Google
 

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2552

สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ยื่นหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างต่อบริษัท เชื่อ เป็นการทำลายสหภาพแรงงานและย้ายฐานการผลิตหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก

วันที่ 7 กรกฏาคม 2552 เวลาประมาณ 10.00 น. สมาชิกสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นพนักงานบริษัท บอดี้แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (ทำการผลิตและจำหน่ายชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำให้แก่บรรษัทข้ามชาติจากประเทศเยอรมนียี่ห้อไทรอัมพ์ (Triumph), วาเลนเซีย (Valinsere), สล็อกกี้ (Sloggi), อาโม (AMO) และออม (HOM) เป็นต้น) ประมาณ 500คน ได้เดินจากที่ชุมนุมไปที่หน้าบริษัทบอดี้ฯ เพื่อเรียกร้องให้บริษัทฯรับกลับเข้าทำงาน




ตัวแทนสหภาพฯยื่นหนังคัดค้านการเลิกจ้างให้ตัวแทนนายจ้าง

หลังจากนั้น นายคาร์บิส มาร์คัส และนายประยูร วงเล็ก ผู้จัดการผ่ายบุคคล มารับหนังสือคัดค้านการเลิกจ้างและให้รับกลับเข้าทำงานคนงานทั้งหมด โดยมีนางสาววันเพ็ญ วงษ์สมบัติประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯได้ยื่นหนังสือ พร้อมกันนั้นนางสาวธัญยธรณ์ คีรีถาวรณ์พัฒน์ รองประธานสหภาพรงงานฯได้อ่านหนังสือที่ยื่นต่อหน้าผู้แทนบริษัทฯ ขณะเดียวกันสมาชิกสหภาพแรงงานฯได้พร้อมใจกันร่วมตะโกนเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน


นางสาวธัญยธรณ์ คีรีถาวรณ์พัฒน์ รองประธานสหภาพรงงานฯอ่านหนังสือัดค้านการเลิกจ้างดังกล่าว

ทั้งนี้ หนังสือคัดค้านดังกล่าว ระบุว่า แม้บริษัทจะให้เหตุผลว่าเลิกจ้าง เพราะต้องการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายระยะยาว แต่คนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานฯ เป็นอนุกรรมการและกรรมการสหภาพแรงงานฯ ถึง 13 คนจากกรรมการสหภาพแรงงานทั้งหมด 19 คน ในขณะที่มีการขยายกำลังการผลิตที่โรงงานที่นครสวรรค์ ด้วยการซื้อที่ดินและสร้างโรงงานที่ได้มาตรฐานรองรับการผลิตได้เต็มที่ได้ถึง 2,000 คน ในปีที่ผ่านมา โดยในปัจจุปันก็มีคนงานถึง 1,000 กว่าคน แต่ไม่มีสหภาพแรงงาน


“สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ จึงขอคัดค้านการเลิกจ้างดังกล่าว เพราะเหตุผลในการเลิกจ้างในครั้งนี้ยังไม่สร้างความน่าเชื่อถือ และความไว้วางใจ พวกเราเชื่อว่าการเลิกจ้างครั้งนี้เป็นการทำลายสหภาพแรงงาน ย้ายฐานการผลิตหาแหล่งค่าจ้างราคาถูก เป็นการเลิกจ้างคนงานที่ทำงานให้บริษัทฯ มาอย่างยาวนานอายุมาก เพราะการปรับปรุงองค์กรให้มีประสิทธิภาพเพื่อสร้างประสิทธิผลตามที่บริษัทกล่าวอ้างนั้นมีวิธีการที่สร้างสรรค์หลากหลายวิธีมากกว่าการทำลายสหภาพแรงงานด้วยการเลิกจ้างคนงาน 1,959 คน ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้บริษัทก็ไม่ได้มีมาตราการอื่นที่จะสร้างประสิทธิภาพด้วยการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายอย่างชัดเจนเลย” หนังสือคัดค้านระบุ

ในระหว่าการยื่นหนังสือนั้นบริษัทฯไม่ยอมเปิดประตูให้เข้าไปยื่น สหภาพแรงงานฯจึงใช้วิธีส่งหนังสือสอดผ่านประตูโรงงาน ทั้งๆที่บริษัทเคยยืนยันในจดหมายแจ้งเลิกจ้างว่าพนักงานทั้งหมดยังคงเป็นพนักงานของบริษัทอยู่จนถึงวันที่ 26 สิงหาคม 2552 โดยเมื่อทางบริษัทรับหนังสือเสร็จแล้ว ซึ่งใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง คนงานที่ถูกเลิกจ้างได้เดินกลับที่ชุมนุมหน้าโรงงาน และได้มีคนงานที่บริษัทไม่เลิกจ้างเดินมาสมทบ



หนังสือคัดค้านที่พนักงานยื่นต่อตัวแทนบริษัท





หนังสือคัดค้านการเลิกจ้างฉบับภาษาไทย

Protest against the dismissal of TITLU union members and workers of Body Fashion Thailand







ส่วนหนึ่งของบรรยากาศในที่ชุมนุมวันนี้




พนักงานที่ถูกเลิกจ้างนำลูกมาเลี้ยงในที่ชุมนุมหลายท่าน




จากนั้นได้มีการสัมภาษณ์ความรู้สึกของคนงานที่ร่วมคัดค้านการเลิกจ้าง และเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน โดยไม่ขอเปิดเผยชื่อเนื่องจากกังวลหากไม่สามารถกลับเข้าทำงานได้ ทางบริษัทอาจอ้างเหตุทำให้บริษัทเสื่อมเสียชื่อเสียง เพื่อไม่จ่ายค่าชดเชย ดังที่ขู่ไว้ในประกาศของทางบริษัท โดยการสัมภาษณ์ พนักงานที่ถูกเลิกจ้างจำนวน 3 ท่าน ซึ่งแน่นอนก็ไม่สามารถเป็นตัวแทนของปัญหาที่คนเกือบ 1,959 คนประสบได้ แต่มีประเด็นที่น่าสันใจดังนี้

ท่านแรกเป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำอายุ 31 ปี ทำงานที่บอดี้แฟชั่น 11 ปี 4 เดือน ซึ่งตอนนี้ท้องได้ 3 เดือน มีลูกแล้ว 1 คน อายุ 8 ขวบ อยู่ต่างจังหวัดกับพ่อแม่ที่จังหวัดขอนแก่น

ถาม: วันนี้ สหภาพไปยื่นหนังสือให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน ทำไมถึงอยากกลับเข้าทำงาน
ตอบ: ท้อง อยากกลับไปทำงาน ตกงานไปสมัครงานที่ไหนไม่มีใครรับ และไม่มีเงินคลอดลูก
ถาม: คิดว่าจะทำอะไรหลังจากนี้
ตอบ: คงทำอะไรไม่ได้ ต้องรอคลอดก่อน
ถาม: คิดว่าบริษัททำถูกหรือไม่ เพราะเหตุใด
ตอบ: ไม่ถูก เพราะว่าบริษัทฯ น่าจะหาอาสาสมัครออกก่อน
ถาม: เชื่อไหมว่าบริษัทขาดทุน
ตอบ: ไม่เชื่อ
ถาม: คิดว่าเพราะสาเหตุอะใรบริษัทถึงทำอย่างนี้
ตอบ: ทำลายสหภาพ หาที่จ้างราคาถูก
ถาม: อยากบอกอะไรต่อบริษัท
ตอบ: บริษัทน่าจะทบทวนเรื่องการเลิกจ้างใหม่

ท่านถัดมาเป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำ อายุ 52 ปี อายุงาน 21 ปี 3 เดือน มีลูก 3 คน มีครอบครัวหมดแล้ว ปัจจุบันแยกทางกับสามีและอาศัยอยู่กับน้องสาว

ถาม: ทำไมถึงอยากกลับเข้าทำงาน
ตอบ: อยากมีรายได้ ถ้ามีงานทำ และคิดว่าคงหางานทำอีกไม่ได้
ถาม: เคยมาก่อนหรือไม่ว่าบริษัทจะเลิกจ้าง เพราะว่า
ตอบ: ไม่เคยคิด เพราะเป็นบริษัทใหญ่มีความมั่นคง อยากอยู่จนกว่าเกษียณ ยังคิดไม่ออก จะชุมนุมและเรียกร้องให้บริษัทรับกลับเข้าทำงาน
ถาม: คิดว่าบริษัทเลิกจ้างเพราะอะไร
ตอบ: เพราะต้องการล้มสหภาพ และเราเป็นสมาชิก อาจสร้างโรงงานใหม่ที่อื่นที่ไม่มีสหภาพและค่าจ้างถูก
ถาม: เมื่อเช้าที่สหภาพฯ ไปยื่นคัดค้านการเลิกจ้างได้ร่วมลงชื่อหรือไม่
ตอบ: ร่วมลงชื่อ
ถาม: คิดว่ามีผลมากน้อยแค่ไหน
ตอบ: คิดว่ามี ถ้าเรารวมตัวกัน
ถาม: ว่าบริษัททำถูกหรือไม่
ตอบ: ไม่ถูก เราไม่ได้เตรียมตัว
ถาม: ถ้าบอกบริษัท เราจะบอกบริษัทว่า
ตอบ: ขอให้รับเรากลับเข้าทำงาน เพราะเราอายุมากไม่อยากเป็นภาระของสังคม

ท่านสุดท้ายนี้ อายุ 37 ปี อายุงาน 19 ปี 1 เดือน เป็นพนักงานเย็บชุดว่ายน้ำ ครอบครัวอยู่บ้านเช่ากับแม่ ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกและน้องที่มีปัญหาทางสมอง

ถาม: มีภาระที่ต้องรับผิดชอบ
ตอบ: ต้องจ่ายค่าเช่าบ้านค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าบัตรเครดิต ค่ายาของแม่ เป็นยาบำรุงหัวใจ ทำให้กินข้าวได้นอนหลับ และค่ารถพาแม่กับน้องไปหาหมอ มีหนี้ ในและนอกระบบเกือบแสน
ถาม: สภาพบริษัทตอนเข้างานมาใหม่ๆ
ตอบ: มีคนงานประมาณ 80 คน เช่าตึกอยู่ที่อาคารสิวดล ได้ค่าจ้างวันละ 90 บาท เมื่อปี พศ. 2533
ถาม: ทำไมถึงเรียกร้องขอกลับเข้าทำงาน
ตอบ: เพราะอายุมาก ไม่รู้จะไปหางานทำที่ไหน
ถาม: วางแผนจะทำอะไรต่อไป
ตอบ: ยังไม่รู้ เพราะไม่คิดว่าบริษัทจะเลิกจ้าง และได้เงินมาใช้หนี้ก็หมดแล้ว
ถาม: ถ้าบอกบริษัทจะบอกว่า
ตอบ: อยากกลับเข้าทำงาน ไม่รู้จะไปไหนทำอะไร
ถาม: จะให้รัฐบาลรับผิดชอบอย่างไร
ตอบ: ให้รัฐบาลเข้ามาดูแลและให้บริษัทปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ด้วย ไม่ใช่ส่งคนมาเข้าข้างนายจ้างออกหน้าออกตา และยังทำเพิกเฉย