Google
 

วันศุกร์ที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2552

สร.ไทรอัมพ์ยื่นหนังสือถึง EU ตรวจสอบการละเมิดสิทธิแรงงาน





วันนี้(21 ส.ค.52)เวลา 10.00 น. สหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทยได้มายื่นหนังสือถึงคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลและหามาตราการยุติการเลิกจ้าง 1,959 คน ที่บริเวณหน้าอาคาร เคี่ยนหงวน 2 ตรงแยกสารสิน ถนนวิทยุ ซึ่งบริเวณชั้น 19 ของตึกเป็นที่ทำการของคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทยดังกล่าว



บริเวณหน้าอาคาร เคี่ยนหงวน 2


ซึ่งในครั้งนี้สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ส่งตัวแทนมา 30 คน เพื่อยื้นหนังสือดังกล่าว แต่อย่างไรก็ตามทางที่ทำการของคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทยอนุญาติให้ขึ้นไปยื่นหนังสือบนชั้น 19 ของอาคารได้เพียง 2 คนเท่านั้น ทางสหภาพแรงงานไทรอัมพ์จึงส่งตัวแทนขึ้นไปยื้นหนังสือในเวลา 10.40 น.

โดยระหว่างการรอตัวแทนที่เข้าไปยื่นหนังสือนั้นกลุ่มตัวแทนที่เหลือได้มีการร้องเพลง พร้อมทั้งชี้แจงตอนคนที่ผ่านมาบริเวณหน้าตึกดังกล่าวถึงเหตุผลที่มาในครั้งนี้



กิจกรรมระหว่างรอตัวแทนเข้าไปยื่นหนังสือ


จากนั้นเวลา 11.30 น.ตัวแทน 2 ท่านที่เข้าไปยื่นหนังสือได้ออกมา โดย บุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล หนึ่งในตัวแทนที่เข้าไป ได้ชี้แจงต่อผู้ชุมนุมบริเวณหน้าตึกดังกล่าวว่า “ ตัวแทนที่มารับหนังสือประกอบด้วย คุณ Jean – Jacques BOUFLET Minister – Counsellor และ คุณBernard SCHELFAUT Attache Head of Administration รับปากว่าเมื่อรับหนังสือนี้แล้ว จะส่งต่อให้สำนักงานใหญ่ที่กรุงบรัสเซล ประเทศเบลเยียม และกล่าวกับเราว่ายินดีช่วยเหลือพวกเราและรับไม่ได้ที่มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน จึงขอขอบคุณ EU”





เอกสารแสดงถึงการรับจำหมายของคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย


ส่วนตัวแทนอีกท่าน จิตตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่า “ระหว่างการพูดคุยทางตัวแทนคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทยที่มาพูดคุย กล่าวกับเราว่า EU จะทำอะไรได้ ตนก็เลยบอกกับตัวแทนที่มาคุยไปว่า เพียงแค่ EU บอกว่าไม่ยอมรับบริษัทที่ไม่ยอมรับ OECD Guidline และ Code of Conduct เท่านี้ก็มีผล เพราะลูกค้าส่วนใหญ่อยู่ EU รวมทั้ง EU ก็บอกว่ายึดหลักสิทธิมนุษยชน ใครจะละเมิดไม่ได้”
หลังจากได้ฟังชี้แจงตัวแทนที่มายื่นจดหมายในครั้งนี้ ได้ทยอยกันขึ้นรถโดยสารประจำทางกลับไปสมทบกับผู้ชุมนุมที่อยู่หน้าโรงงานซึ่งตั้งอยู่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต. บางเสาธง อ. บางเสาธง จ.สมุทรปราการ



หนังสือของสหภาพถึงคณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย(ฉบับภาษาไทย)



สทอท.ที่ /2552
21 สิงหาคม 2552

เรื่อง ขอให้สหภาพยุโรปตรวจสอบการกระทำของไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลและหามาตราการยุติการเลิกจ้าง
เรียน คณะผู้แทนคณะกรรมาธิการยุโรปประจำประเทศไทย
สิ่งที่ส่งมาด้วย : จดหมายประกาศเอกภาพของผู้ใช้แรงงานบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศฟิลิปปินส์และประเทศไทย




