Google
 

วันเสาร์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

อดีตคนงานไทรอัมพ์ฯบุก ก.แรงงานทวงคืนจักร พร้อมสมัชชาสหภาพแรงงานขอปรับเพิ่มสิทธิประกันสังคม

Wed, 2010-08-18 22:46

Clip รายงานจาก DNN THAILAND
วานนี้ (17 ส.ค.53) เวลา 10.00 น. กลุ่มอดีตคนงานบริษัทบอดี้ แฟชั่น ประเทศไทย จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทเครือผู้ผลิตชุดชั้นในไทรอัมพ์ฯ) นำโดยคณะกรรมการติดตามการยื่นร้องเรียนความเป็นธรรมต่อกระทรวงเศรษฐกิจของสวิสเซอร์แลนด์(หรือคณะกรรมการติดตาม NCP) และกลุ่ม Try Arm ประมาณ 200 คน ได้เข้ายื่นหนังสือติดตามความคืบหน้ากรณีจักรที่ทางกระทรวงได้รับบริจาคมากรณีคนไทรอัมพ์ฯอีก 150 ตัว ที่ยังไม่ได้รับมอบ ต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน  โดยมีนายชีวเวช เวชชาชีวะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เข้ารับหนังสือแทน


พร้อมกันนั้นในเวลาเดียวกันที่กระทรวงแรงงาน สมัชชาสหภาพแรงงานซึ่งประกอบด้วยสหภาพแรงงานแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย กลุ่มคนงาน Try Arm สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส กลุ่มสตรีสู้แสรีภาพและกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ได้เข้ายื่นหนังสือขอเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน โดยมีนายชีวเวช เวชชาชีวะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเข้ารับหนังสือแทนเช่นกัน โดยประเด็นที่ขอเพิ่มสิทธิประโยชน์ดังกล่าวประกอบด้วย 

            1.ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนกรณีสงเคราะห์บุตรจากเดือนละ 350 บาทเป็น 600 บาท และขยายอายุบุตรจาก 6 ปีเป็น 12 ปี

