Google
 

วันเสาร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

คำเตือนถึงผู้บริหารไทรอัมพ์ฯ อย่าใช้สถาบันเบื้องสูงเป็นเครื่องมือทำลายองค์กรแรงงาน

เขียนโดย ศรศิลป์ เมื่อ 30 กรกฎาคม, 2008 - 13:25

ผ่านประสบการณ์ในการต่อสู้ที่เป็นจริงของตนเอง ที่ยาวนานเกินกึ่งศตวรรษ ผู้ใช้แรงงานไทยเรียนรู้มาเป็นลำดับว่า "ชีวิตที่ดีกว่า" ของพวกตนนั้น ไม่อาจได้มาด้วยการวอนขอความเมตตาจาก ทุน และ อำนาจรัฐของทุน

หากแต่ด้วยการสามัคคีกันอย่างแน่นแฟ้นและการเสียสละหยดเลือด-หยาดน้ำตาของคนงานรุ่นแล้วรุ่นเล่า "ชัยชนะที่กินได้" ของผองคนงาน อาทิ พรบ.แรงงานสัมพันธ์ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพของลูกจ้าง ระบบประกันสังคม ศาลแรงงาน และอื่นๆ ล้วนได้มาด้วยการต่อสู้ของบรรพชนแรงงานทั้งสิ้น โดยผ่านการต่อสู้อันคดเคี้ยววกวนและยากลำบากแสนสาหัส

แม้จนบัดนี้ ทุนก็ยังคงหยิบฉวยทุกโอกาสที่สถานการณ์ทั่วไปเปิดให้ พยายามทำลายการจัดตั้งของผู้ใช้แรงงาน และลบล้างดอกผลของการต่อสู้ในอดีต ตัวอย่างที่ชัดแจ้งเร็วๆนี้ก็คือ การฟ้องศาลแรงงานของผู้บริหาร บริษัท บอดี้ แฟชั่น (ประเทศไทย) จำกัด (ซึ่งผลิตชุดชั้นในและชุดว่ายน้ำตรา ไทรอัมพ์วาเลเซียสลอคกี้ AMO) เพื่อเลิกจ้าง นางสาวจิตรา คชเดช ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย

ด้วยข้ออ้างทำให้บริษัทเสียชื่อเสียง โดยการสวมเสื้อ "ไม่ยืนไม่ใช่อาชญากร คิดต่างไม่ใช่อาชญากรรม" ไปออกรายการ "กรองสถานการณ์" ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ในหัวข้อสนทนา "ทำท้อง...ทำแท้ง" เมื่อวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2551 และการฟ้องเลิกจ้างดังกล่าว ก็เกิดขึ้นหลังจากการยื่นข้อเรียกร้องปรับปรุงสภาพการทำงานของพนักงาน โดยสหภาพแรงงานได้รับชัยชนะ
นับว่าฝ่ายบริหารที่เป็นตัวแทนของทุน ซึ่งเป็นชาวต่างชาติ (นายเคนเนธ มาร์แชล-ผู้บริหารบริษัท) สามารถปรับตัวและเรียนรู้กลยุทธ์ทำลายล้างฝ่ายตรงข้าม ซึ่งกำลังได้รับความนิยมอย่างยิ่ง ในหมู่อภิชนชนชั้นปกครองไทย ที่กำลังชิงชาติกันอย่างเมามันในขณะนี้ได้เป็นอย่างดีและนำมาปรับใช้ในการทำลายผู้นำสหภาพแรงงาน

ผู้บริหารบริษัทถึงกับปรากฏตน ประดุจนักการเมืองและสื่อสกปรกที่รกสังคมอยู่ในเวลานี้ ทำการโหนกระแส "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" และบังอาจใช้สถาบันเบื้องสูงมาเป็นเครื่องมือในการทำลายแกนนำและองค์กรจัดตั้งของลูกจ้างของตนเอง ดูออกจะเป็น "นวัตกรรม" ที่มีลักษณะอุบาทว์ในการจัดการปัญหาความขัดแย้งด้านแรงงาน ไม่น้อยไปกว่าการใช้ข้อหา "คอมมิวนิสต์" เมื่อสามทศวรรษที่แล้วเลย

สมควรอย่างยิ่งที่ผู้บริหารบริษัทฯ พึงพิจารณาทบทวนและแก้ไขโดยทันที ก่อนที่สถานการณ์ความขัดแย้งด้านแรงงานในบริษัท จะลุกลามขยายวงไปยิ่งกว่านี้ และอาจดึงดูดพลังทางการเมืองฝ่ายต่างๆ ภายนอกบริษัทเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยอย่างอลหม่าน

ในยุคสมัยแห่งการปฏิรูปของระบอบทุนโลก ผู้บริหารบริษัทฯ พึงหันกลับไปทบทวนหลักนิยมที่ทุนอ้างอิงถึงเพื่อยืนยันความชอบธรรมในการครอบโลกของตน "ธรรมาภิบาลแห่งทุน" "ทุนถนอมรักษ์สภาพแวดล้อม" "ทุนสำนึกรักสังคม" และที่สำคัญ "การตอบแทนที่เป็นธรรมแก่ทุกหุ้นส่วนในห่วงโซ่การผลิต" และเร่งรีบชักเท้าถอยออกจาก หลุมดำ แห่งการใช้กลยุทธ์ทำลายล้างอันโสโครกประเภทนี้

มิเป็นการบังอาจไปหน่อยหรือ? ที่ท่านกล้าใช้ประเด็นละเอียดอ่อนของสังคมไทย ที่เกี่ยวพันถึงสถาบันเบื้องสูงนี้ มาใช้ขจัดผู้นำแรงงานของฝ่ายลูกจ้าง ซึ่งเป็นแค่ปัญหาภายในองค์กรธุรกิจของท่าน

และท่านเห็นว่าเป็นการสมควรแล้วหรือ? ที่องค์กรการผลิตอย่างบริษัทของท่าน จะตามกระแสนิยมของการทำลายล้างกันทางการเมืองแบบอนาธิปไตย ที่กำลังคุมคามสังคมไทย โดยการก้าวเข้าไปร่วมพัวพัน กับการกล่าวหาทางการเมืองที่เกี่ยวพันกับสถาบันเบื้องสูง อันละเอียดอ่อนเช่นนี้

อย่างไรก็ตาม ผู้ใช้แรงงานชาวไทรอัมพ์ฯ กำลังก่อการลุกขึ้นสู้ครั้งใหม่ เพื่อให้บทเรียนครั้งสำคัญอีกบทหนึ่ง แก่ทุนที่มีพฤติการณ์อันโอหังบังอาจเยี่ยงท่าน

ศรศิลป์ ก็ได้แต่หวังว่า คำเตือนจากคนเล็กๆ นี้ จะทำให้พวกท่านได้ฉุกคิดและหยุดยั้งพฤติกรรมบังอาจของท่านโดยทันที ก่อนที่เรื่องราวจะลุกลามไปจนท่านไม่อาจควบคุมได้อีกต่อไป


ทีมา http://www.arayachon.org/motherland/20080730/571