Google
 

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

กระทรวงแรงงานเตรียมขออำนาจศาลไล่อดีตคนงานไทรอัมพ์พ้นตึก

Wed, 2009-11-11 12:28

อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน อ้างจะขอพื้นที่ชุมนุมอดีตคนงานไทรอัมพ์ฯ มาจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ เตรียมขออำนาจศาลคุ้มครองชั่วคราว ด้านผู้ชุมนุมไม่ยอมย้าย ขอร่วมจัดนิทรรศการด้วย ครวญตกงาน ไม่มีค่าเช่าบ้าน จึงมาอาศัยที่ใต้ถุน วอนกระทรวงไม่ควรอ้างการจัดนิทรรศการเป็นเครื่องมือทำลายคนจน




บรรยากาศการชุมนุมของอดีตพนักงานไทรอัมพ์ ที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน เมื่อ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา

ตามที่อดีตคนงานบริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำยี่ห้อไทรอัมพ์ ที่ถูกเลิกจ้าง มาปักหลักอยู่ที่ใต้ถุนอาคารกระทรวงแรงงานอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค. รวมเป็นเวลากว่า 28 วันแล้ว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลรวมถึงกระทรวงแรงงานแก้ปัญหาการเลิกจ้าง
ล่าสุด เมื่อวานนี้ (10 พ.ย.) ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า กระทรวงแรงงานต้องการใช้พื้นที่จัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ แต่กลุ่มแรงงานยังยืนยันว่า จะปักหลักชุมนุมต่อที่บริเวณเดิม และจะตั้งเต็นท์ที่ด้านหน้าของกระทรวง เพราะเกรงว่า จะไม่ได้รับการช่วยเหลือแล้วเรื่องจะเงียบหายไป และอยากเป็นส่วนหนึ่งในการจัดนิทรรศการด้วย ขณะที่นางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ระบุว่า หากกลุ่มผู้ชุมนุมไม่ร่วมมือตามหนังสือแจง และไม่เคลื่อนย้ายออกไปภายในวันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายนนี้ กระทรวงแรงงานจะขออำนาจคุ้มครองชั่วคราวจากศาลแพ่งต่อไป

หลังจากการให้ข่าวของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ผู้สื่อข่าวได้สอบถามไปยังผู้ชุมนุม โดยน.ส.สวี สุดารักษ์ อดีตพนักงานไทรอัมพ์ฯ ที่ร่วมชุมนุม มองประเด็นที่อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานนำเอาการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติมาเป็นเครื่องมือในการขับไล่ผู้ชุมนุมว่า “ถ้าหากจะจัดนิทรรศการเราก็สนับสนุนในสิ่งที่กระทรวงทำ แต่การที่เรามาอยู่ที่นี่ปัญหาเรายังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้นกระทรวงควรคิดว่าจะให้เราเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการได้อย่างไร ทั้งๆ ที่ในปีที่ผ่านมากระทรวงก็ไม่ได้ใช้พื้นที่มากนักในการจัดนิทรรศการ ดังนั้นจึงมีพื้นที่เหลือมากมายในการทำกิจกรรม แต่จะเป็นการดีเช่นกันที่กระทรวงจะแก้ปัญหาเราให้จบก่อนวันจัดนิทรรศการ เนื่องจากปัญหาเรายังไม่ได้รับการแก้ไข ยังไงเราก็ยังไม่กลับบ้านอยู่ดี กระทรวงจะผลักเราไปอยู่บนท้องถนนหรืออย่างไร

เมื่อถามถึงกรณีที่ ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า กลุ่มอดีตลูกจ้างไทรอัมพ์ ยึดใต้ถุนกระทรวงแรงงาน “ตั้งจักรรับเย็บเสื้อผ้า ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ” นั้น น.ส.สวีกล่าวว่า “ถ้าเรามีรายได้เป็นกอบเป็นกำจริงตามที่อธิบดีกล่าวนั้น พวกเราก็ไม่อยู่ใต้ถุนกระทรวงแล้ว แต่ก็จะดีและควรส่งเสริมถ้าหากผู้ชุมนุมจะมีรายได้ตามที่ท่านอธิบดีกล่าวจริง”

น.ส.สวี ยืนยันว่าการชุมนุมของสหภาพแรงงานไม่ได้สร้างความเดือดร้อนต่อผู้ที่มาติดต่อกระทรวง กลับเป็นสิ่งดีต่อกระทรวงเสียอีกที่คนต่างชาติที่มาติดต่อกระทรวงแล้วมาสอบถามปัญหา พวกเรายังได้ชื่นชมกระทรวงที่ให้ความช่วยเหลือ อย่างน้อยก็ให้ที่อยู่แก่คนที่ตกงานไม่มีค่าเช่าบ้านอยู่ใต้ถุนกระทรวงในขณะนี้ รวมถึงผู้เข้ามาใช้บริการกระทรวงแต่ไม่รู้จะติดต่อทางไหน เข้ามาปรึกษาพวกเรา ก็ยังได้มีโอกาสอาสาช่วยประสานให้เพื่อนผู้ใช้แรงงานในหลายกรณีด้วยซ้ำไป บางทีมีคนงานทั้งแรงงานจากต่างจังหวัด แรงงานข้ามชาติที่มาติดต่อที่กระทรวง แล้วกระทรวงไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 วัน พวกเราคนงานยังให้มุ้งและที่นอนเพื่อพักกับพวกเขา รอติดต่อกระทรวงในวันต่อไปเลย

“เราผลิตสินค้านี่ เราก็อยากให้คนภายนอกเข้าใจเรา ว่าเราถูกเลิกจ้างเราก็ทำทุกวิถีทางแล้ว แทนที่จะไปเดินขบวนตามถนน แต่เรากลับมาชุมนุมโดยสงบและสร้างสรรค์ใต้ถุนกระทรวงแรงงานแทน และกระทรวงแอบอ้างการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์มาเป็นเครื่องมือในการทำลายคนจนที่เดือดร้อน” สวี กล่าวทิ้งท้าย

ด้านนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย นักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ด้านการบริหารภาครัฐ ซึ่งมาศึกษาการชุมนุมของแรงงานกลุ่มนี้ มองการให้ข่าวของอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานว่า การบริหารภาครัฐนั้นเป้าหมายหลักก็เพื่อสร้างสวัสดิการสูงสุดให้แก่สังคม โดยเฉพาะกระทรวงแรงงานก็มีเป้าหมายหลักก็เพื่อสร้างความอยู่ดีมีสุข คุณภาพชีวิตที่ดีแก่แรงงาน เพราะชื่อกรมของอธิบดีที่มาให้ข่าวว่าจะไล่คนงานที่เดือดร้อนให้ออกไปนั้น มันก็บอกตรงๆ ตัวแล้วว่า สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

ส่วนในฐานะอธิบดีหรือผู้บริหารนั้น มีหน้าที่จัดการเพื่อในบรรลุตามเป้าหมายหรือพันธกิจขององค์กรนั้นๆ ด้วยเหตุนี้การพยายามไล่แรงงานที่เดือดร้อนที่มาขอพึ่งพิงองค์กรที่มีเป้าหมายเพื่อคุ้มครองพวกเขาออกไปจากความรับผิดชอบตามพันธกิจ โดยการอ้างการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติมาเป็นข้ออ้างนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อพระเกียรติด้วยหรือไม่ ทั้งๆ ที่ผู้ชุมนุมอยากมีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการนี้ อีกทั้งในฐานะที่อธิบดีกรม ถ้าเป็นผู้บริหารที่ดี ย่อมต้องมีความสามารถจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะพื้นที่ว่างของกระทรวงที่มีความเหมาะสมในการจัดอีกมากมาย รวมถึงโดยปกติพื้นที่ที่แรงงานมาชุมนุมก็มีการใช้จัดตลาดนัดอยู่แล้ว” เทวฤทธิ์ กล่าว

นายเทวฤทธิ์กล่าวทิ้งท้ายว่า “กังวลใจว่าการกระทำดังกล่าวของท่านอธิบดีจะเป็นที่ครหาได้ว่า หากไม่เกิดจากอคติ ก็สะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการทรัพยากรของกระทรวง ทั้งๆ ที่มีที่ว่างที่เป็นจุดเด่นเหมาะสมในการจัดอีกมากมาย รวมถึงผู้ชุมนุมต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการจัดนิทรรศการครั้งนี้ด้วย กระทรวงกลับไม่แสดงความสามารถและความสร้างสรรค์ในการบริหารดังกล่าว แต่ถ้าหากไม่เกิดจากกรณีข้างต้น ผมเกรงว่ากระทรวงก็ไม่อาจแก้ตัวได้ว่ากระทรวงต้องการเอาการจัดนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติมาเป็นเครื่องมือในการขับไล่แรงงานที่ประสบปัญหา และอาจส่งผลกระทบต่อพระเกียรติด้วยหรือไม่ ทั้งๆ ที่เขาชุมนุมกันอย่างสงบ สันติและสร้างสรรค์ หรือว่ากระทรวงจะปัดความรับผิดชอบตามพันธกิจ แล้วผลักให้เขาเหล่านี้ไปชุมนุมตามท้องถนนเหมือนเดิม โดยไม่สนใจผลกระทบต่อพระเกียรติเลยหรืออย่างไร”


ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/11/26546