            2.ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์การคลอดบุตร โดยให้คลอดบุตรฟรี ครอบคลุมตั้งแต่การฝากครรภ์ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝากครรภ์ การคลอดบุตร และการอภิบาลบุตร และให้ได้รับเงินช่วยเหลือการครองชีพระหว่างการตั้งครรภ์อีกคนละ 12,000 บาท
ซี่งสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนดังกล่าวไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 5ปีที่ผ่านมา ในขณะที่นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เคยแถลงนโยบายเร่งด่วนในข้อที่ 3.2.2 ว่าด้วยเรื่องการปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง จะขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วยรวม ทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน
ภาพจิตรา คชเดชกำลังชี้แจงผู้ชุมนุมบริเวณใต้ถุนกรมสวัสดิการและคุมครองแรงงาน (กระทรวงแรงงาน)
โดยหลังจากเข้ายื่นหนังสือและการประชุมร่วมกับที่ปรึกษา รมต.แรงงานแล้ว ทางตัวแทนของทั้ง 2 คณะ คือ นางสาวจิตรา คชเดช ได้ชี้แจงต่อผู้ชุมนุมบริเวณได้ถุนกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่า “หลังจากที่ได้พบที่ปรึกษารัฐมนตรี นายชีวเวช เวชชาชีวะ เรื่องแรกที่เราขอไปคือเรื่องจักร 150 ตัว เขาขอเวลาถึงสิ้นเดือนนี้ จะให้คำตอบว่าจักรอยู่ที่ไหน เอาไปทำอะไร แล้วพวกเราจะได้หรือไม่ ภายในสิ้นเดือนนี้จะมีคำตอบให้กับพวกเรา เรื่องที่ 2 เรื่องประกันสังคมที่มีกลุ่มสมัชชาสหภาพแรงงานไปยื่นนั้น ท่านก็รับปากว่ากำลังจะมีการพูดคุยกันและเข้ามารับผิดชอบเรื่องนี้อย่างเต็มที่ คือกรณีขยายสงเคราะห์บุตรจากเดือนละ 350 บาทเป็น 600 บาท และเรื่องค่าคลอดบุตร 12,000 บาท จะเอาไปพิจารณาแล้วก็จะแจ้งความคืบหน้าให้กับพวกเราทราบต่อไป”
นอกจากนี้ จิตรายังได้ชี้แจงเรื่อง NCP ที่มีความคืบหน้าหลังจากการเจรจาผ่านเอกสารมาหลายรอบจนที่สุดแล้วบริษัทไทรอัมพ์ฯได้ทำหนังสือถึงคณะกรรมการ NCP (ที่กระทรวงเศรษฐกิจสวิสเซอร์แลนด์) ซึ่งจิตรา ได้อ่านจดหมายดังกล่าวให้ผู้ชุมนุมฟังว่า “เหมือนจะเป็นที่ตกลงแล้วว่าเป็นไปไม่ได้ที่จะมีการเปิดโรงงาน นั่นหมายความว่าที่ฟิลิปปินส์จะไม่มีการเปิดโรงงานใหม่อีก แล้วในไทยก็จะไม่มีการพูดเรื่องการขอรับกลับเข้าทำงานอีก และยืนยันเงื่อนไขเดิมในเรื่องการบริหารการปรับโครงสร้างบริษัททั้งไทยและฟิลิปปินส์อยู่ภายใต้กฎหมายของทั้ง 2 ประเทศจริง ซึ่งได้รับการรับรองจากกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศแล้ว และตามคำสั่งศาลในประเทศไทยด้วย และเป็นที่ชัดเจนว่า บ.ไทรอัมพ์ฯ ได้ดำเนินการมากกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ กรอบของ OECD (องค์กรความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการพัฒนา) ไม่ได้ครอบคลุมเรื่องค่าตอบแทน ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลที่จะคุยในประเด็นนี้   รวมถึง บ.ไทรอัมพ์ฯไม่ได้ต่อต้านการรวมตัวของคนงาน มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนงานและสหภาพ   รวมถึงจากจดหมาย บ.ไทรอัมพ์ฯระบุอีกว่า บริษัทให้การเจรจาครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายและปิดประเด็นอย่างสมบูรณ์เรากำลังรอเข้ารวมการเคลื่อนไหวในครั้งต่อไปและขอบคุณในความพยายามไกล่เกลี่ย
“แต่ในความเป็นจริงสหภาพแรงงานก็ยืนยันว่ายังไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกับบริษัท และจากจดหมายฉบับนี้ของทางบริษัทหมายความว่า จะมีการเจรจากับบริษัทที่สวิสเซอร์แลนด์ แต่ห้ามไม่ให้รับการสนับสนุนจากองค์กรอื่นๆ การเจรจาจะต้องเป็นไปอย่างมืออาชีพ และในระหว่างการเจรจาห้ามรณรงค์สาธารณะใดๆหรือโจมตีบริษัทอีก ซึ่งตอนนี้เรากำลังมานั่งคุยกันอีกว่าจะทำหนังสือถึงบริษัทว่าเราจะไม่มีการรณรงค์ในที่สาธารณะอีกถ้าการเจรจาคืบหน้า การเจรจาของเราเน้นให้บริษัทปฏิบัติตามข้อตกลงสภาพการจ้างที่ทำไว้กับสหภาพแรงงานและสิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือบริษัทต้องยอมรับสหภาพแรงงาน ข้อนี้ที่เราจะคุยกับบริษัท   ส่วนความคืบหน้าจะเป็นอย่างไรเราจะส่งข้อความแจ้งให้ทุกท่านทราบเพื่อนัดวันให้มาเจอกันแบบวันนี้อีกที” จิตรากล่าวสรุปหลังอ่านจดหมายฉบับดังกล่าว
ที่สำนักงานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์อินเตอร์เนชั่นแนลแห่งประเทศไทย
7/76 หมู่ 7 หมู่บ้านร่มโพธิ์ 2 ถ.เทพารักษ์ อ.เมือง
จ.สมุทรปราการ โทร 087-0206672
17 สิงหาคม 2553
เรื่อง       ติดตามทวงถามตามหนังสือเลขรับที่ 518 สำนักงานรัฐมนตรี
เรียน       รัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน
สิ่งที่ส่งมาด้วย
 - สำเนาหนังสือถึงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ลงวันที่ 14 มิถุนายน 2553
ด้วย พวกเราคืออดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย) จำกัด ได้ทำบันทึกข้อตกลงความช่วยเหลือกับกระทรวงแรงงานไปแล้วนั้นเมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2553 โดยกระทรวงมอบจักรให้กับพวกเรา 250 ตัว เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2553
