากันหนึ่งคน หนึ่งสิทธิ์ หนึ่งเสียง ทุกคนมาจากการเลือกตั้ง ทุกสถาบันตรวจสอบได้ ฉันไม่ต้องการคนดี คนหล่อ ฉันต้องการการตรวจสอบเปิดเผย โปร่งใส"

นี่คือตัวตนบางด้านของ "จิตรา คชเดช" สตรีผู้ใช้แรงงานคนหนึ่ง ที่หาญกล้าประกาศต่อสาธารณชนว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน "มือเปื้อนเลือด" และ "ดีแต่พูด"