Google
 

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

100 วันสหภาพฯ ไทรอัมพ์เรียกร้องความเป็นธรรมที่กระทรวงแรงงาน


21 ม.ค. 53 - นับเป็นเวลา 100 วันแล้ว (ตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. 52) ที่คนงานจากสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย (ซึ่งก่อนหน้านั้นปักหลักชุมนุมอยู่หน้าโรงงาน ที่นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ) โดยในวันนั้นสหภาพฯ ไทรอัมพ์มีกำหนดการที่จะยื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหวังเข้าพบนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ซึ่งปรากฏว่าไม่อยู่ที่กระทรวง จึงยื่นหนังสือต่อนายอาทิตย์ อิสโม รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน และเริ่มปักหลักเรียกร้องความเป็นธรรมที่ใต้ถุนกระทรวงแรงงานตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา
โดยความคืบหน้าในการร้องเรียนต่อ OECD ว่า บ.ไทรอัมพ์ฯ ได้ละเมิดแนวปฏิบัติสำหรับบริษัทข้ามชาติขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา โดยได้ยื่นร้องเรียนพร้อมกับ สหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฟิลิปปินส์, โครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย, องค์กร defend jobs ที่ประเทศสวิสเซอร์แลนด์เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 52 ที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันกำลังเป็นขั้นตอนการสอบสวนของทาง OECD ต่อข้อร้องเรียนของคนงานไทรอัมพ์อยู่


และจากการสอบถามแรงงานที่ทำการชุมนุม พบว่าปัจจุบันการเจรจากับกระทรวงฯ หรือกับบริษัทฯ ยังไม่มีความคืบหน้า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยังไม่มีแนวปฏิบัติและรูปธรรมที่ชัดเจนในการแก้ปัญหาที่แรงงานเรียกร้อง รวมถึงมีท่าทีที่คุกคามและไม่เป็นมิตรจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงแรงงาน ทำให้แรงงานที่ชุมนุมมีความกดดันและต้องตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาเพราะมีการปล่อยข่าวลือว่าจะมีการขออำนาจศาลบังคับให้คนงานออกจากพื้นที่กระทรวงฯ อีกครั้ง
โดยล่าสุดในวันนี้ (21 ม.ค. 53) คนงานไทรอัมพ์ที่ทำการชุมนุมในกระทรวงแรงงาน ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ให้ทำตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่และทัศนคติที่มีต่อคนงาน-สหภาพแรงงานของนางอัมพร นิติสิริ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
นอกจากนี้ยังพบว่าความเป็นอยู่ของแรงงานและครอบครัวประสบกับความยากลำบากแย่ลงไปเรื่อยๆ โดยหากยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเร่งด่วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดหาจักรเย็บผ้าเพื่อประกอบอาชีพรวมถึงเรื่องค่าชดเชยที่เป็นธรรมกว่าที่ได้รับ คาดว่าแรงงานจะได้รับผลกระทบหนักไปกว่าสภาพที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เสียงแรงงาน “กระทรวงของพวกเรา ช่วยอะไรพวกเราไม่ได้เลย”
ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานหญิง 2 พี่น้องจาก จ.อำนาจเจริญ และแรงงานหญิงจาก จ.เชียงราย ซึ่งทั้งสามคนนี้มีอายุการทำงานกับ บ.ไทรอัมพ์มากกว่า 10 ปี โดยแรงงาน 2 พี่น้องจาก จ.อำนาจเจริญ ปัจจุบันนี้กำลังประสบปัญหาครอบครัว เนื่องจากพ่อของพวกเธอเป็นโรคไต จะต้องทำการผ่าตัด โดยก่อนหน้านั้นยังสามารถทำการฟอกไตได้ เพราะพวกเธอมีงานและมีเงินค่าใช้จ่ายในกระบวนการดังกล่าว แต่ปัจจุบันการกลายเป็นคนตกงานของพวกเธอได้กระทบต่อครอบครัวโดยตรง
โดยพ่อของพวกเธอจะต้องทำการผ่าตัดเพราะไม่มีรายได้ประจำในการนำพ่อไปฟอกไต และทางบ้านยังต้องมีปัญหาด้านหนี้สินเพราะพวกเธอไม่สามารถส่งเงินไปให้พ่อรักษาตัวได้หลายเดือน
ทั้งนี้เมื่อก่อนนั้นพวกเธอเป็นกำลังหลักของครอบครัว เพราะแม้แต่สามียังไม่ต้องทำงาน แต่ปัจจุบันสามีต้องออกหางานเพื่อจุนเจือครอบครัวแทนที่พวกเธอ ส่วนเรื่องการจะไปหางานที่ไหนทำดูเหมือนจะหมดหวังไปแล้ว เพราะอายุอานามของพวกเธอก็เกินหลักสามสิบ ส่วนการกลับไปที่บ้านนอกก็ดูเหมือนว่าจะไม่มีอะไรให้ทำแล้ว
“เมื่อก่อนคนงานส่วนใหญ่ที่เป็นผู้หญิงของไทรอัมพ์เป็นกำลังหลักของครอบครัว.. คนงานที่ถูกเลิกจ้างส่วนใหญ่จะมีอายุ 30 ขึ้นไป อายุก็มากไปสมัครงานที่ไหนเขาก็ไม่รับแล้ว”
“เราก็มีฝีมือในเรื่องการเย็บ ไม่ต้องหาอาชีพอะไรมาอบรมอย่างต้นกล้าอาชีพก็ไม่เป็นผล ทำไมไม่สนับสนุนเรื่องอุปกรณ์ ทุนและการหาตลาดให้ ในการตัดเย็บเสื้อผ้าที่เรามีฝีมือด้านนี้อยู่” หนึ่งในสองพี่น้องกล่าว
แรงงานหญิงจาก จ.เชียงราย กล่าวว่า การที่บริษัทฯ ไม่แจ้งล่วงหน้าและไม่มีโครงการสมัครใจในการเลิกจ้างในระยะเวลาที่เหมาะสมนั้นทำให้แรงงานเดือดร้อนมาก หลายคนไปซื้อบ้านได้ไม่กี่เดือนกลับถูกเลิกจ้างทำให้ไม่สามารถส่งค่าผ่อนบ้านได้ รวมถึงผลกระทบต่อครอบครัว มีแรงงานบางคนนั้นยังปิดเรื่องที่ตนเองถูกบริษัทฯ เลิกจ้าง ไม่กล้าให้ครอบครัวได้รับทราบเพราะกลัวครอบครัวตกใจ รวมถึงปัญหาสุขภาพที่หลายคนมีปัญหาเกี่ยวกับโรคไต ซึ่งมีผลกระทบมาจากการทำงานโดยตรง
“แรงงานหลายคนสุขภาพไม่ดี โดยเฉพาะปัญหาที่กรวยไต เนื่องจากตอนที่ทำงานต้องนั่งกลั้นขี้กลั่นเยี่ยว เร่งทำงานให้บริษัท เพราะเรากลัวบริษัทฯ ส่งของไม่ทัน แต่มาวันนี้เรารู้สึกเสียใจกลับสิ่งที่โดนกระทำ” เธอกล่าว
และการมาเรียกร้องของพวกเธอก็พบกับอุปสรรคตั้งแต่วันแรกที่ต้องลอดรั้วเข้ามาหลบฝน มีการข่มขู่ว่าจะมีการขออำนาจศาลให้คนงานออกจากพื้นที่ชุมนุม รวมถึงทัศนะคติที่ไม่ดีจากเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้บางทีรู้สึกมีความน้อยเนื้อต่ำใจ แต่นี่เป็นเพียงวิธีการเดียวเท่านั้นที่เหลืออยู่ที่จะทำให้มีการเปิดเจรจาระหว่างคนงานกับบริษัทฯ
“ขนาดว่าเรามาอยู่ใต้ถุนกระทรวงนี้แล้ว ยังไม่เห็นมีความคืบหน้าชัดเจนอะไร”
“ความจริงถ้าแก้ไขปัญหาให้เราได้ พวกเราไม่มาอยู่ที่นี่หรอก เราอยากอยู่กับครอบครัว แต่เมื่อแก้ไม่ได้ที่นี่ก็เป็นที่สุดท้ายของเรา เพราะเป็นกระทรวงของแรงงาน กระทรวงที่มาจากภาษีของเรา ..นี่มายังโดนไล่อีก แต่เราจำใจต้องอยู่เพราะไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว”  เธอกล่าวขณะนั่งเย็บผ้าห่มไว้ใช้เอง, แสงไฟสลัวๆ, ยุง และบรรยากาศในคืนหม่นๆ ใต้ถุนกระทรวงแรงงาน หนึ่งคืนก่อนครบรอบ 100 วัน ที่พวกเธอมาเรียกร้องสิทธิความเป็นธรรมที่พวกเธอพึงได้รับ