ต่อมาพวกเราทราบภายหลังว่าผู้บริจาค คือบริษัทบอดี้ แฟชั่น(ประเทศไทย)จำกัด เป็นผู้บริจาคให้จักรเย็บผ้าให้กับกระทรวงแรงงาน 400 ตัว ซึ่งหลังการมอบจักรให้กับพวกเรา กระทรวงได้นำจักร 150 ตัว มาเก็บไว้ที่กรมพัฒนาฝีมือแรงงานภาค 1
พวกเราได้ติดตามสอบถามขอจักร เพิ่มจากที่ปรึกษารัฐมนตรี นายพงศักดิ์ เปล่งแสง มาโดยตลอด ซึ่งนายพงศักดิ์แจ้งว่าเรื่องดังกล่าวต้องให้รัฐมนตรีตัดสินใจ และให้รอสถานการณ์ทางการเมืองสงบ
ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2553 พวกเราได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน เพื่อให้ดำเนินในเรื่องดังกล่าว เพราะยังมีคนงานที่เดือดร้อนยังไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ตกงานจำนวนมากและขณะนี้ยังมามีความคืบหน้าใดๆ
ในฐานะที่ท่านเป็น รัฐมนตรีกระทรวงแรงงานที่เข้ามารับงานต่อจึงขอให้ท่านดำเนินการช่วยเหลือพวก เราสนับสนุนให้คนงานสามารถประกอบอาชีพอยู่ได้อย่างมั่นคงจึงจะได้เป็นตามเจต จำนงของผู้บริจาค
            ฉะนั้นพวกเราอดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย) จำกัด หวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะดำเนินการเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งด่วน เพื่อที่คนงานจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป
จึงขอขอบคุณมา ณ. โอกาสนี้
ขอแสดงความนับถือ
...................................................                              .........................................................                     (นางสาวบุญรอด สายวงค์)                                                ( นางสาวจิตรา คชเดช)
.....................................................                        ...........................................................
(นางวิภา มัจฉาชาติ)                                                ( นางจิตตินันท์ สุขโน)
ตัวแทนอดีตคนงานบริษัท บอดี้แฟชั่น(ประเทศไทย) จำกัด ที่ถูกเลิกจ้าง
หนังสือขอเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคมของสมัชชาสหภาพแรงงานที่ยื่นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
สมัชชาสหภาพแรงงาน
วันที่ 17 สิงหาคม 2553
เรื่อง การเพิ่มสิทธิประโยชน์ประกันสังคม
เรียน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน
                 ตามที่นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แถลงนโยบายเร่งด่วนในข้อที่ 3.2.2 ปฏิรูประบบประกันสังคมให้มีความเข้มแข็งมั่นคง จะขยายความคุ้มครองถึงบุตรและคู่สมรสของผู้ประกันตนในเรื่องการเจ็บป่วยรวม ทั้งเพิ่มสิทธิประโยชน์อื่นๆเพิ่มเติมให้แก่ผู้ประกันตน
                  บัดนี้กองทุนประกันสังคมมีจำนวนถึง 707,730 ล้านบาทมีการนำเงินจากกองทุนไปลงทุนถึง 140,000 ล้านบาทแล้ว มีผลตอบแทนการลงทุนในปี 2553 จำนวน 15,223 ล้านบาท นับได้ว่ามีความเข้มแข็งมั่นคงและมีจำนวนมากมายจนสามารถนำเงินไปลงทุนแสวงหา กำไรได้มาก
                 แต่สิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนไม่มีการปรับเพิ่มขึ้นเลยในช่วง 5ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สิทธิประโยชน์การคลอดบุตร และเงินสงเคราะห์บุตร ทำให้ผู้ใช้แรงงานสตรีทุกข์ยากเดือดร้อนแสนสาหัส การดำเนินงานของกองทุนประกันสังคมภายใต้การกำกับดูแลของพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้เป็นไปตามที่นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้แถลงต่อรัฐสภา พวกข้าพเจ้าในนามของสมัชชาสหภาพแรงงาน ซึ่งเข้าร่วมในกระบวนการปฏิรูปประเทศไทยจึงขอเรียกร้องดังต่อไปนี้
             1.ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์ผู้ประกันตนกรณีสงเคราะห์บุตรจากเดือนละ 350 บาทเป็น 600 บาท และขยายอายุบุตรจาก 6 ปีเป็น 12 ปี
             2.ให้เพิ่มสิทธิประโยชน์การคลอดบุตร โดยให้คลอดบุตรฟรี ครอบคลุมตั้งแต่การฝากครรภ์ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝากครรภ์ การคลอดบุตร และการอภิบาลบุตร และให้ได้รับเงินช่วยเหลือการครองชีพระหว่างการตั้งครรภ์อีกคนละ 12,000 บาท
              จึงเรียนมาเพื่อโปรดดำเนินการ.โดยเร่งด่วนให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล พร้อมกันนี้ขอให้นัดหมายรัฐมนตรีพบปะกับผู้แทนของกลุ่มเพื่อร่วมกันดำเนิน การเป็นไปตามข้อเรียกร้องดังกล่าว
ขอแสดงความนับถืออย่างสูง
    (นางจิตตินันท์ สุขโน)                                                     (นางสาวจิตรา คชเดช)
ประธานสหภาพแรงงานไทรอัมพ์ฯ                                         กลุ่มคนงาน Try Arm
(นาย ฉัตรชัย ไชยเสน)                                                      (นางสาวเยาวภา ดอนเส)
เลขาธิการสหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียลแก๊ส                       กลุ่มคนงานสตรีสู้เสรีภาพ
 (นางสาวสุวรรณา ตาลเหล็ก) 
 กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย