วานนี้ (18 พ.ย.) เวลา 10.00น. จิตรา คชเดช ที่ปรึกษาสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย และบุญรอด สายวงศ์ เลขาธิการสหภาพฯ พร้อมสมพร มูสิกะ ทนายความจากสภาทนายความ ได้เข้าพบ พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ผบก.น.1 และ พ.ต.อ.วีรวิทย์ จันทร์จำเริญ รอง ผบก.น.1 ที่สถานีตำรวจนครบาลดุสิต หลังถูกศาลอาญาออกหมายจับ เลขที่ 2494/2552 และ 2495/2552 ลงวันที่ 27 ส.ค. 52 ในข้อหากระทำผิดด้วยการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไปก่อความวุ่นวายในบ้านเมืองฯ ตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 215 และ 216 และพระราชบัญญัติจราจรทางบก มาตรา 108 จากกรณีที่คนงานรวมตัวกันชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เมื่อวันที่ 27 ส.ค.ที่ผ่านมา
พ.ต.ท.ทินกร สมวันดี รอง ผกก.สส.สน.ดุสิต ได้ทำการสอบสวน เบื้องต้นแกนนำทั้งสองคนได้ให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา พร้อมขอประกันตัวโดยมีพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ และสุดา รังกุพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำหนังสือยืนยันจากจรัส สุวรรณมาลา คณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งรับรองว่า ทั้งสองคนมีตำแหน่งเป็นอาจารย์จริง เมื่อตำรวจพิจารณาหลักฐานแล้วอนุญาตให้ประกัน โดยตั้งวงเงินประกันไว้คนละ 100,000 บาท พร้อมนำสำนวนส่งอัยการเพื่อพิจารณาต่อไป
สำหรับการมอบตัวครั้งนี้ สุนทร บุญยอด เจ้าหน้าที่สภาศูนย์กลางแรงงาน ซึ่งถูกหมายจับในคดีเดียวกัน ไม่ได้เข้ามอบตัวด้วย โดยแกนนำระบุว่าไม่สามารถติดต่อได้
ทั้งนี้ บรรยากาศด้านหน้า สน.ดุสิต เป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีสมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ ประมาณ 100 คน เดินทางมาให้กำลังใจกับแกนนำที่เข้ามอบตัว ก่อนจะเดินทางกลับพร้อมกันในเวลา 12.00น.
ต่อการออกหมายจับคนงานที่ผ่านมา จิตรา กล่าวว่า ไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจชุมนุมในครั้งต่อๆ ไป เพราะเชื่อว่าไม่ได้ทำผิดอะไร และหากตำรวจจะจับก็คงให้จับ เพราะคนงานไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการเดินขบวนและเรียกร้อง ทั้งนี้ ย้ำว่าการชุมนุมเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ พวกเธอชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ หากรัฐบาลไม่อยากเห็นการชุมนุมก็ต้องแก้ไขปัญหาของแรงงาน
อนึ่ง การชุมนุมเมื่อวันที่ 27 ส.ค.นั้น เป็นการชุมนุมของคนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย, สหภาพแรงงานอิเล็กทรอนิกส์และแม็คคานิคส์ ในเครือบริษัทเอนี่ออน อิเล็กทรอนิกส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และคนงานบริษัท เวิลด์เวลล์การ์เม้นท์ พร้อมองค์กรแรงงานและประชาชน ไปยังทำเนียบรัฐบาลและรัฐสภา เพื่อติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหลังจากได้ยื่นเรื่องต่อนายกรัฐมนตรีก่อนหน้านั้น โดยในวันดังกล่าว มีการใช้เครื่องขยายเสียงระดับไกล หรือ LRAD กับผู้ชุมนุมด้วย ซึ่งหลังจากนั้น นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งได้ทำหนังสือประณามการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เรียกร้องให้ถอนการออกหมายจับโดยทันที รวมถึงเรียกร้องให้รัฐบาลและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ดำเนินการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนของเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย
ประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา 215 ผู้ใดมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ใช้กำลังประทุษร้าย ขู่เข็ญว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ บรรดาผู้ที่กระทำความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี หรือปรับไม่เกินสี่พันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัว หน้า หรือเป็นผู้มีหน้าที่สั่งการในการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 216 เมื่อเจ้าพนักงานสั่งผู้ที่มั่วสุมเพื่อกระทำความผิดตามมาตรา 215 ให้เลิกไป ผู้ใดไม่เลิก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522
มาตรา 108 ห้ามมิให้ผู้ใดเดินแถว เดินเป็นขบวนแห่หรือเดินเป็นขบวน ใด ๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร เว้นแต่
(1) เป็นแถวทหารหรือตำรวจ ที่มีผู้ควบคุมตามระเบียบแบบแผน
(2) แถวหรือขบวนแห่หรือขบวนใด ๆ ที่เจ้าพนักงานจราจรได้อนุญาต และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่เจ้าพนักงานจราจรกำหนด
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ตร.ออกหมายจับ 3 แกนนำคนงานไทรอัมพ์ฯ ฐานชุมนุมปิดถนนหน้าทำเนียบฯ ก่อความวุ่นวาย ทำปชช.เดือดร้อน
ร้องถอนหมายจับผู้นำสหภาพแรงงาน- กก.สิทธิ ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่ของ ตร.