Google
 

วันพฤหัสบดีที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

สหภาพแรงงานตะวันออก ค้านการจัดระเบียบการชุมนุมและร้องสิทธิคนงานไทรอัมพ์

Thu, 2008-08-14 06:20


เมื่อวันที่ 13 ส.ค. สหภาพแรงงานภาคตะวันออกออกแถลงการณ์คัดค้านการจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ....และเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงานกรณีเลิกจ้างแกนนำสหภาพแรงงานไทรอั๊มพ์ฯ และแกนนำสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ จำนวน 21 คน โดยมีเนื้อความดังนี้












เรียน เพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงาน, ประชาชนและสื่อมวลชนที่รักทุกท่าน





กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เป็นองค์กรที่เป็นการรวมกลุ่มกันของสหภาพแรงงานในเขตพื้นที่ภาคตะวันออก ได้มีการรวมตัวกันมาเป็นเวลามากกว่า 32 ปี มีสมาชิกเป็นผู้ใช้แรงงานมากกว่าสี่หมื่นคนโดยที่กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองผลประโยชน์ของลูกจ้าง และเป็นศูนย์กลางข้อมูลข่าวสารรวมถึงให้การศึกษาด้านการบริหารงานขององค์กรของผู้ใช้แรงงาน เพื่อช่วยเหลือเพื่อนพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับความเดือดร้อนและสังคม





ท่ามกลางกระแสการเมืองที่ครุกรุ่นไปด้วยปัญหาต่างๆ ยุ่งยากซับซ้อนยากต่อการแก้ไข ในขณะเดียวกันได้มีผู้แทนราษฎรจำนวน ๒๕ คน จากพรรคพลังประชาชนได้เสนอ ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ..... โดยร่างฯ ดังกล่าวมีทั้งสิ้น ๒๐ มาตรา เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณา และให้มีผลบังคับใช้เมื่อพ้น ๓๐ วันนับแต่วันประกาศในราชกิจานุเบกษา การชุมนุมของพี่น้องคนจนที่ผ่านมาได้ปฎิบัติตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ และสิทธิอันพึงมี ที่นานาอารยประเทศปฏิบัติกัน เพราะการชุมนุม เป็นสิทธิอันพึงมีของประชาชนที่จะเสนอให้มีการแก้ไขในรูปแบบต่างได้ ถ้าร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ..... ผ่านการพิจารณาออกมาเป็นกฎหมาย จะเป็นการลิดลอนสิทธิ์ของปวงชนชาวไทยเป็นอย่างมาก ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา ๒๖-๒๙ สถานการณ์โลกในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า เรื่องของสิทธิของประชาชนเป็นเรื่องใหญ่ และการใช้สิทธิในการชุมนุม เรียกร้อง หรือแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งของประชาชนโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นรูปแบบหนึ่งของขบวนการภาคประชาสังคม ที่นานาอารยะประเทศให้การยอมรับ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วและมีการเคารพสิทธิมนุษยชนที่สูงนั้น การออกกฎหมายในการจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะนั้น จะเน้นการให้อำนวยความสะดวกในการชุมนุมโดยให้รัฐให้ความคุ้มครองผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมให้เกิดความปลอดภัย มิใช่เป็นการขัดขวาง หรือริดรอนสิทธิ์ในการชุมนุมประเทศไทยรูปแบบในการชุมนุมเรียกร้องและการแสดงออกเหล่านั้นเป็นสิ่งสำคัญเนื่องจากการชุมนุมของผู้ขาดโอกาสและการชุมนุมของผู้ใช้แรงงาน เป็นกลไกอย่างหนึ่งของการดำเนินกิจกรรมขององค์กรผู้ใช้แรงงานเพื่อเรียกร้องให้มีการแก้ไขปัญหาอีกบทบาทหนึ่งที่สังคมให้การยอมรับมาอย่างยาวนาน





ดังนั้น กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก จึงขอให้รัฐบาลถอนร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ..... ออกจากวาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎรโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข





เหตุการณ์เลิกจ้างประธานสหภาพแรงงานไทรอั๊มพ์ เมื่อวันที่ ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๑ และนำไปสู่การผละงานของสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอั๊มพ์กว่าสามพันคน





เหตุการณ์เลิกจ้างกรรมการและแกนนำสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ จำนวน ๒๑ คน ของบริษัทโฮยา กลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๑





นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างจากเหตุการณ์จริงที่ถูกสื่อออกมาให้สาธารณะชนได้รับรู้ มีอีกจำนวนไม่น้อยที่ยังถูกข่มขู่กดขี่และเอาเปรียบ โดยไม่มีใครเหลียวแล เขาเหล่านี้มีความผิดอะไร เขาไม่ใช่อาชญากร เขาไม่เคยแม้แต่คิดจะทำร้ายใครไม่ว่าจะเป็นนายจ้างหรือเพื่อนร่วมงาน เขาเหล่านี้หวังเพียงเพื่อต้องการมีและรักษาองค์กรสหภาพแรงงาน ซึ่งเป็นองค์กรของผู้ใช้แรงงานอย่างแท้จริงที่รัฐให้การรับรองว่าสามารถมีได้ตามรัฐธรรมนูญให้การรับรองไว้ วันนี้กำลังเกิดอะไรขึ้นกับขบวนการทางกฎหมายแรงงานของไทย กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออกอยากทราบถึงความรู้สึกของผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และนายสมัคร สุนทรเวช และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในฐานะท่านเป็นผู้รักษากฎหมายท่านรู้สึกอย่างไรเมื่อเห็นภาพที่กรรมการสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ถูกกระทำ การกระทำเยื่องอันทพาลของนายจ้างโดยไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายเสมือนว่าเขาคือ "ผู้ที่อยู่เหนือกกหมายหรือบัญญัติกฎหมายไว้ใช้เอง" อย่างนี้หรือเปล่าที่เขาเรียกว่า "ทุนสามานย์"





ดังนั้น กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกัน จึงเรียนมายัง รัฐบาลและรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ,บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโฮยา กลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมกับพนักงานและสมาชิกสหภาพแรงงานฯทุกคน และขอให้บริษัทฯ หาข้อยุติการละเมิดสิทธิแรงงานโดยด่วน





จากปัญหาต่างการเลิกจ้างสมาชิกและแกนนำสหภาพแรงงานฯ ที่กล่าวมาข้างต้น แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่านายจ้างมีเจตนาที่จะละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพนักงานในการรวมตัวกันเป็นสหภาพแรงงานฯ ซึ่งเป็นสิทธิ์ของลูกจ้างที่สามารถกระทำได้ ตามความมาตรา 77 และมาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 ซึ่งสอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่ให้ผู้ใช้แรงงานมีสิทธิ์ในการก่อตั้งสหภาพแรงงานและเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน และอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ อนุสัญญาหลักฉบับที่ 87 และ 98 ในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวและการเจรจาต่อรองร่วม การที่บริษัทฯ เลิกจ้างลูกจ้างในกรณีดังกล่าวนี้ จึงเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 นอกจากนั้นการเลิกจ้างดังกล่าวยังขัดต่อมาตรา 20,121,122,123 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518





และยังเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 45 เรื่อง บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมาโดยวิธีอื่นฯ





มาตรา 63 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ฯ





มาตรา 64 เรื่อง บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการรวมตัวกันเป็นสมาคม สหภาพ สหพันธ์ สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร องค์การเอกชน องค์การพัฒนาเอกชน หรือหมู่คณะอื่นฯ





เพื่อความเป็นธรรมต่อขบวนการแรงงานและขบวนการภาคประชาชนโดยรวม และเพื่อประโยชน์แก่องค์กรของลูกจ้างที่จัดตั้งมาเพื่อประโยชน์ของลูกจ้าง ทุกคนมีสิทธิ์เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานและรวมตัวเพื่อเจรจาต่อรองร่วม จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาล ,บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโฮยา กลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ดำเนินการดังต่อไปนี้





1. ให้รัฐบาล ยกเลิกการเสนอร่างพระราชบัญญัติ การจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ........


2. ห้ามมิให้บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโฮยา กลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดขวางการดำเนินงานของสหภาพแรงงานฯ ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม


3. ห้ามมิให้บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโฮยา กลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด ขัดขวางการดำเนินการโดยการกลั่นแกล้งการลงโทษหรือเลิกจ้างลูกจ้างที่เป็นกรรมการและสมาชิกของสหภาพแรงงานฯ ด้วยเหตุผลอันไม่เป็นธรรมอีกต่อไป


4. ให้บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัทโฮยา กลาสดิสก์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดให้มีการเจรจาหาข้อยุติปัญหาการเลิกจ้างระหว่างผู้แทนของสหภาพแรงงานฯ และผู้แทนของบริษัทฯ เพื่อหาทางออกร่วมกันโดยเร็ว





ดังนั้น กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก จึงขอร้องเรียนมายังคณะรัฐบาล รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ให้ยุติการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติ การจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ....... เข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร รวมถึงให้แก้ไขปัญหาของขบวนการแรงงาน ให้ดำเนินการช่วยเหลือให้สมาชิกและแกนนำสหภาพแรงงานฯ ได้รับความเป็นธรรมและให้นายจ้างเคารพกฎหมายและยุติพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดกฎหมายเพื่อไม่ให้พนักงานและลูกจ้างซึ่งเป็น สมาชิกและแกนนำสหภาพแรงงาน ไทร์อั้มพ์ฯ - สมาชิกและแกนนำสหภาพแรงงานอิเล็คทรอนิคส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าสัมพันธ์ ให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเป็นธรรมและไม่เลือกปฏิบัติโดยการรับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานในทันที เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและเป็นการส่งเสริมการแรงงานสัมพันธ์อันดีในระบบทวิภาคีที่ยั่งยืนตลอดไป





กรรมกรจงรวมกันเข้า


กลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก


ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2008/08/17705