Fri, 2009-07-17 13:58
พัชณีย์ คำหนัก
โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย
รายงานชิ้นนี้พยายามจะเปิดเผยกระบวนการขูดรีดแรงงานของระบบทุนนิยม ซึ่งบรรษัทข้ามชาติ “บริษัท ไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล” ที่ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์และเยอรมนี เพื่อตอบคำถามว่ามีการเติบโตและขยายกิจการมาอย่างไร รวมถึงการลดต้นทุนการผลิตในช่วงที่เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ซึ่ง ชัดเจนแล้วว่า บรรษัทข้ามชาตินี้ได้สร้างโซ่การผลิตเหมาช่วงนับจากการตั้งโรงงานสาขาย่อย หรือบริษัทลูกลงไปถึงการจ้างผู้ประกอบการเหมาช่วงการผลิตในประเทศกำลังพัฒนา เช่น ประเทศไทย ฟิลิปปินส์ พม่า เพื่อลดต้นทุนด้วยการจ้างแรงงานราคาถูก ปล่อยให้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยนายจ้างเหมาช่วงเพื่อสร้างกำไรสูงสุด นั่นเอง
ด้วย เหตุนี้รายงานชิ้นนี้จึงต้องนำเสนอกระบวนการผลิตและสภาพการจ้างงาน ดูการทำงานของแรงงานหญิง ชีวิตแรงงานภายใต้ค่าแรงขั้นต่ำ การปฏิบัติของนายจ้างต่อแรงงานและการตอบโต้ของแรงงานเมื่อถูกเลิกจ้างอย่าง ไม่เป็นธรรม โดยเริ่มจากข้อพิพาทระหว่างแรงงานไทรอัมพ์กับนายจ้าง และระหว่างแรงงานเวิลด์เวลล์กับนายจ้างบริษัทแม่ (เวิลด์คัพ) ซึ่งเป็นคนงานเหมาช่วงจากบริษัทบอดี้แฟชั่น ประเทศไทย (บริษัทลูกของบรรษัทข้ามชาติไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล) นั่นคือการเลิกจ้างและต่อสู้ของแรงงานของทั้งสองแห่ง
การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
สรุปการเลิกจ้างของบริษัทไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
บริษัท บอดี้แฟชั่น ประเทศไทย ในเขตอำเภอบางพลี จ.สมุทรปราการ สาขาย่อยของไทรอัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนล สำนักงานใหญ่ที่ประเทศเยอรมนี และสวิสเซอร์แลนด์ ทำการผลิตชุดชั้นใน ชุดว่ายน้ำภายใต้เครื่องหมายการค้า “ไทรอัมพ์”และบริหารงานโดย นายเคนเนท หลุยส์ มาแชล หลังจากที่จ้างพนักงานจำนวนถึง4,200 คน มาเป็นเวลานาน บริษัทได้ประกาศเลิกจ้างคนงานจำนวนเกือบครึ่งหนึ่งอย่างกะทันหันโดยไม่มีการ บอกล่วงหน้า ซึ่งการเลิกจ้างแบบนี้ก็ได้เกิดขึ้นแล้วที่บริษัทลูก 2 แห่งในประเทศฟิลิปปินส์จำนวน 1,660 คนและเป็นผลในวันที่ 9 ก.ค. 52
เมื่อวันศุกร์ที่ 25 มิ.ย. 52 ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ นายประยูร วงษ์เล็กแจ้งกับพนักงานว่า วันเสาร์และวันอาทิตย์ที่ 27-28 มิ.ย. เป็นวันหยุดพิเศษ พนักงานไม่ต้องมาทำงานเนื่องจากปริมาณงานลดลง แต่จะยังได้รับค่าแรงปกติ และจะต้องกลับเข้ามาทำงานในวันที่ 29 มิ.ย.