ด้วยบริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลได้เข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2512 ก่อตั้งครั้งแรกที่เมืองชอยมาค เวิล์ทเท็ม เบร็ก ประเทศเยอรมันตะวันตกมีเจ้าของเป็นชาวเยอรมนี สำนักงานใหญ่อยู่ที่ ธุนสแตรสเช่ 3005 เมืองเบิร์น ประเทศสวิสและ Triumph Intertrade AG, Triumphweg 6, 5330 Bad Zurzach, Switzerland และได้มีบริษัทลูกได้จดทะเบียนในประเทศไทยเมื่อ ปี 2332 ชื่อบริษัทบอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด ตั้งอยู่ที่ 393 หมู่ 17 นิคมอุตสาหกรรมเมืองใหม่บางพลี ต. บางเสาธง อ. บางเสาธง จ.สมุทรปราการ ประกอบกิจการอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า ผลิต ชุดชั้นใน และชุดว่ายน้ำ ยี่ห้อไทรอัมพ์ วาเลเซีย สล๊อคกี้ AMO HOM เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2552 ได้การประกาศเลิกจ้างคนงานทั้งหมด 1,959 คน เป็นจำนวน 50% ของคนงานทั้งหมดที่ โรงงานบางพลีให้มีผลการพ้นสภาพการเป็นคนงานของบริษัทบอดี้ฯ ในวันที่ 31สิงหาคม 2552 และคนงานที่ถูกเลิกจ้างเป็นกรรมการสหภาพแรงงานฯถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 18 คน ในการเลิกจ้างครั้งนี้ได้เลิกจ้างคนท้อง คนใกล้เกษียณ คนป่วย คนพิการและส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิงที่มีอายุงานที่ทำงานให้บริษัทฯมาอย่างยาวนานถึง 20-30 ปี และไม่สามารถไปหางานใหม่ หรือไปประกอบอาชีพอื่นได้ ในสิ่งที่ทุกคนต้องการคือการมีงานทำ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์




ในการเลิกจ้างครั้งนี้บริษัทฯได้อ้างว่า “ต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาวของไทรอัมพ์ทุกหน่วยงาน จุดมุ่งหมายเพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพโดยรวมขององค์กรให้มีประสิทธิผล ทำให้เกิดความมั่นใจว่าธุรกิจของเรายังคงยืนหยัดอยู่ได้ด้วยความมั่นคงและยังขยายต่อได้เมื่อโอกาสมาถึง” โดยก่อนหน้านี้ก็ไม่มีมาตราการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายที่ชัดเจนเลย ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยได้รับการสนับสนุนการลงทุนจากคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(BOI) ซึ่งเป็นข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า สรุปข่าวโลกธุรกิจ ลงวันอังคารที่ 8 กรกฎาคม 2008 ว่าได้รับการส่งเสริมการลงทุน 75.5 ล้าน โดยในปัจจุบันโรงงานที่นครสวรรค์มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงาน ที่ถือเป็นองค์กรสิทธิแรงงานขั้นพื้นฐาน




ในขณะที่ล่าสุด 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552 นายจักร เฉลิมชัย ผู้จัดการ ทั่วไป ฝ่ายการตลาดและการขาย บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ออกมาแสดงทัศนะว่า “ยอดขายนับจากปีหน้าเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก หลังจาก ปี 2551 จนถึงปีนี้ เติบโตเป็น ตัวเลขหลักเดียว จากปัญหาการเมือง เศรษฐกิจและสินค้าผลิตไม่ทัน” (จาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2552) ซึ่งก่อนหน้านั้น จักร เองก็เคยกล่าวไว้เมื่อต้นปีนี้(จาก นสพ.โพสต์ทูเดย์ 21 มีนาคม พ.ศ. 2552)ว่า “บริษัทแม่ในประเทศเยอรมนีมองปัญหา วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจ เพราะบริษัทแม่มีเงินลงทุนสูง”




