Google
 

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

ข้างหลังป้าย จาก คอลัมน์ บทบรรณาธิการ ข่าวสด



ที่มา : วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 20 ฉบับที่ 7408 ข่าวสดรายวัน หน้า 2 และ http://www.khaosod.co.th/view_news.php?newsid=TURObFpHa3dNVEV5TURNMU5BPT0


ข้างหลังป้าย


คอลัมน์ บทบรรณาธิการ

ภาพการชูป้ายประท้วงนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่า"ดีแต่พูด" ของสตรีหลายรายในงานวันสตรีสากล ได้รับความสนใจจากสาธารณชนวงกว้าง

แต่แง่มุมซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ส่วนใหญ่จะเป็นด้านการเมือง โดยเฉพาะสถานภาพและคะแนนที่ตกต่ำลงของนายกรัฐมนตรี

มีบางสื่อและบางส่วนเท่านั้นที่ติดตามไปหาความจริงข้างหลังป้ายออกมาตีแผ่ ว่าเหตุใดป้ายประท้วงจึงระบุถ้อยคำว่าว่านายกรัฐมนตรีนั้น"ดีแต่พูด"

เมื่อรับทราบที่มาที่ไปก็จะเกิดความเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องมีการประท้วง และทำไมถ้อยคำของการประท้วงจึงออกมาเช่นนั้น

เข้าใจว่าการเคลื่อนไหวนี้มิใช่เรื่องการเมืองแต่อย่างใด

เพราะหนึ่งในผู้เคลื่อนไหวในวันดังกล่าวนั้น คือนางสาวจิตรา คชเดช อดีตประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ ที่ถูกบริษัทเลือกที่จะเลิกจ้างพร้อมเพื่อนร่วมงานจำนวนนับร้อย

เป็นแกนนำในการต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิที่พึงมีพึงได้ของคนงาน และเป็นตัวแทนในการร้องเรียนขอความช่วยเหลือต่อนายกรัฐมนตรี แต่กลับถูกจับกุมคุมขังในข้อหามั่วสุม

เป็นผู้เปิดเผยข้อมูลว่า หลังจากเลิกจ้างแล้ว จักรเย็บผ้าที่บริษัทไทรอัมพ์มอบให้ 400 เครื่อง ตกถึงมือคนงานเพียง 250 เครื่อง อีก 150 เครื่องไปอยู่กับมูลนิธิไพฑูรย์ แก้วทอง

และร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรีไปแล้วก็ยังไม่ได้รับการแก้ไข

ในสภาพที่"คับแค้นทางจิตใจ ยากไร้ทางวัตถุ" ทางเลือกที่เหลืออยู่ของนางสาวจิตราและเพื่อนร่วมชะตากรรมย่อมมีอยู่ไม่มากนัก

ยิ่งเมื่อประสบเข้ากับคำหาเสียงสวยหรูที่ว่า ค่าแรงขั้นต่ำจะปรับขึ้นมาเป็น 250 บาท จนกระทั่งล่าสุดจะปรับขึ้นมาเป็น 300 บาท แต่ไม่เคยมีผลอะไรในทางปฏิบัติจริง

การเลือกที่จะแสดงออกให้เห็นว่า มีความผิดพลาดบกพร่องเกิดขึ้นในระบบและการบริหารงานของรัฐบาล จึงออกมาในรูปของการประท้วง ออกมาในรูปของการฟ้องต่อสังคมให้รับรู้ข้อเท็จจริงชุดเดียวกัน

ใครยังคิดอยู่อีกว่า การออกมาประ ท้วงของแรงงานหญิงผู้ตกทุกข์ได้ยากเหล่านี้เป็นเพียงกลเกมทางการเมือง