ในตอนเช้าของวันจันทร์ที่ 29 มิ.ย. ผู้บริหารไทรอัมพ์ได้จัดประชุมใหญ่ของบริษัทโดยให้คนงานทั้งหมด 4,200 คน ไปประชุมที่ไบเทค บางนา ตัวแทนบริษัทประกาศในที่ประชุมว่า ข่าวลือถึงเรื่องการเลิกจ้างคนงานจำนวนมากนั้นเป็นความจริง นั่นคือ คนงานจำนวน 1,930 คนจะถูกปลดออก ซึ่งเท่ากับ 37% ของกำลังแรงงานที่โรงงานบางพลีและเป็นผลในวันที่ 28 สิงหาคมนี้
ในช่วงก่อนหน้านี้ ผู้บริหารได้ออกประกาศของเดือนมีนาคมไปแล้วว่า ยอดขายของบริษัทไม่เพิ่มขึ้นเลยในช่วงต้นปี 2552 รวมถึงยอดสั่งซื้อสินค้าก็ลดลงด้วยอันเนื่องมาจากได้รับผลกระทบจากวิกฤตการ เงินโลก แม้จะได้มีการใช้มาตรการระยะสั้นคือ รักษาสภาพค่าใช้จ่ายของบริษัทให้เท่ากับปี 2551 แต่ผู้บริหารอ้างว่า ถึงคราวจำเป็นที่จะต้องตัดฐานค่าใช้จ่ายอย่างจริงจังเพื่อปกป้องอนาคตของ บริษัท ดังนั้นจึงมีแผนปรับโครงสร้างค่าใช้จ่ายของหน่วยต่างๆ เพื่อให้บริษัทดำเนินกิจการต่อไปได้ สำหรับบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) การปรับปรุงโครงสร้างต้นทุนค่าใช้จ่ายมีดังนี้
- การตลาด สายผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทำกำไรและไม่สามารถปรับปรุงให้มีกำไรได้
- ลูกค้าขายส่งและลูกค้ารายย่อย
- ต้นทุนการผลิตและการจำหน่าย
ผู้บริหารอ้างว่าในวิกฤตเช่นนี้ บริษัทนับว่าโชคดีที่สถานะการเงินยังมั่นคง อย่าง ไรก็ตามเพื่อรักษาความมั่น คงของบริษัทจำเป็นต้องปรับโครงสร้างตามข้างบนเพื่อปรับปรุงจุดอ่อน สร้างประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันในด้านราคาและคุณภาพของสินค้า ได้ แต่ในหน่วยการขายและการตลาดของบ.บอดี้แฟชั่น ที่โรงงานเทพารักษ์ สมุทรปราการและโรงงานที่นครสวรรค์ ซึ่งจ้างงานรวมทั้งสิ้น 2,000 คนจะไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใดและยังคงดำเนินกิจการต่อไปตามปกติ
บริษัท จะจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายคุ้มครอง แรงงานบวกกับเงินเดือนอีกหนึ่งเดือน และจะเข้าร่วมโครงการจัดหางานให้แก่ผู้ตกงานของกระทรวงแรงงาน ซึ่งตอนนี้มีบริษัทชั้นนำต่างๆ เข้าร่วมโครงการแล้ว และจัดหาตำแหน่งว่างจำนวน 3,600 ตำแหน่ง
การกระทำของผู้บริหารดังกล่าวไม่เป็นที่ ยอมรับของพนักงานไทรอัมพ์และสหภาพแรงงาน ต่อไปเป็นการตอบโต้เหตุผลของบริษัท โดยสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ
การตอบโต้ของสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)
จาก ข่าวคุณวันเพ็ญ วงษ์สมบัติ ประธานสหภาพแรงงานกล่าวว่า หลังจากที่ผู้บริหารแจ้งเหตุผลถึงการเลิกจ้างพนักงาน ก็ได้แจกซองขาวให้ทุกคนซึ่งแจ้งการเลิกจ้างหรือไม่ก็ตำแหน่งงานใหม่ของ พนักงานพร้อมบัตรพนักงานใหม่ โดยระหว่างนั้นไม่ได้เปิดโอกาสให้พนักงานและ สหภาพแรงงานแสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามแต่อย่างใด
คน งานที่ถูกเลิกจ้างจะได้รับค่าชดเชยตาม กฎหมาย คนที่ถูกเลิกจ้างเป็นพนักงานผลิตชุดว่ายน้ำทั้งหมด เนื่องจากบริษัทจะยกเลิกสายการผลิตชุดว่ายน้ำในประเทศไทยให้สอดรับกับแผนการ ปรับโครงสร้างค่าใช้จ่าย แต่บริษัทไม่ได้อธิบายว่าทำไมต้องเลิกจ้างพนักงาน ที่ผลิตเสื้อชั้นในบางส่วน ประธานสหภาพตั้งข้อสังเกตว่าพนักงานผลิตเสื้อ ชั้นในที่ถูกเลิกจ้างนั้นเป็นสมาชิกสหภาพทั้งหมด ยกเว้นเธอและกรรมการอีก 2 คน
