Google
 

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

สมัชชาสหภาพแรงงานเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

18 ตุลาคม 2553 สมัชชาสหภาพแรงงานเข้ายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อให้เร่งการแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมของผู้ใช้แรงงาน เช่น เพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 250 บาท ตามคำกล่าวยืนยันของนายกรัฐมนตรีทันทีภายในเดือนตุลาคมนี้ รวมถึงเพิ่มสิทธิประโยชน์การประกันสังคมในด้านเงินสงเคราะห์บุตร และแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรง เป็นต้น (ซึ่งรายละเอียด อ่านตามจดหมายด้านล่าง) โดยมีนายพงษ์ศักดิ์ เปล่งแสง ที่ปรึกษา รมต.แรงงาน เข้ารับหนังสือแทนพร้อมปรึกษาหารือ



-----------------------------

ที่พิเศษ / 2553
18 ตุลาคม 2553

เรื่อง การแก้ไขปัญหาความยากจนและความไม่เป็นธรรมของผู้ใช้แรงงาน

เรียน ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน 

ผู้ใช้แรงงาน เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทย และผู้สร้างรายได้ในระบบเศรษฐกิจมาโดยตลอด แต่ทว่าในช่วงห้าปีที่ผ่านมานั้น สินค้าขึ้นราคาที่สูงขึ้น ทำให้การครองชีพของประชาชนสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่การปรับเพิ่มค่าจ้างของผู้ใช้แรงงานเป็นไปอย่างเชื่องช้า ทำให้มีชีวิตที่ปากกัด ตีนถีบ มีหนี้สินล้นพ้นตัว ทำให้คุณภาพชีวิตตกต่ำ ทุกข์ยากแสนสาหัส ดังนั้นตามที่นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้ยืนยันเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 ดังปรากฏเป็นรายงานหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ทุกแห่งตรงกันว่าจะปรับค่าแรงขั้นต่ำแน่นอน และการปรับครั้งนี้จะไม่ต่ำกว่า 250 บาทต่อวัน เป็นการปรับทั้งระบบเท่ากันทั่วประเทศ นับได้ว่าเป็นความตั้งใจในการเพิ่มรายได้ให้กับผู้ใช้แรงงานให้มีชีวิตสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงในสังคม ในนามของสมัชชาสหภาพแรงงานจึงขอเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้

1. ขอให้รัฐบาลเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 250 บาท เป็นไปตามคำกล่าวยืนยันของนายกรัฐมนตรี เป็นการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมและ ช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้น ทั้งนี้ขอให้ดำเนินการโดยทันทีภายในเดือนตุลาคมนี้ รวมทั้งขอให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานกำหนดหลักเกณฑ์ให้ค่าจ้างขั้นต่ำหมายถึง ค่าจ้างที่คำนวณจากค่าใช้จ่ายที่จำเป็นสำหรับคนงานหนึ่งคนและสมาชิกในครอบครัวอีกสองคน 
2. ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์การประกันสังคมในด้านเงินสงเคราะห์บุตรจากเดิมเดือนละ 350 บาท เป็นเดือนละ 600 บาท และให้ขยายเวลาบุตรผู้ประกันตนให้ได้รับเงินสงเคราะห์บุตรจาก 6 ปี เป็น 12 ปี ให้มีการคลอดบุตรฟรีและให้มีเงินช่วยเหลือการครองชีพการตั้งครรภ์และการคลอดบุตรเหมาจ่ายเป็นจำนวนเงิน 12,000 บาท เพื่อเป็นหลักประกันการคลอดบุตร เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา
3. ให้มีการแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ยกเลิกการจ้างงานเหมาค่าแรง เนื่องจากเป็นการจ้างงานที่ก่อให้เกิดปัญหาสองมาตรฐานในสถานประกอบการ มีการเลือกปฏิบัติและทำให้ผู้ใช้แรงงานกลายเป็นทาสทาส-ไพร่ ไร้สิทธิเสรีภาพ เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง

จึงเรียนมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้รัฐบาลได้ดำเนินการเป็นไปตามนโยบายที่ได้หาเสียงและได้แถลงต่อรัฐสภาโดยเร็ว ทั้งนี้ขอให้ท่านได้นัดหมายการเจรจา พูดคุยกับสมัชชาสหภาพแรงงานในวันที่ 29 ตุลาคม 2553 

ขอแดสงความนับถืออย่างสูง

……………………………………..… ……………………………………..…
นายจีรวัฒน์ โพนเวียง 
ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานเคมีภัณฑ์ 

นางจิตตินันท์ สุขโน
ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ 

นายฉัตรชัย ไพยเสน 
เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส 

นางสาวจิตรา คชเดช
กลุ่มคนงาน Try Arm

นางสาวพนม บาลี 
กลุ่มคนงานสตรีสู่เสรีภาพ 

นางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก 
กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไต