Google
 

วันจันทร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คนงานเจรจา รมว.แรงงาน ผลยังไม่คืบ เผยไทรอัมพ์ฯ อาจปลดคนงานเพิ่มอีก 2,500 คน

Mon, 2009-09-14 19:38

เทวฤทธิ์ มณีฉาย รายงาน


คนงานสหภาพฯไทรอัมพ์ สหภาพอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือ และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ เข้าเจรจา รมว.แรงงาน ไพฑูรย์ แก้วทองเผย อาจมีการปลดคนงานไทรอัมพ์ฯเพิ่มอีก 2,500 คน ด้านขบวนการแรงงานนัดร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “สิทธิศักดิ์ศรีชนชั้นกรรมาชีพ” พรุ่งนี้ 10 โมงเช้า ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

วันที่ 10 ก.ย.52 เวลาประมาณ 12.00น. ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กว่า 300 คน ได้ชุมนุมกันบริเวณชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน เพื่อรอฟังผลการเจรจากับ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน พร้อมกับนายจ้าง






การชุมนุมบริเวณชั้นล่าง อาคารกระทรวงแรงงาน

ทั้งนี้ในวันดังกล่าว มีตัวแทนสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือ ซึ่งเป็นคนงานบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ได้มาเจรจากับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานด้วยเช่นกัน โดยเวลา 14.40 น.ตัวแทนจากทั้ง 3 องค์กรได้ขึ้นไปพูดคุยกับรัฐมนตรีฯ โดยระหว่างรอตัวแทนขึ้นไปเจรจานั้นกลุ่มผู้ชุมนุมด้านล่างได้มีกิจกรรมระหว่างรอ เช่น การร้องเพลงแรงงาน การอภิปรายปัญหา เป็นต้น





กิจกรรมระหว่างรอตัวแทนเจรจา

จากนั้นเวลาประมาณ 16.30 น.ผู้สื่อข่าวจึงได้รับรายงานจากตัวแทนที่ขึ้นไปเจรจาว่า นายจ้างไทรอัมพ์ฯ เพิ่งเดินทางมา

หลังจากนั้นเวลา 18.00 น. ตัวแทนสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือและ คนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ได้ลงมาจากการเจรจา โดยตัวแทนคนงานเวิลด์เวลล์การ์เม้นท์เปิดเผยว่า อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานบอกว่าจะรีบดำเนินคดีอาญากับนายจ้าง จากการไม่จ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย พร้อมทั้งจะเร่งให้นายจ้างมาเจรจากับตัวแทนคนงาน ทั้งนี้ ตัวแทนคนงานเวิลด์เวลล์ยังได้เปิดเผยว่า ตำรวจข้างบนเยอะมากทั้งในและนอกเครื่องแบบ และมีการพูดกันว่าคนไหนจิตรา คนไหนบุญรอด ใส่เสื้อสีอะไร เป็นต้น ซึ่งอาจมีการจับกุมหรือส่งผลกดดันฝ่ายสหภาพแรงงานฯ ในการเจรจา
ส่วนตัวแทนสหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ในเครือซึ่งได้มีการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและตัวแทนจากบริษัท ซัมซุง ได้เปิดเผยว่า “ตัวแทนจาก (บริษัท) ซัมซุงมารับหลักการในเรื่องจะเปิดการผลิตใหม่เท่านั้น ส่วนรายละเอียดต้องคุยกันอีกที ในส่วนค่าชดเชยนั้นก็จะไล่บี้กับนายจ้างเอนี่ออนอีกครั้งหนึ่ง”

และเวลาประมาณ 18.30 น. ตัวแทนสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ได้ลงมาจากการเจรจาที่อยู่ชั้น 6 ของสำนักงาน พร้อมทำการชี้แจงกับผู้ชุมนุมที่รออยู่ด้านล่าง ถึงข้อเรียกร้องต่อรัฐมนตรี ซึ่งประกอบด้วย

1.ให้บริษัทฯ ยกเลิกประกาศการเลิกจ้างคนงานทั้งหมดและให้รับคนงานกลับเข้าทำงานตามปกติและให้ปฎิบัติตามกฏหมายพรบ.แรงงานสัมพันธ์ปี 2518
2.ให้บริษัทฯ เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการปรับโครงสร้าง รวมถึงการปรึกษาหารือกับสหภาพแรงงาน และมีส่วนร่วมกับการปรับโครงสร้างทั้งหมด
3.ให้บริษัทฯ และรัฐบาลจ่ายสวัสดิการและค่าจ้างให้กับคนงานที่ถูกเลิกจ้างจนกว่าข้อพิพาทกับบริษัทฯ จะยุติการแก้ปัญหาต้องได้รับการปรึกษาหารืออย่างเป็นทางการกับสหภาพแรงงานฯ
4.รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับคนงานที่ทำงานในโรงงานว่าบริษัทฯ จะไม่มีการเลิกจ้างอีกและไม่ใช้มาตรา 75 ตาม พรบ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กับคนงาน
5.รัฐบาลต้องหยุดนโยบายเสรีนิยมใหม่ เช่นนโยบายการจ้างงานเหมาค่าแรง การจ้างงานชั่วคราว การจ้างงานค่าจ้างราคาถูก การจ้างงานซับคอนแทค หยุดเขตการค้าเสรีที่มีกฎระเบียบห้ามตั้งสหภาพแรงงานและยกเลิกสิทธิการนัดหยุดงาน รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปรบริการสาธารณะของรัฐให้เป็นของเอกชน การนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นต้น
6.รัฐบาลต้องสนับสนุนให้มีสหภาพแรงงานในโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และโรงงานที่ได้รับมาตรฐานแรงงานไทยและต้องยุติการสนับสนุนเรื่องไม่เก็บภาษีต่อบริษัทฯและหันมายกเลิกภาษีมูลค่าเพิ่มกับประชาชน
7.รัฐบาลต้องหามาตรการช่วยเหลือคนงานที่เป็นหนี้นอกระบบและในระบบและคนงานถูกอายัดค่าจ้างค่าชดเชยค่าล่วงเวลาจากกองบังคับคดี
8.รัฐบาลต้องมีนโยบายช่วยเหลือคนงานที่ถูกเลิกจ้างที่ทำให้สามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
9.ขอให้ท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ดำเนินการช่วยเหลือให้มีการยกเลิกหมายจับ เพราะถือเป็นการชุมนุมโดยสันติปราศจากอาวุธซึ่งได้รับการรองรับตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาญาจักรไทยและการออกหมายจับผู้นำสหภาพ โดย พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ถือว่า เป็นการละเมิดสิทธิทางพลเมืองและทางการเมือง รวมถึงสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม
10.ขอให้ท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของคนงาน นำโดย พล.ต.ต วิชัย สังข์ประไพ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 โดยทางตำรวจได้เปิดเครื่องขยายเสียงที่มีเสียงดังมาก ได้รับผลกระทบต่อคนงานผู้หญิง คนงานพิการ และอายุมากที่ได้นั่งฟังปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาล ขณะที่ตัวแทนของสหภาพมาขอความช่วยเหลือจากนายกรัฐมนตรี โดยไม่ได้มีการแจ้งให้แก่ผู้ชุมนุมทราบล่วงหน้าถึงการดำเนินการและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อผู้ชุมนุม
11.ขอให้ท่านรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เข้ามาตรวจสอบกรณีเลิกจ้างเพื่อเป้าหมายการทำลายสหภาพแรงงาน ถือเป็นการเลิกจ้างละเมิดสิทธิมนุษยชน หาแหล่งค่าจ้างราคาถูกและขยายโรงงานใหม่โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ไม่ปฎิบัติตามกฎหมายพรบ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 18 (ข้อตกลงสภาพการจ้างระหว่างบริษัทบอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัดกับสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั้นแนลแห่งประเทศไทย)

ซึ่งทางรัฐมนตรีรับเจรจาเพียง 3 ประเด็น คือ
1.ให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลในเรื่องของการปรับโครงสร้างในครั้งนี้กับสหภาพแรงงานฯ เป็นลายลักษณ์อักษร
2.ถ้ามีคำสั่งซื้อกลับมาให้รับพวกเรากลับเข้าทำงานเป็นอันดับแรก
3.ถ้าเลิกจ้างต้องเปิดให้มีการสมัครใจ และจ่ายค่าชดเชยตามกฏหมายกำหนด คือ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ ปี 18 พร้อมกับตามข้อตกลงระหว่างสหภาพแรงงานฯ กับบริษัทที่เคยตกลงสภาพการจ้างไว้ ซึ่งปัจจุบันข้อเสนอของบริษัทนั้นไม่ได้จ่ายตามกฏหมายดังกล่าว

โดยในข้อ 1 ผู้ชี้แจงกล่าวว่าบริษัทเปิดเผยได้แต่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนข้อ 2 นั้นบริษัทตกลงจะรับเราเข้าเป็นอันดับแรก ส่วนข้อ 3 นั้นรัฐมนตรีรับจะไปคุยกับนายจ้างอีกที ส่วนเรื่องหมายจับนั้นรับปากว่าไม่มีแน่นอน ถึงข้างนอกก็ไม่มีการจับ ถ้ามีการจับกุมจะไปประกันตัวให้ ซึ่งผู้ชี้แจงก็ได้ขอแสดงความเชื่อมั่นในสัญญาของรัฐมนตรีไว้ต่อที่ชุมนุมด้วย

ในขณะที่ผู้บริหารคือ นาย เคนเนต หลุย มาร์แชล นั้น ผู้ชี้แจงได้แจ้งต่อผู้ชุมนุมว่า “เขาไม่ขอคุยผ่านโต๊ะเจรจาหรือต่อหน้าสื่อ แต่จะขอคุยเป็นการส่วนตัว แล้วให้เรา (สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ) เสนอสิ่งที่เราต้องการ ซึ่งเราไม่ต้องการถูกเลิกจ้าง บริษัทต้องการเลิกจ้างพวกเรา ก็ต้องเสนอมา อย่างฟิลิปปินส์ทางบริษัทก็เสนอให้ได้เลย (โดยจากการสอบถามเพิ่มเติม กรณีเลิกจ้างที่ฟิลิปปินส์นั้น ทางบริษัทเสนอให้นอกจากกฏหมายกำหนดแล้ว ยังได้บวกค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 35 วัน ต่ออายุงาน 1 ปี จักร 1 ตัว พร้อมเงินส่วนเพิ่มอื่นๆนอกจากกฏหมายกำหนด) ซึ่งทางสหภาพแรงงานก็ได้ย้ำว่าบริษัทไม่ได้ขาดทุน ต้องมีข้อเสนอที่ดีกว่านี้ให้กับเรา ท่านรัฐมนตรีก็รับปากว่าจะไปคุยกับนายจ้าง และจะติดต่อประสานงานมาถ้าจะมีการเจรจาอีก”

จากนั้นเกิดลมแรงและฝนตกหนักผู้ชุมนุม จึงได้ร่วมกันร้องเพลง ยิ้มกลางสายฝน ก่อนที่จะแยกย้ายกันช่วงที่ปริมาณฝนลดลงกลับมาที่ชุมนุมหน้าโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลีเมืองใหม่ ซอย 7

ข่าวสดรายงานสัมภาษณ์ รมต.แรงงาน ไทรอัมพ์อาจปลดพนักงานเพิ่มอีก 2,500 คน
นอกจากนี้หนังสือพิมพ์ข่าวสดฉบับ วันเสาร์ที่ 12 กันยายน พ.ศ.2552 ได้รายงานคำสัมภาษณ์ของ นางสาวบุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ และ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดังนี้

น.ส.บุญรอด กล่าวว่า ขอยืนยันว่าพนักงานกว่า 1,000 คน จะขอกลับเข้าไปทำงานที่บริษัทตามเดิม แต่หากบริษัทมีการย้ายฐานผลิตไปที่ จ.นครสวรรค์ ก็ควรให้แรงงานลาออกด้วยความสมัครใจ ส่วนคนที่ต้องการกลับเข้าไปทำงานก็ควรได้รับสิทธิตามเดิม ในวันนี้ (10 ก.ย.) นายไพฑูรย์จะนัดเจรจากับนายจ้าง ว่าจะดำเนินการตามข้อเสนอได้หรือไม่ ตลอดเวลาการต่อสู้มีแรงงานหลายคนเครียดจากการเลิกจ้าง ล่าสุดมีคนงานป่วยเป็นโรคมะเร็งหลอดลมในระยะสุดท้ายจนต้องเสียชีวิตลง

ด้านนายไพฑูรย์ กล่าวภายหลังจากเป็นประธานในการเจรจาระหว่างนายจ้างและลูกจ้างว่า ฝ่ายนายจ้างยินดีรับพนักงานทุกคนกลับเข้าทำงานในตำแหน่งเดิม โดยยืนยันว่าจะไม่จ้างพนักงานแบบซับคอนแทรกต์ (เหมาค่าแรง) หากมีคำสั่งซื้อเข้ามา แต่ในช่วงระยะ 3 เดือนข้างหน้า ตั้งแต่ ต.ค.- ธ.ค. ยังไม่มีคำสั่งซื้อ เมื่อไม่มีคำสั่งซื้อทำให้นายจ้างอาจต้องปลดพนักงานเพิ่มอีก 2,500 คน จากพนักงานทั้งหมด 5,000 คน แต่นายจ้างยืนยันกับตนและคนงานว่า อย่าได้กังวลใจ เพราะยินดีช่วยเหลือและพร้อมจะเจรจากับลูกจ้าง โดยไม่ได้คิดหลบหนี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสอบถามเพิ่มเติม มีคนงานที่ป่วยที่ถูกเลิกจ้างเพิ่งกินยาฆ่าตัวตายเนื่องจากไม่สามารถหางานใหม่ที่มั่นคง รวมถึงคนงานที่ตั้งครรภ์ซึ่งถูกเลิกจ้างได้ยุติการตั้งครรภ์เนื่องจากไม่สามารถรองรับค่าใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นได้


15 กันยายน 10 โมงเช้า ขบวนการแรงงานนัดร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “สิทธิศักดิ์ศรีชนชั้นกรรมาชีพ”
จากหนังสือเชิญชวนร่วมเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “สิทธิศักดิ์ศรีชนชั้นกรรมาชีพ” ของคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ระบุว่า เนื่องด้วยผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ ที่ส่งผลกระทบต่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการเลิกจ้าง การใช้มาตรา 75 ในการจ้างงาน การลดเวลาการทำงาน และการคุกคามสิทธิคนงานและสิทธิสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆ ตามสถานการณ์ที่เราทราบกันดีขณะนี้ ทั้งนี้นายจ้างบางสถานประกอบการก็ประสบกับปัญหาวิกฤตจริง แต่บางแห่งก็ใช้โอกาสวิกฤตเศรษฐกิจเป็นข้ออ้างในการเอาเปรียบคนงาน ใช้โอกาสในการลดต้นทุนการผลิต และที่สำคัญใช้โอกาสวิกฤตเศรษฐกิจนี้ในการทำลายและคุกคามสหภาพแรงงานและสิทธิของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ไม่ว่าจะเป็น กรณีของคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์, พี่น้องสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ , สหภาพแรงงานแคนนาดอล ฯลฯ

จากสภาพปัญหาดังกล่าวข้างต้น คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย มีความตระหนักถึงความสำคัญต่อปัญหา และมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ พยายามนำเสนอและผลักดันให้ภาครัฐแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาต่างๆ ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขไปในทิศทางที่ดีขึ้น ในทางกลับกันภาครัฐยังใช้วิธีการคุกคามคนงานและสหภาพแรงงานอย่างไม่เป็นธรรม ดังนั้นเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมให้แก่พี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ และพี่น้องคนงาน สหภาพแรงงานที่ถูกคุกคาม คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับเครือข่ายองค์กรแรงงานต่างๆ ได้กำหนดเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้อง “สิทธิศักดิ์ศรีชนชั้นกรรมาชีพ” ในวันอังคารที่ 15 กันยายน 2552 รวมตัวเวลา 10.00น. ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า


องค์กรแรงงานและประชาชนลงชื่อประณามการออกหมายจับแกนนำสหภาพแรงงานไทร์อัมพ์ฯ เพิ่ม
สืบเนื่องจากองค์กรและกลุ่มบุคคล ทั้งนักวิชาการ นักสิทธิมนุษยชน นักสหภาพแรงงาน นักศึกษา นักกิจกรรมและประชาชน กว่า 150 รายชื่อ ได้ออกแถลงการณ์ประณามการออกหมายจับแกนนำสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ และการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้มีตัวแทนคือ พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ เป็นผู้อ่านแถลงการณ์ไปเมื่อวัน 4 ก.ย.ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นั้น (ตามข่าว ร้องถอนหมายจับผู้นำสหภาพแรงงาน- กก.สิทธิ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร. ) ขณะนี้ได้มีองค์กรและบุคคลได้ลงชื่อเพิ่มเติมอีก ประกอบด้วย
สหพันธ์แรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ การตัดเย็บเสื้อผ้า และผลิตภัณฑ์ แห่งประเทศไทย
สหภาพแรงงานไทยอคริลิคไฟเบอร์
กลุ่มผู้ใช้แรงานสระบุรีและใกล้เคียง
สหภาพแรงงานสหกิจวิศาล
สหภาพแรงงานชินาโนเคนชิ ประเทศไทย
สหภาพแรงงานแฟชั่นเอ็กซ์เพรส
สหภาพแรงงานไทยเปอร์อ๊อกไซด์
สหภาพแรงงานอดิตยาเบอร์ล่าเคมีคัลส์ซัลไฟล์สดิวิชั่น ประเทศไทย
อาณัติ สุทธิเสมอ ประชาชน
ชาตรี สมนึก นักศึกษาปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ประกาศ เรืองดิษฐ์ ศูนย์เผยแพร่และส่งเสริมงานพัฒนา (ผสพ.)
สคฤทธิ์ จันทร์แก้ว นักกิจกรรมรณรงค์ทางสังคมด้านการเมืองสิทธิมนุษยชน และ ศิลปินอิสระ
วาสิฎฐี บุญรัศมี ประชาชน
ชัชชล อัจนากิตติ ประชาชน
ศิโรฒน์ รัตนาภรณ์ นักศึกษาและนักเขียนบทความพุทธศาสนามหายานแนวมนุษยนิยม
ศรวุฒิ ปิงคลาศัย นักศึกษาปริญญาตรี คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โสฬสสา มีสมปลื้ม นศ.ปริญญาโท สตรีศึกษา มธ.
Pairat Pannara
จาพิกรณ์ เผือกโสภา นิสิตปริญญาโท สาขารัฐประศาสนศาสตร์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ปรัชญา สุรกำจรโรจน์ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง
ปาลิดา ประการะโพธิ์ นักเรียน
กัปตัน จึงธีรพานิช นิสิตปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
มินตา ภณปฤณ ประชาชน

ที่มา http://www.prachatai.com/journal/2009/09/25811