นอก จากนี้ยังสงสัยว่า การเลิกจ้างเป็นการล้มสหภาพแรงงานที่ดำเนินงานมาตั้งแต่อดีต ประธานสหภาพแรงงานไม่ได้รับคำตอบจากผู้บริหารเลย แม้ว่าจะสอบถามไปหลายครั้งแล้ว ซึ่งก็ตอบเพียงว่าไม่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้า แต่เมื่อขอให้เปิดเผยข้อมูลเอกสารเกี่ยวกับการดำเนินงานของผู้บริหาร ก็ถูกปฏิเสธ ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ผู้บริหารระงับการเลิกจ้างจนกว่าจะเปิดเผยเอกสาร เกี่ยวกับสถานะการเงิน ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจให้สหภาพแรงงาน แต่ทางผู้บริหารยืนยันว่า นโยบายการปรับลดค่าใช้จ่ายเป็นคำสั่งของสำนักงานใหญ่ในยุโรป ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้
นายจ้างจะจ่ายค่าชดเชยให้แก่คนงานที่มีอายุงาน 20-30 ปีจำนวนเพียง 100,000 กว่าบาท ซึ่งต่ำกว่าที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดด้วยซ้ำ แต่คนงานที่ทำงานมา 3-4 ปีจะได้รับค่าชดเชย 180,000-200,000 บาท ทำให้เกิดคำถามตามมาว่าใช้เกณฑ์อะไรในการคำนวณค่าชดเชย อีกทั้งยังไม่ได้แจ้งแก่พนักงานที่ถูกปลดว่าจะจ่ายค่าชดเชยให้เมื่อไรและที่ ไหน ซึ่งทำให้คนงานรู้สึกกังวลยิ่งขึ้น
คุณจิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ กล่าวว่าคนงานที่ยังคงอยู่ถูกสั่งไม่ให้มาทำงานตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย.ถึง 26 ส.ค. 52 แต่จะได้รับค่าจ้างตามปกติในช่วงดังกล่าว ในวันที่ 26 ส.ค. จะมีการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย และเพิ่มอีก 1 เดือน รวมถึงสิทธิลาพักร้อนด้วย สหภาพ แรงงานได้ยื่นจดหมายอย่างเป็นทางการขอให้มี การเปิดเผยเอกสารที่เกี่ยวข้องกับผลกำไรและต้นทุนการผลิต ในฐานะที่พนักงานมีสิทธิที่จะขอได้ตามจรรยาบรรณทางการค้าของ OECD
คุณจิตรา คชเดช เชื่อว่าบริษัทไม่ได้ขาดทุนตามที่อ้างไว้เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. แต่การเลิกจ้างแท้จริงแล้วเป็นการล้มสหภาพแรงงานและปลดคนงานที่มีอายุงานสูง และค่าจ้างสูง
คน งานปฏิเสธการเลิกจ้างและรับค่าชดเชย และกำลังพยายามที่จะเจรจาต่อรองกับผู้บริหารโดยเรียกร้องที่จะขอกลับเข้าไป ทำงานตามเดิมและให้มีการสมัครใจลาออก แต่บริษัทปฏิเสธข้อเรียกร้องนี้ จึง ต้องทำการกดดันบริษัท เช่น ประท้วงคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนที่อนุมัติเงินทุนให้บริษัทไปขยายกิจการ ที่โรงงานสาขานครสวรรค์เป็นเงิน 75.5 ล้านบาท
สรุปการเลิกจ้างคนงานเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์
สำหรับ กรณีนี้แตกต่างจากคนงานไทรอัมพ์เพราะสภาพการณ์เลวร้ายกว่าคือ ไม่มีสหภาพแรงงาน สภาพการจ้างงานแย่กว่า ไม่มีการบอกกล่าวล่วงหน้า ไม่ได้รับค่าชดเชย นายจ้างค้างจ่ายเงินเดือนพนักงานรายเดือนและปิดกิจการ
พนักงาน บริษัทเวิลด์เวลล์การ์เมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทรับเหมาผลิตสินค้าให้ยี่ห้อดังเช่น ดิสนีย์ ไทรอัมพ์ จากบริษัทตัวแทนเช่น วี.เอฟ. บอดีแฟชั่น จำนวน 41 คนถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมเนื่องจากนายจ้างไม่บอกล่วงหน้า นายกิจจา จรุงผลพิพัฒน์ เจ้าของบริษัทได้ปิด กิจการ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2552 โดยอ้างว่าขาดทุน ไม่มีออเดอร์ (order) เข้ามา พนักงานรายเดือนและรายวันไม่ได้รับเงินค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเวลา 2 เดือนคือ เดือนมีนาคมและเมษายน อีกทั้งค่าชดเชยตามกฎหมายด้วย
หลังจากที่ต่อสู้มาได้ 3 สัปดาห์ นายจ้างยอมจ่ายค่าจ้างค้างจ่ายแก่พนักงานรายวันเท่านั้น รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 70,000 บาท ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2552 จากจำนวนทั้งหมดที่ต้องจ่ายแก่ทุกคนประมาณ 2,400,000 บาท ทำให้ต้องมีการกดดันต่อไป โดยชุมนุมอยู่หน้าโรงงานทุกวัน นายจ้างพยายามหลายครั้งที่จะขนย้ายเครื่องจักรเย็บผ้าและทรัพย์สินมีค่า อื่นๆ จากอาคารบริษัท ซึ่งแสดงให้เห็นชัดว่านายจ้างพยายามจะปกปิดทรัพย์สินที่เหลือของบริษัทแม้ ว่าจะประกาศไปแล้วว่าล้มละลาย ทั้งยังโกงค่าชดเชยที่ต้องจ่ายตามก.ม. ในช่วงที่คนงานเวิลด์เวลล์ตั้งเต็นท์ หน้าโรงงาน ก็ได้สมัครเข้าโครงการต้นกล้าอาชีพของรัฐบาลด้วย
ขณะนี้ คนงานมีข้อเรียกร้องให้นายจ้างจ่ายเงินเดือนค้างจ่ายแก่พนักงานรายเดือนจำนวน 8 คน รวมถึงค่าชดเชยตามก.ม.ของคนงาน 41 คน และค่าไม่บอกกล่าวล่วงหน้า นาย จ้างยังคงลอยนวล ไม่ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายแต่อย่างใด แม้ว่าจะได้มีการร้องเรียนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน แรงงานจังหวัดสมุทรสาครไปแล้ว
นอกจากนี้คนงานต้องการให้รัฐช่วยเหลือโดยจ่ายค่าชดเชยให้ 60 วัน จากกองทุนสงเคราะห์คนงาน เรียกร้องความยุติธรรมจากนายจ้างซึ่งคนงานได้ทำงานให้เป็นเวลาหลายปี ทำงานล่วงเวลาบ่อยครั้งเพื่อให้ได้รับรายได้มากขึ้นและข้อเรียกร้องของตัว เอง แม้ว่าจะได้รับเงินเบี้ยขยันเพียงเล็กน้อย ค่าฝีมือและรางวัลการผลิตเพิ่มขึ้น แต่คนงานทั้งหมดทำงานหนักกินค่าจ้างขั้นต่ำ ที่นายจ้างไม่เคยขึ้นให้เลยในขณะที่ตั้งเป้าการผลิตมากขึ้นเรื่อยๆ
เป็นเวลาถึงสองเดือนที่อดีตคนงานเวิลด์เวลล์ได้ต่อสู้เรียกร้อง แม้จะยังไม่ได้รับอะไรจากนายจ้าง นอกเสียจากค่าชดเชย 60 วันจากกองทุนของกระทรวงแรงงานไม่นานมานี้ และยังคงปักหลักต่อสู้หน้าโรงงาน
ไทร อัมพ์ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศสวิสเซอร์แลนด์และเยอรมนีเกี่ยวข้องกับบริษัทบอดี แฟชั่นประเทศไทย ซึ่งเป็น สาขาย่อยและบอดีแฟชั่นเกี่ยวพันกับเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ในฐานะที่เป็นโรง งานเหมาช่วงผลิตอีกต่อหนึ่ง รวมไปถึงคนงานชาวพม่าที่อ.แม่สอด จ.ตาก ภาคเหนือของประเทศก็สัมพันธ์กับเวิลด์เวลล์ในฐานะที่รับงานเหมาช่วงมาอีกทอด ซึ่งกินค่าแรงต่ำที่สุดและผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า “ไทรอัมพ์” ด้วย
กระบวนการผลิตและสภาพการจ้าง
เริ่มจากบ.บอดี้แฟชั่น (BFT) ซึ่ง เป็น โรงงานของไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลและเอเย่นของบ.เวิลด์เวลล์ ตามที่เราทราบมาว่าไทรอัมพ์ต้องการแสวงหากำไรสูงสูดด้วยการผลิตสินค้าของตัว เองในประเทศที่กำลังพัฒนาเช่น ไทย ฟิลิปปินส์ เป็นต้น เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีนโยบายค่าแรงราคาถูกและสนับสนุนการลงทุนของชาว ต่างประเทศ
ป้าช่อทิพย์คนงานที่ถูกเลิกจ้างทำงานมานานถึง 25 ปีเล่าว่า BFT ในช่วงเริ่มต้นนั้นตั้งอยู่ที่ถนนสีลม กรุงเทพฯ คุณป้าทำงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 ตอนที่ยังอยู่สีลม แต่ขณะนี้อายุ 51 ปีแล้ว
สมัยนั้นมีคนงานประมาณ 700-800 คนผลิตกางเกงใน เสื้อชั้นใน ชุดนอนไทรอัมพ์ ส่วนของคุณป้าผลิตเสื้อชั้นใน หลังจากทำงานมา 5 ปี ก็มีการตั้งแผนกผลิตชุดว่ายน้ำใหม่ รับคนงานเพิ่มอีก 300-400 คน และอีก 2 ปี ถัดมาบริษัทย้ายมาอยู่แถวจังหวัดสมุทรปราการ เช่าโกดังแห่งหนึ่ง และสุดท้ายย้ายมาอำเภอบางพลีตรงนี้ หน่วยการผลิตทุกอย่างถูกย้ายมาที่นี่ทั้งหมด เนื่องจากบริษัทเติบโตมากขึ้นมีคนงานมากขึ้น และสาสมารถขยายกิจการตั้งโรงงานใหม่ที่จังหวัดนครสวรรค์มาได้ 5 ปีแล้ว ซึ่งตอนนี้จ้างคนงานประมาณ 1,000 คนด้วยค่าแรงขั้นต่ำ
โรงงานที่บางพลีมีขนาดใหญ่พอควรเพราะมีจำนวนคนงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลิตกางเกงใน เสื้อใน ชุดว่ายน้ำ ดังนี้
1. ชั้น 3 ของอาคาร เป็นแผนกเสื้อชั้นใน คุณวราภรณ์ คนงานเย็บเสื้อชั้นใน ทำงานมาได้ 2 ปีครึ่งอธิบายว่า เธออยู่ในไลน์การผลิตที่ 5 จากทั้งหมด 30 ไลน์ คือไลน์ 1-30 แต่ละไลน์มีคนงานจำนวน 47 คน รวมหัวหน้าระดับต่างๆ เช่น ซุเปอร์ไวเซอร์ ซีเนียร์ คอนแวร์ เป็นต้น ซึ่งมีอยู่ประมาณ 100 กว่าคน รวมทั้งสิ้นประมาณ 1,800 คน
2. ชั้นที่ 2 ของอาคารเป็นแผนกผลิตชุดว่ายน้ำ กางเกงในและเสื้อชั้นใน คือ ไลน์ที่ 31-43 เป็นแผนกชุดว่ายน้ำ และจากไลน์ที่ 44-57 เป็นแผนกกางเกงในและเสื้อชั้นใน มีคนงานประมาณ 1,600 คน
3. ชั้นที่ 1 เป็นสโตร์ แผนกตัด วัตถุดิบ เป็นต้น
และยังมีพนักงานอ๊อฟฟิสอีกประมาณ 100 กว่าคน
คุณวราภรณ์อายุ 31 ปีและกำลังตั้งครรภ์ 3 เดือน ถูกเลิกจ้างร่วมกับเพื่อนร่วมงานในไลน์ตัวเองอีก 30 คน คงเหลือเพียง 17 คน เธอ ได้วางแผนชีวิตของลูกไว้แล้วตามรายได้ที่เธอได้รับปัจจุบัน แต่แผนของเธอก็ต้องมลายไปอย่างไม่ได้คาดคิดมาก่อน ตอนนี้จึงต้องอาศัยรายได้ของสามีซึ่งได้ค่าจ้างต่ำกว่าเธอ
เธอ ได้อธิบายว่าถึงวิธีการทำงานของเธอ ว่า ต้องใช้เครื่องจักรเย็บผ้าไฟฟ้าเพื่อใช้เย็บเสื้อชั้นใน ยิ่งเสื้อชั้นในมีหลากหลายสไตล์ก็ยิ่งเย็บยาก ใช้ทักษะและเวลามากขึ้นกว่าจะเสร็จในขั้นตอนเดียว เพราะการเย็บเสื้อชั้นใน ต้องใช้ขั้นตอนถึง 40-50 ขั้นตอน หรือส่วนต่างๆ ของเสื้อ เช่น ทรง โค้ง คอ ยางยืด รักแร้ เป็นต้น พนักงานแต่ละคนจะเย็บเพียงขั้นตอน/ส่วนๆ หนึ่งของเสื้อชั้นใน
หัวหน้าซุปของเธอจะกำหนดเป้าการผลิตให้พนักงานทุกคนต้องทำให้ลุล่วง เช่น 800 ชิ้นต่อวัน หรืออย่างมากที่สุดคือ 1,200 ชิ้น เธอซึ่งกำลังตั้งครรภ์ ถูกกำหนดให้ทำงาน 480 นาทีหรือ 8 ชั่วโมงต่อวัน ถ้าเธอสามารถเย็บเสื้อชั้นในเป็นจำนวนมากภายในเวลาที่กำหนด อาจจะได้รับเงินเพิ่มจากค่าแรงรายวัน คือ 333 บาท ดังนั้นเธอต้องคำนวณว่าภายในเวลา 480 นาทีเธอจะเย็บได้มากที่สุดกี่ชิ้น หรือกี่กล่อง เราพบว่าเธอสามารถเย็บ 40 ชิ้นภายใน 30 นาที ดังนั้นเธอจะสามารถเย็บได้มากที่สุด 600 ชิ้น หรือเท่ากับ 15 กล่อง ต่อวัน ซึ่งยังต้องขึ้นอยู่กับความยากง่ายของสไตล์ของเสื้อชั้นในเพราะเป็นงาน แฟชั่น ถ้าผลิตเกินที่กำหนดในส่วนของเธอ จะได้รับค่าแรงเพิ่ม วิธีการทำงานแบบนี้ต้องแข่งขันกับตัวเองมาก
ในความเป็นจริงค่าแรงของเธอ 333 บาท หรือประมาณ 10,000 บาท /เดือน นายจ้างได้ขึ้นค่าแรงเป็น 355 บาทเมื่อไม่กี่วันมานี้ วีคหนึ่งเธอจะได้โดยเฉลี่ย 5,000 บาท แต่ถ้าเธอสามารถเร่งการผลิตได้ 15 กล่องต่อวัน เธอจะได้ค่าแรงเหมาช่วงเพิ่มขึ้นเป็น 7,000 บาทต่อวีค เธอบอกอีกว่า คนงานบางคนสามารถเย็บเสื้อชั้นในถึง 16 กล่องหรือเท่ากับ 640 ชิ้น ซึ่งจะต้องทำงานอย่างเร่งด่วนและเข้มข้นเพื่อให้ได้ค่าแรงเกิน 355 บาท เราเรียกว่าการทำงานเหมาช่วงเพิ่มจากค่าแรงรายวันที่ได้รับอยู่แล้ว
นอกจากค่าแรงแล้วยังได้รับค่าครองชีพเป็นรายเดือนๆ ละ 900 บาท ค่าเบี้ยขยัน 450 บาทต่อวัน โบนัสประจำปี 1 เดือน ตามเงินเดือนของตัวเอง มีบัตรประกันสังคม และถ้าเธอคลอดบุตรจะได้รับสิทธิตามกฎหมาย คือ ได้รับค่าเลี้ยงบุตรเหมาจ่ายจากประกันสังคม 12,000 บาท
คนงานทำงานตั้งแต่ 8.00—17.00 น. พักทานอาหาร 1 ช.ม. ถ้ามีงานล่วงเวลา 2.30 ช.ม. จะได้รับค่าล่วงเวลาเพิ่มอีกประมาณ 172 บาท
นาย จ้างดำเนินนโยบายการผลิตในลักษณะเหมาช่วงและงานล่วงเวลาเช่นนี้มาตั้งแต่ก่อ ตั้งแล้วเพื่อเพิ่มกำไรสูงสุด โรงงานสาขานครสวรรค์ คนงานได้รับค่าแรงต่ำกว่าที่บางพลี คือตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันประมาณวันละ 200 บาท
ผู้ประกอบการรับเหมาช่วงจากไทรอัมพ์
BFT กระจาย ออเดอร์ไปตามโรงงานเหมา ช่วง เช่น บ.เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ จำกัด ที่จังหวัดสมุทรสาคร โรงงานที่ อ.กันทรลักษณ์ จ.อุบลราชธานี โรงงานที่ซอยแบริ่ง ถ.สุขมวิท กรุงเทพฯ พระประแดง จ.สมุทรปราการ ผลิตชุดชั้นในภายในเครื่องหมายการค้า “ไทรอัมพ์” ซึ่งโรงงานรับเหมาช่วง (ยังไม่สามารถระบุชื่อ) จ้างพนักงานตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ วันละ 203 บาท
บ. เวิลด์เวลล์เป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากกำลังอยู่ในความดูแลของโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย อดีตพนักงานเล่าว่าผลิตเสื้อผ้าให้บ.บอดี้แฟชั่น ตั้งแต่ปลายปี 2550 จนถึงเดือนเมษายน 2552 ก่อนที่บริษัทจะประกาศยกเลิกกิจการวันที่ 1 พ.ค. 52
บ. เวิลด์เวลล์การ์เม้นไม่ใช่แค่ผู้รับเหมาช่วงของไทรอัมพ์เท่านั้น แต่ยังผลิตให้สินค้ายี่ห้อดังอื่นๆ เช่น ดิสนีย์ สคูล เป็นต้น เปิดกิจการเมื่อปี พ.ศ.2537 ด้วยทุนจดทะเบียนปัจจุบัน 25 ล้านบาท ตั้งอยู่เลขที่ 14 หมู่ 7 ถนน เศรษฐกิจ ต.นาดี อ.เมือง จ.สมุทรสาคร บริหารงานโดย นาย กิจจา จรุงผลพิพัฒน์ เป็น บริษัทลูกของบริษัทเวลิ์ดคัพอินดัสตรี่จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่110/3-4 ถ.เอกชัย เขตบางบอน กรุงเทพฯ และยังมีบริษัทลูกอีก 4 บริษัท ได้แก่ 1.บริษัทเอเซียเวิลด์บรา จำกัด อยู่ที่ ถนนสุขสวัสดิ์ซอย 11 บางประกอก ราษฎร์บูรณะ กรุงเทพ ฯ 2.บริษัทไทยเวิลค์อิลาสติค จำกัด อยู่ที่110/3-4 ถ.เอกชัย แขวงบางบอน กรุงเทพฯ 3.บริษัท ทรัพย์อรุณ จำกัด(อาคารพานิชย์) อยู่หน้าบริษัทเวิลด์ เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด 4.บริษัทธนาคม (ทำตลาด) อยู่ที่บางแค บริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด
แรกเริ่มมีพนักงานประมาณ 500 คน มีเครื่องจักรอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ทันสมัยจำนวน 60 เครื่องๆ ละประมาณ 2 ล้านกว่าบาท แบ่งสายการผลิตทั้งหมด 6 line คือ line A-F ตามลำดับ
ลักษณะการรับงานของลูกค้า บริษัทรับออเดอร์จากยี่ห้อดังจากต่างประเทศ ผ่านตัวแทนในประเทศไทย เช่น
- ปี พ.ศ. 2546 รับผลิตเสื้อของยี่ห้อดิสนีย์
- ปี พ.ศ.2547-2549 ผลิต ออเดอร์ของลูกค้าบริษัทตัวแทนในประเทศไทย คือ วีเอฟ จำนวนหลายยี่ห้อ เช่น ฮาเล่ย์เดวิดสัน เครีน รีบ็อค แอนติกัว ซึ่งแต่ละยี่ห้อ สั่งผลิตเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) กันอย่างต่อเนื่อง และมากจนกระทั่งบริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เมนท์ ได้ส่งงานจำนวนหนึ่งไปให้โรงงานเหมาช่วง (Sub-contract) ทำที่อำเภอแม่สอด ได้แก่ บริษัทเสียงไถ่, ทรัพย์มั่นคง ,ฟูลี่ไทร์, อรุณชัยเท็กซ์ไทน์, เอ.ที.การ์เม้นท์
- ปี พ.ศ.2550 ผลิตยี่ห้อสคูล, คารีน่า, จ็อกกี้, สโนว์แอนด์ซัน, เอสแฟร์ พนักงานทำงานโอทีเป็นบางช่วง เพราะบริษัทเริ่มส่งเสื้อผ้าให้โรงงานเหมาช่วงทำเป็นจำนวนมาก
- ปี พ.ศ.2551 ผลิตยี่ห้อไทรอัมพ์, สคูล, แอฟพาเรีย, แดเนียล, แอลแอลบีน, มามอท, แต่บริษัทได้ลดโอทีของพนักงานทั้งหมด เนื่องจากบริษัทส่งออเดอร์ไปตามโรงงานเหมาช่วงเกือบทั้งหมดจนถึงปี พ.ศ.2552 ให้คนงานพม่าทำด้วยค่าแรงราคาถูก
บริษัทเริ่มลดคนงานในช่วงระยะ 5 ปีที่ผ่านมา บวกกับคนงานทยอยลาออกโดยสมัครใจเป็นจำนวนมาก เพราะรายได้น้อยมาก ไม่มีโอที และสวัสดิการเทียบเท่าโรงงานใกล้เคียง จากทั้งหมดที่มี 500 คนเหลือ 300 คน จนล่าสุดเหลือเพียง 41 คน ทำงานกับเครื่องจักร 30 กว่าเครื่อง ที่เหลือวางชิดมุมห้อง
บริษัทเวิลด์เวลล์ การ์เม้นท์ จำกัด มีพนักงานทั้งหมด 41 คน เป็นหญิง 36 คน เป็นชาย 5 คน พนักงานส่วนใหญ่อายุมาก มีอายุการทำงาน10-15 ปี จำนวน 8 คน อายุการทำงาน 5-10 ปี จำนวน 4 คน อายุการทำงาน1-4 ปี จำนวน 19 คน จากจำนวน 41 คน มีพนักงานรายเดือนทั้งหมด 10 คนอายุงาน11-15 ปี จำนวน 4 คน ส่วน 6 คน อายุงาน 3-4 ปี ที่เหลือเป็นพนักงานรายวัน
ทั้ง คนงานรายวันและรายเดือนทำงานอย่างหนักเพื่อสร้างผลกำไร และออเดอร์ต่อเนื่องให้บริษัท คนงานแผนกคิวซีเล่าว่า บริษัทได้ผลกำไรตอบแทนจำนวนมากแต่กลับไม่ขึ้นค่าจ้างให้คนงาน เช่น คนงานได้รับค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 203 บาท แต่สินค้าที่ผลิตแล้วถูกตีราคาชิ้นละประมาณ 700 บาท ส่งให้เอเย่นในเมืองไทย สินค้าของไทรอัมพ์นั้นชิ้นละ 1,950 หรือบางตัว 1,600 บาท
2-3 ปี ที่ผ่านมา ไทรอัมพ์ส่งออเดอร์มาให้เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ นายจ้างจึงสั่งให้คนงานเร่งทำล่วงเวลา แต่เมื่อเขาปลดคนงานทั้งหมดออกและปิดโรงงานในวันที่ 1 พ.ค. โดยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชย ค่าจ้างค้างจ่าย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้าแต่อย่างใด ก่อนหน้านี้ยังลดเงินเดือนพนักงานรายเดือน 20%-25% ของเงินเดือน
นายจ้างมีนโยบายให้แต่ละไลน์ทำงานแบบเหมาช่วงในช่วงปี 2548 เพื่อให้ได้กำไรสูงสุด จำนวนผลผลิตมากขึ้น ใช้ระบบแข่งขันกันทำยอดการผลิต คือ หากสามารถทำยอดได้เกิน 200 ตัว ทุกคนจะได้เงินรางวัลผลผลิต เบี้ยขยัน ค่าฝีมือสำหรับคนที่เย็บในตำแหน่งที่ยาก-ง่ายตามลำดับ ดังนั้น หากทำยอดเกินจะได้รับรายได้คนละประมาณ 100-300/วีค ด้วยนโยบายดังกล่าว กดดันให้คนงานลาออกเป็นจำนวนมาก
คน งานเวิลด์เวลล์ต้องกินค่าจ้างขั้นต่ำและสวัสดิการน้อยนิดมานานแล้ว นายจ้างพวกเขาไม่เคยปรับค่าแรงให้เอง ต้องให้เป็นไปตามประกาศการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งเพิ่มให้น้อยมาก ในอดีตคนงานทำงานได้ค่าแรงวันละ 100 บาทจนมาบัดนี้ค่าแรง 203บาท ทั้งยังให้ค่าเบี้ยขยัน ค่าฝีมือ รางวัลเพิ่มเล็กน้อย แต่ไม่มีโบนัสเลย ส่วนค่าล่วงเวลาให้ 1.5 เท่าของค่าแรงรายวัน
ผลกระทบของการเลิกจ้างต่อสังคมไทย
คน งานจำนวนมากเป็นคนอายุมาก และเป็นผู้หญิง บางส่วนตั้งครรภ์ ป่วย ขาดโอกาสที่จะได้งานใหม่ เมื่อถูกเลิกจ้างจึงตกอยู่ในสถานะลำบาก เช่น ต้องกู้เงินนอกระบบ ใช้เงินออมที่มีเพียงจำนวนน้อย ใช้หนี้สิน กลับไปอยู่บ้านนอก เป็นต้น ดังจะเห็นจากกรณีตัวอย่างนี้
· ป้าช่อทิพย์ คนงานไทรอัมพ์ต้องเลี้ยงดูลูก 2 คน เป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก ลูกๆ กำลังเรียนอยู่ คือ คนเล็กอายุ 12 ขวบ คนโตอายุ 17 ปี ทั้งยังมีหนี้สินอยู่ด้วย หากสหภาพแรงงานไม่สามารถต่อรองค่าชดเชยกับนายจ้าง เงินสะสมของเธอก็จะต้องถูกใช้ไปจนหมดในไม่ช้านี้แน่ ทั้งไม่สามารถจะหางานใหม่ทำได้เพราะอายุมาก และลูกๆ ก็จะได้รับความเดือดร้อน นายจ้างเสนอค่าชดเชยให้ 130,000 บาทซึ่งต่ำกว่าที่ควรจะเป็น