คำยืนยันของบริษัทดังกล่าวนอกจากจะแสดงให้เห็นแล้วว่าบริษัทไม่มีอุปสรรค์จากปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจแล้ว ยังมองว่าเป็นโอกาสของบริษัท โดยสิ่งที่ปรากฏคือการอาศัยโอกาสดังกล่าวเลิกจ้างคนงาน โดยปล่อยให้เผชิญกับวิกฤติทางเศรษฐกิจที่บริษัทมองว่ามันเป็นโอกาสของตนเองนั้น ซึ้งเท่ากับเป็นการทำลายสิทธิและสวัสดิภาพแรงงาน สิ่งที่สำคัญคำกล่าวของบริษัทยังเป็นการยืนยันว่าบริษัทแม่อยู่ประเทศเยอรมนี ซึ่งขัดแย้งกับคำกล่าวของสถานฑูตเยอรมันที่ปฏิเสธว่าไทรอัมพ์เป็นบริษัทของเยอรมัน หนึ่งในสมาชิกสหภาพยุโรป(EU) นอกจากนี้บริษัทไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลยังทำธุรกิจและทำการผลิตในหลายประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป




ทั้งนี้สหภาพยุโรปเป็นที่รับรู้กันว่ามีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนเรื่องสิทธิมนุษยชนให้เกิดขึ้นทังภายในและภายนอกของสหภาพยุโรปเอง ซึ่งก็ได้รับชื่นชมจากหลายๆประเทศ โดยทางธุรกิจสหภาพยุโรปได้ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบทางสังคมหรือ Corporate Social Responsibility (CSR) ซึ่งเป็นแนวความคิดที่บริษัทและองค์กรธุรกิจแสดงความตระหนักถึงความรับ ผิดชอบและมีส่วนร่วมทางด้านสังคม สิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงาน และประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมอื่นๆ




รวมถึงสหภาพยุโรปยังย้ำถึงสิทธิมนุษยชนเป็นประเด็นหลักและเป็นนโยบายต่างประเทศที่สำคัญของสหภาพยุโรปเเละประเทศสมาชิก และเป็นที่ทราบกันดีว่าสหภาพยุโรปได้สร้างเครื่องมือบางอย่างเพื่อส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเเละการปกครองเเบบประชาธิปไตย และเคารพใน ข้อตกลงที่เกี่ยวข้องสหประชาชาติ และองค์กรแรงระหว่างประเทศ ( ILO รวมถึงแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) ตามหลัก OECD Guidelines for MNEs อีกด้วย



แต่การกระทำดังกล่าวของบริษัทไทรอัมพ์ฯที่มีบริษัทแม่จากเยอรมนีซึ่งเป็นประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปเอง กลับเป็นการกระทำที่รุนแรงไร้ซึ่งมนุษยชนที่ดีควรกระทำ ไม่เคารพในสิทธิมนุษยชนและสวัสดิภาพของแรงงาน เป็นการกระทำที่เห็นคนงานเป็นเพียงสินค้าเมื่อรีดแรงงานหมด ก็โยนทิ้งให้คนงานเหล่านั้นต้องเผชิญกับความยากแค้นและไม่มั่นคงในชีวิต การกระทำของไทรอัมพ์ เป็นการแสดงถึงการไม่เคารพในหลักการแห่งสังคมประชาธิปไตย รวมถึงไม่ได้ปฎิบัติตามเงื่อนไขปฏิบัติที่ระบุไว้ในข้อตกลงสภาพการจ้างที่บริษัทบอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) บริษัทลูกของไทรอัมพ์ ได้ทำไว้กับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล แห่งประเทศไทย
ดังนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯจึงขอเรียกร้องต่อท่านให้บรรษัทข้ามชาติที่ เป็นบริษัทจากสหภาพยุโรปเองได้ปฎิบัติต่อคนงานดังนี้