· คุณวราภรณ์กำลังตั้งครรภ์อายุ 31 ปี ถูกเลิกจ้าง และจะได้รับค่าชดเชย 50,000 บาทซึ่ง ไม่พอกับค่าเลี้ยงดูบุตรของเธอ ที่เธอได้วางแผนไว้แล้ว และถูกทำลายลง ตอนนี้เธอต้องพึ่งพิงสามีที่ทำงานมีรายได้เดือนละ 6,500 บาท ช่วงนี้เธอไม่สามารถออกไปหางานทำได้เพราะตั้งครรภ์ ไม่มีใครอยากรับเข้าทำงาน ถ้าไม่ได้ค่าชดเชยเพิ่มขึ้นหรือกลับเข้าไปทำงาน เธออาจจะต้องกลับบ้านนอกไปอยู่กับพ่อแม่ ซึ่งทำไร่ทำนาที่จ.ศรีสะเกษ นอกจากนี้นายจ้างยังปลดคนงานที่กำลังตั้งครรภ์อีกหลายสิบคนด้วย
· ป้า สมพร คนงานเย็บผ้าคนหนึ่ง อายุ 51 ปี เริ่มทำงานที่บริษัทเวิลด์เวลการ์เมนท์เมื่อปีพ.ศ.2536 ตอนอายุได้ 35 ปี ไม่เคยเปลี่ยนงาน มีหน้าที่เย็บผ้าส่งออก ก่อนถูกเลิกจ้างได้ค่าแรงประมาณเดือนละ 8,000 บาท แต่ต้องทำงานล่วงเวลาด้วย แต่มาระยะหลังไม่ค่อยมีออเดอร์ได้ค่าแรง 5,000 บาทต่อเดือน
ป้าสมพรมีลูกสาว 2 คน คนโตอายุ 23 ปี กำลังทำงาน คนเล็กอายุ 18 ปี กำลังเรียนปริญญาตรี ป้าสมพรต้องรับผิดชอบการเรียนของลูกด้วย ตอนนี้อยู่ที่สมุทรสาครเพียงลำพังและต้องจ่ายค่าเช่าบ้านซึ่งเมื่อก่อนไม่ ต้องจ่ายเพราะอยู่หอพักของบริษัท ส่วนลูกๆ อยู่กับพ่อ ที่จังหวัดเชียงรายซึ่งมีอาชีพทำนาทำไร่
หลัง จากถูกเลิกจ้าง คุณป้าคนนี้ต้องนำเอาเงินออมที่เหลือมาใช้จ่ายประจำวันซึ่งใกล้จะหมดแล้ว ตอนนี้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นคือ ค่าเช่าบ้านเดือนละ 1,500 บาทของ ค่าอาหารวันละประมาณ 100 บาท ค่าเดินทางวันละ 20 บาทเพื่อมาชุมนุมหน้าโรงงานตั้งแต่วันที่ 3 พฤษภาคม 2552
· คุณ วรรณภา อายุ 35 ปี ให้สัมภาษณ์ว่า ทำงานที่บริษัทเวิลด์เวลล์แห่งนี้เป็นเวลา 5 ปี 6 เดือนแล้ว ก่อนเลิกจ้างมีรายได้วีคละ 3,000 บาท ไม่ได้รับค่ารางวัลผลผลิต ค่าเบี้ยขยัน เพราะเป็นตำแหน่งตรวจสอบคุณภาพ ต้องรับภาระเลี้ยงดูลูก 2 คน ซึ่งกำลังเรียนม. 4 และป.2 ดูแลพ่อและแม่ของตัวเอง อาศัยบ้านของพ่อแม่ ไม่ต้องเช่า วันหนึ่งต้องใช้จ่ายวันละ 150-180 บาท เมื่อถูกโกงค่าแรง ค่าชดเชย ทำให้ไม่สามารถหาเงินมาเป็นค่าเทอมของลูกๆ จึงต้องกู้ยืมเงินนอกระบบเป็นจำนวนหลักหมื่น ดังนั้นจึงได้ไปสมัครงานใหม่ทำ
ยัง มีคนงานหญิงอีกจำนวนมากและครอบครัว ของพวกเขาที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างครั้งนี้ แต่เราสามารถจินตนาการได้ว่าพวกเขาจะอยู่อย่างไรหากไม่มีงานทำ กำลังแรงงานนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของพลังสังคมทั้งหมด ที่รวมถึงคนงานข้ามชาติในประเทศไทยด้วย พวกเขาทำงานแบบรวมหมู่เพื่อสร้างมูลค่าส่วนเกินและความมั่งคั่งให้ผู้ประกอบ การเอกชน แต่กลับมีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ โดยเฉพาะแรงงานชาวพม่าที่ไม่มี เสรีภาพและสิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครองในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ซ้ำรายยังเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ด้วย
ส่วน รัฐบาลนั้นเข้าข้างฝ่ายนายทุนเสมอ เวลาที่คนงานมีปัญหาข้อพิพาทกับนายจ้าง คนงานได้เรียนรู้ว่าตนเองไม่ได้รับความยุติธรรม เช่น กระบวนการยุติธรรมล่าช้า ไม่มีการลงโทษนายจ้างที่เลิกจ้างผิดกฎหมาย ไม่ได้รับค่าชดเชยอย่างที่ควรจะเป็น คนงานไทรอัมพ์และเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ยังคงต่อสู้ปักหลักที่หน้าโรงงานต่อ ไปจนกว่าข้อเรียกร้องของตนเองจะได้รับการตอบสนอง