1.ให้บริษัทฯยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานทั้งหมดและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติ




2.ให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลตามหลักมาตรฐานแรงงานสากลและแนวปฏิบัติของบรรษัทข้ามชาติ (OECD Guidelines) ตามหลัก OECD Guidelines for MNEs ที่ว่าการเปิดเผยข้อมูล (Disclosure) ธุรกิจควรเปิดเผยข้อมูลที่เชื่อถือได้อย่างสม่ำเสมอ อาทิ โครงสร้างองค์กร สถานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและสังคมบริเวณโดยรอบองค์กร และที่สำคัญการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ (Employment and Industrial Relations) ธุรกิจควรเคารพสิทธิของลูกจ้าง ปฏิบัติต่อลูกจ้างด้วยความเท่าเทียมกัน ให้ข้อมูลผลการดำเนินงานที่แท้จริงของธุรกิจแก่ลูกจ้างและผู้แทนสหภาพแรงงานฯและคนงานของบริษัททั้งหมด การเลิกจ้างเป็นกลุ่มจำนวนมากอย่างนี้ นายจ้างจะต้องปรึกษากับองค์การลูกจ้างและรัฐบาลในการหาทางออกเพื่อลดผลกระทบต่อคนงานให้มากที่สุด ซึ่งประเทศของท่านอยู่ในกลุ่ม OECD ด้วย จึงจำเป็นที่ต้องปฏิบัติตามหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด




3. บริษัทต้องเปิดโอกาสให้องค์กรของลูกจ้างหรือสหภาพแรงงานเข้าร่วมการปรึกษาหารือกับฝ่ายบริหารในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบต่อ ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของคนงาน จะเป็นการลดความตึงเครียด ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายแรงงานกับฝ่ายบริหาร เพราะการปรึกษาหารือเป็นการเคารพในสิทธิมนุษยชนของคนงาน เป็นหลักปฏิบัติที่ใช้กันในสังคมประชาธิปไตย และหลัก OECD Guidelines for MNEs ในเรื่องของการจ้างงานและแรงงานสัมพันธ์ อีกเช่นกัน เพื่อนำไปสู่การหาทางออกที่สร้างสรรค์และลดผลกระทบของการเลิกจ้างในกรณีของการเลิกจ้างพร้อมกันหลายคน ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการ
เร่งด่วนระยะ 1 ปี ของรัฐบาลไทยในเรื่องของการรักษาและเพิ่มรายได้ของประชาชน ที่เสนอให้ร่วมมือกับภาคเอกชนในการดำเนินมาตรการชะลอการเลิกจ้างและป้องกันการขยายตัวของการเลิกจ้าง แน่นอนทางสหภาพแรงงานฯมั่นใจว่ามีอีกหลายทางเลือกที่สร้างสรรค์




4. ให้บริษัทฯปฏิบัติตาม CODE OF CONDUCT ของกลุ่มบริษัทไทรอัมพ์ฯ ซึ่งมุ่งเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องสิทธิมนุษยชน ดังที่กล่าวไว้ในปฎิญญาว่าด้วยสิทธิมนุษยชน(the “General Declaration Of Human Rights”) และพร้อมใจปฎิบัติตามข้อตกลงที่เกี่ยวข้องขององค์กรแรงระหว่างประเทศ ( ILO) และข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ ขององค์การสหประชาชาติ ในด้านกฎระเบียบและการพัฒนาการปฎิบัติงานและสภาวะทางเศรษฐกิจ รวมถึงมาตรฐานสากลขององค์กรสหประชาชาติ (UN Global Compact)




ฉะนั้นสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะสนับสนุนและดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังและเร่งด่วน
จึงขอขอบคุณมา ณ. โอกาสนี้

ขอแสดงความนับถือ



นางสาวบุญรอด สายวงศ์
เลขาธิการสหภาพแรงงาน


สำเนาถึง :International Labour Organization , Human Security Network (HSN)
Organisation for Economic Co-operation and Development (OECD)
Mr. Abhisit Vejjajiva Prime Minister of Thailand